ข้าวราคาพุ่ง! ตันละเฉียดหมื่น ต่างประเทศแห่ซื้อ-สต๊อกเก่าหมด

ราคาข้าวเปลือกพุ่งกระฉูดเฉียด 10,000 บาทต่อตัน ออร์เดอร์ส่งออกทะลักทั้ง ข้าวอิหร่าน-บังกลาเทศ ฉุดราคาขึ้นยกแผง ตลาดรอข่าวดีข้าว G to G อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ช่วงครึ่งหลังปีนี้ ผู้ส่งออกวิ่งหาโรงสีซื้อข้าวส่งมอบ พาณิชย์ปลื้มราคาขึ้นกว่าเป้าตันละ 2,000 บาท

สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม 2560) มีปริมาณ 4,385,081 ตัน ขยับขึ้นไป 2.4% มูลค่า 65,064.83 ล้านบาท ลดลงเพียง 0.5% โดยในเดือนพฤษภาคม มีการส่งออกไปอิหร่านมูลค่า 828.6 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 2,257% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งให้ราคาส่งออกข้าวไทย(ข้อมูล FAO) ปรับตัวขึ้นยกแผง สูงสุดในรอบ 9 เดือนนับจากสิงหาคมปี 2559 โดยเฉพาะข้าวขาว 5% ตันละ 415 เหรียญสหรัฐจากเดือนก่อนที่ตันละ 380 เหรียญ ขณะที่ราคาข้าวนึ่งไทยตันละ 431 เหรียญจากเดือนก่อนที่ตันละ 393 เหรียญ

ราคาข้าวขึ้นยกแผง

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธาน บริษัทเอเซีย โกลเด้นไรซ์ กล่าวกับ ประชาชาติธุรกิจŽ ว่า ราคาส่งออกข้าวนึ่งและข้าวขาวขณะนี้ได้ปรับขึ้นหมด โดยข้าวนึ่งจากตันละ 450 เหรียญปรับขึ้นเป็นตันละ 460 เหรียญ ส่วนราคาข้าวขาวปรับขึ้นจาก 440 เหรียญเป็นตันละ450 เหรียญแล้ว ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้นเป็น 9,000 บาทต่อตัน

“ราคาข้าวปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว น่าจะเป็นผลจากตลาดอิหร่าน ซึ่งเป็นตลาดข้าวสำคัญในอดีตของไทยที่หายไปร่วม 10 ปีตอนนี้กลับมาซื้อข้าวไทยโดยตรงปริมาณ 200,000 ตัน ซึ่งส่วนนี้บริษัทได้ขายตรงให้ภาคเอกชนอิหร่านและมีการขายผ่านเทรดเดอร์ที่ประมูลขายให้กับหน่วยงานรัฐบาลด้วยและอีก2ปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวขึ้นมาก คือผลผลิตข้าวเปลือกขาดตอนในช่วง เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ก่อนที่ข้าวนาปรังชุดใหม่จะออกในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และยังมีผลจิตวิทยาจากสต๊อกข้าวจากโครงการรับจำนำในอดีตหมดไปอีกด้วย”Ž นายสมบัติกล่าว

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัทธนสรรไรซ์ มองว่า การส่งออกไทยข้าวไทยปีนี้ไม่น่าต่ำกว่า 9.5 ล้านตันจากออร์เดอร์อิหร่านและความต้องการข้าวนึ่งและข้าวข้าวที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทได้รับออร์เดอร์ข้าวหอมมะลิจากอิหร่านที่เข้ามาก่อนหน้านี้ไปแล้วประมาณ 40,000 ตัน

นายโกสินทร์ จงพัฒนสมบัติ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทแสงฟ้า กล่าวว่า ตลาดส่งออกข้าวกลับมาแล้ว โดยเฉพาะตลาดเก่าอย่างอิหร่านที่เคยเป็นคู่ค้าสำคัญได้กลับมาซื้อข้าวเป็น ข้าวหอมมะลิข้าวขาว 100% ทำให้มีออร์เดอร์กลับมาถึง 300,000 – 400,000 ตัน รวมถึงบังกลาเทศ ซึ่งมีออร์เดอร์ลอตแรกไปแล้ว 50,000-60,000 ตัน ส่งผลดีต่อจิตวิทยาทางการตลาด

“นอกจากนี้ยังมี ฟิลิปปินส์ จะซื้ออีก 200,000-300,000 ตัน และอิรักจะมีการเปิดประมูลข้าวอีก 90,000 ตันส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายนราคาส่งออกข้าวไทยขยับขึ้นไป 70-80 เหรียญต่อตันแล้ว”Ž นายโกสินทร์กล่าว

นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้คำสั่งซื้อข้าวนึ่งในตลาดไนจีเรียดีขึ้น จากปัญหาค่าเงิน ไนร่าŽ ที่เคยอ่อนค่าลงเกือบ 500 ไนร่าต่อเหรียญสหรัฐปรับขึ้นเป็น 380-390 ไนร่าและคำสั่งซื้อข้าวผ่านทาง เบนิน-อิหร่าน-อิรัก กลับเข้ามาส่งผลให้ราคาข้าวนึ่งปรับขึ้นไปเป็น 450 เหรียญต่อตัน

“ตอนนี้ถือเป็นโชคดีของผู้ส่งออกที่มีสต๊อกข้าวอยู่ เพราะตลาดดีมาก เมื่อผู้ส่งออกไปรับคำสั่งซื้อล่วงหน้า ก็จำเป็นต้องวิ่งหาข้าวส่งจึงทำให้เกิดปัญหา Shot Covering ในช่วงนี้Ž “นายวิชัยกล่าว

ข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุถึงผู้ส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ช่วง 5 เดือนแรก 1)บริษัทเอเซีย โกลเด้นไรซ์ 660,175 ตัน 2)บริษัทนครหลวงค้าข้าว 624,194 ตัน 3)บริษัทธนสรรไรซ์ 395,890 ตัน 4)บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด 257,296 ตัน และ 5)บริษัทแสงฟ้า อะกริโปรดักซ์ 247,124 ตัน

โรงสีขายกระฉูดรับราคานิวไฮ

ขณะที่ นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% (ความชื้น15%) ปรับเพิ่มขึ้นจากตันละ 7,300-7,800 บาทในเดือนเมษายน มาเป็นตันละ 8,600-9,200 บาทหรือเพิ่มขึ้น 1,300-1,400 บาท ซึ่งถือเป็นระดับราคา ”นิวไฮ”Ž สูงสุดในรอบ 2 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ส่งออกข้าวเร่งสั่งซื้อข้าวจากโรงสีเพื่อส่งมอบให้กับผู้ซื้อ ”ทำให้ราคาข้าวสารปรับขึ้นทั้งหมดŽ”

โดยราคาข้าวขาว 5% ปรับจากที่เคยต่ำสุดตันละ 11,600 บาทขึ้นมาเป็น 14,500 บาท , ข้าวนึ่งจากที่เคยต่ำสุด 11,500-11,600 บาทเป็น 15,000 บาทส่งผลให้โรงสีข้าวปรับขึ้นราคารับซื้อข้าวเปลือก จากชาวนาด้วย อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูว่า สถานการณ์ราคาข้าวจะมีเสถียรภาพเพียงใด เพราะเมื่อราคาข้าวปรับขึ้นไปสูงมาก ตลาดอาจตกใจและชะงักการซื้อได้

ตปท.ทยอยเข้ามาซื้อข้าว

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้รายงานต่อที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ว่าราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ปรับขึ้นสูงถึง 9,000 บาทต่อตัน จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 7,000-8,000 บาทต่อตัน ถือว่า ดีกว่าที่ คาดการณ์ไว้ว่า ราคาข้าวเปลือกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 บาทต่อตัน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวปรับขึ้นสูงขณะนี้ก็คือ สต๊อกข้าวจากโครงการรับจำนำที่เป็นแรงกดทับมาหลายปีเริ่มจะหมดแล้วเชื่อว่าจะระบายข้าวหมดภายในปีนี้

ขณะที่สถานการณ์ความต้องการบริโภคข้าวก็เพิ่มขึ้นด้วยโดยเฉพาะตลาดนำเข้าสำคัญของไทยที่หายไปเช่นตลาดฮ่องกง, สิงคโปร์ และ อิหร่าน ตอนนี้เริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย โดยที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์อิหร่าน ได้พบกับ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการพาณิชย์ ฝ่ายอิหร่านแจ้งว่า ต้องการซื้อข้าวในรูปแบบเอกชน-เอกชน ส่วนตลาดแอฟริกาก็มีความต้องการซื้อข้าวมากขึ้น

“นอกจากนี้ยังมีสัญญาณความต้องการซื้อข้าวแบบ GtoG ตลาดอื่นๆอย่าง อินโดนีเซียต้องการซื้อข้าวประมาณ 50,000 ตัน ทางฟิลิปปินส์ต้องการอีก 250,000 ตัน และยังมีศรีลังกาและบังคลาเทศอีกเท่าที่ประเมินน่าจะได้อีก 50,000-100,000 ตัน โดยรวมเป้าหมายการส่งออกข้าวปีนี้จะปรับขึ้นเป็น 10.5 ล้านตันจากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะส่งออกได้ 10 ล้านตัน ซึ่งคงใกล้เคียงกับอินเดียที่คาดว่า จะส่งออกข้าวได้ 10 ล้านตัน ส่วนเวียดนามน่าจะส่งออกได้ 5-6 ล้านตันเพราะ สต๊อกข้าวลดลงถึงปลายปี”Ž น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าว

แม้ว่าข้าวจะราคาดีแต่รัฐบาลยังไม่ได้ประมาท ต้องดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเดินหน้า แผนข้าวครบวงจรและยังคงใช้มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวนาปี 2560/2561 ทั้งโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการโรงสีข้าว 3% เพื่อซื้อสต็อก กับ มาตรการชะลอการขายข้าวเปลือก โดยส่งเสริมให้ชาวนาเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

ล่าสุดมีรายงานว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวเห็นชอบระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่เปิดประมูลเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนหรือเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ปริมาณเกือบ2ล้านตันจากที่มีผู้เสนอราคาสูงสุด 2.12 ล้านตันเตรียมเสนอให้ นบข.พิจารณาอนุมัติขายต่อไป

โครงการประกันภัยข้าวนาปี′60

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ โครงการประกันภัยนาปี 2560 วงเงิน 1,841 ล้านบาท พื้นที่เป้าหมายขั้นต่ำ 25 ล้านไร่ สูงสุด 30 ล้านไร่ วงเงินคุ้มครอง1,260 บาทต่อไร่สำหรับภัยธรรมชาติ 6 ภัยและภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดได้วงเงินคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่ อัตราเบี้ยประกันภัย 97.37 บาทต่อไร่

”รัฐบาลจะอุดหนุนเบี้ย 61.37 บาทต่อไร่ ส่วนเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. จะได้รับการอุดหนุนเบี้ยอีก 36 บาทต่อไร่ รวมแล้วเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.ไม่ต้องจ่ายแม้แต่บาทเดียว ระยะเวลาการขายประกันเริ่มฤดูกาลเพาะปลูก-31 สิงหาคมนี้ ยกเว้นภาคใต้ถึง15 ธันวาคม 2560″