“สตาร์ท อัพ” สไตล์ ธนินท์ เจียรวนนท์

Dhanin Chearavanont, chairman and CEO of Thailand's Charoen Pokphand Group, answers questions at the 16th Nikkei Global Management Forum in Tokyo on November 12, 2014. Dhanin Chearavanont spoke at Japanese businessmen during a two-day business forum. AFP PHOTO/Toru YAMANAKA / AFP PHOTO / TORU YAMANAKA

ไม่มีใครจะประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และยั่งยืน แต่เพียงลำพังคนเดียว  มหาเศรษฐีและผู้นำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหลาย ๆ ท่าน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่รู้จักแสวงหาโอกาส และสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถ เพื่อมาเสริมสร้างไอเดียใหม่ๆ เพื่อรังสรรค์ธุรกิจและกิจการให้แตกตัวและขยายออกไปอย่างกว้างขวาง

สหพัฒน์ โตแล้วแตกและแตกแล้วโต (เขียนโดยคุณ สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล) เป็นตัวอย่างของหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนถึง case study ของนายห้างเทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งกลุ่มสหพัฒน์ โดยใช้กลยุทธในการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารในแต่ละองค์กรมีอิสระในการทำงานและขยายอาณาจักรไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งทำให้กรุ๊ปในภาพรวมสามารถเจริญเติบใหญ่จนเป็นองค์กรชั้นนำระดับประเทศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

อีกตัวอย่างหนึ่งของผู้ประสบความสำเร็จจากกลยุทธการบริหารงานในรูปแบบนี้คือ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ซึ่งได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน จากการที่ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ ที่ให้รับผิดชอบบริหารองค์กรตั้งแต่อายุน้อย  จนเป็นแรงดลใจให้เขากลายเป็นคนที่ชอบที่จะให้โอกาสคนหนุ่มคนสาวเช่นกัน เมื่อได้ก้าวขึ้นมาบริหารกิจการของตัวเอง

จากบทสัมภาษณ์ “My Personal History” โดยนิตยสาร Nikkei Asian Review ธนินท์ ได้รับการมอบหมายจาก ดร.ชำนาญ ยุวบูรณ์ ซี่งในขณะนั้นเป็น อธิบดีกรมการปกครอง และประธานสหพันธ์สหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทย ให้เป็นผู้จัดการสหกรณ์ฯตั้งแต่อายุเพียง 20 ปี  เนื่องจากเห็นแววและเชื่อมั่นเด็กหนุ่มคนนี้ว่าจะทุ่มเทและมีความสามารถนำพาสหกรณ์ฯซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านการส่งออกให้ก้าวหน้าและประสบความสำเร็จได้

ธนินท์ได้เรียนรู้หลักการบริหารงานบริหารคนจาก ดร.ชำนาญ ผู้ซึ่งจบการศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านกฏหมายจากฝรั่งเศสเป็นอย่างดี  จนมีผู้เล่าว่าในขณะนั้นหนุ่มน้อยวัยเพียง 20 ปีสามารถบริหารกิจการสหกรณ์ฯให้เจริญรุดหน้าไปด้วยดี โดยมีผู้อาวุโสวัย 50 ที่ดร.ชำนาญเป็นผู้แต่งตั้งให้เข้ามาเป็นผู้ช่วย

ด้วยเหตุนี้ทำให้บุคคลผู้ใกล้ชิด ธนินท์เปิดเผยว่าประสบการณ์นี้เองทำให้ ธนินท์เป็นผู้ที่ชอบที่จะให้โอกาสคนรุ่นใหม่เสมอในการเข้ามาเสนอความคิด และจะคอยดูแลแนะนำช่วยเหลือด้านต่างๆรวมทั้งเงินทุน และความรู้หลักคิดในการบริหารจัดการต่างๆ

การที่ธนินท์เปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือนี่เองเป็นหนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จของเครือซีพีในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่ทำให้เครือฯสามารถแตกไลน์ธุรกิจออกไปมากมาย โดยกิจการไก่ย่างห้าดาว หรือข้าวกล่องในร้านเซเว่น เป็นหนึ่งในตัวอย่างของธุรกิจใหม่ที่เกิดจากไอเดียของคนรุ่นใหม่ที่ธนินท์ได้รับฟังและให้โอกาสได้ “ปล่อยของ” แสดงฝีมือจนประสบความสำเร็จ

วิธีคิดและวิธีการทำงานแบบนี้ของธนินท์ ซึ่งได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมองค์กรของเครือซีพี ช่วยให้เครือได้แตกไลน์ธุรกิจออกไปอย่างมากมายและกว้างขวาง และอาจมีส่วนที่ทำให้มีผู้เข้าใจผิดและครหานินทาซีพีว่าทำไปหมด ทำไปเสียทุกอย่าง ก็มาจากการที่ธนินท์เปิดกว้างให้พนักงานและผู้บริหารมีอิสระสามารถครีเอทธุรกิจใหม่ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดนั่นเอง

ก่อนที่โลกจะรู้จัก กระทิง รุ่งเรือง พูนผล หรือคำว่า สตาร์ทอัพ หรือ แองเจิ้ล อินเวสเตอร์ ซึ่งหมายถึงผู้ฟูมฟัก อุ้มชูสตาร์ทอัพ   แต่ในหลายทศวรรษที่แล้วมี ธนินท์ เจียรวนนท์ เด็กหนุ่มผู้เคยได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ให้เข้ามาทำงานสำคัญ เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จด้วยโมเดลธุรกิจแบบแองเจิ้ล อินเวสเตอร์  ด้วยการเปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามา แตกและโต” ด้วยเช่นกัน

แต่สิ่งที่ ธนินท์ หรือนายห้างเทียมแตกต่างจาก ผู้ฟูมฟักสตาร์ทอัพในยุคนี้คือการคงไว้ของธุรกิจที่แตกใหม่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเครือ  ในขณะที่แองเจิ้ลอินเวสเตอร์มักจะเป็นการลงทุนในระยะสั้นเพื่อช่วยตั้งไข่ ก่อนที่จะขายหุ้นออกไปเมื่อสตาร์ทอัพสามารถยืนบนขาของตัวเองได้แล้วหรือมีผู้ลงทุนใหม่