กลุ่มรถโดยสารอุดรฯ อ่วม เจอบังคับทำประกันภัยชั้น3 จ่อหยุดวิ่ง 1ก.ค. 400 คัน วอนขนส่งทบทวน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 6 มิถุนายน ที่ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสมหวัง พ่วงบางโพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายนิติธร เพชรคูหา ขนส่ง จ.อุดรธานี และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ประชุมรับทราบข้อร้องเรียน ของนายชีระวิทย์ บุญไชยธนินทร์ ประธานชมรมผู้ประกอบการเดินรถอีสานตอนบน กับผู้ประกอบการรถโดยสาร หมวด 3 ระหว่างจังหวัดระยะสั้น ที่ได้รับความเดือดร้อนจากประกาศ คสช. 15/60 และประกาศของกรมการขนส่งทางบก เรื่องบังคับให้ทำประกันภัยบุคคลที่ 3 และได้ติดประกาศจะหยุดเดินรถ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้

นายชีระวิทย์ บุญไชยธนินทร์ ประธานชมรมผู้ประกอบการเดินรถอีสานตอนบน กล่าวว่าผู้ประกอบการเดินรถโดยสาร หมวด 3 ระหว่างจังหวัดระยะสั้น จากอุดรธานีไปยังจังหวัดข้างเคียง ระยะทางไม่เกิน 300 กม. มีผู้ประกอบการ 17 ราย และมีรถร่วมรายย่อยรวมมีรถราว 1,700 คัน ซึ่งประกอบการมามากกว่า 40 ปี มีความเสี่ยงอุบัติเหตุต่ำ เพราะเป็นระยะสั้น ใช้ความเร็วต่ำ โชเฟอร์ชำนาญทาง มีสถิติปรากฏให้เห็นชัดเจน ขณะที่ผลประกอบการไม่ค่อยดีนัก หักค่าใช้จ่ายเหลือไม่กี่บาท หลายคันมีลักษณะสามีขับภรรยาเก็บเงิน สภาพเป็นทุกจังหวัด
“ เราถูกบังคับให้ทำประกันภัยชั้น 3 โดยนำไปเหมารวมกับรถหมวด 3 ต่างจังหวัดระยะไกล เช่น อุดร-เชียงราย หรือ หนองคาย-ภูเก็ต หรือรถตู้โดยสารที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ลงทุนตามคำสั่ง ทั้งการติดระบบ จีพีเอส. , ติดเข็มขัดนิรภัย หากทำประกันภัยชั้น 3 เราจะมีต้นทุนเพิ่มต่อคันต่อปี รถต่ำกว่า 40 ที่นั่งปีละ 30,000 บาทเศษ มากกว่า 40 ที่นั่งปีละ 40,000 บาทเศษ ซึ่งผลประกอบการจ่ายไม่ได้แน่นอน จึงจำเป็นต้องหยุดวิ่ง เริ่มจากรถโดยสารราว 400 คัน ที่ต้องจดต่อทะเบียนมิถุนายนนี้ต้องหยุดวิ่ง ”นายชีระวิทย์กล่าว

“ขอให้กรมการขนส่งทางบกทบทวน ประกาศที่ออกมาแบบเหมารวม แก้ไขให้มีข้อยกเว้นกับรถโดยสารใหญ่ วิ่งระหว่างจังหวัดระยะทางไม่เกิน 300 กม. หรือยกเลิกประกาศดังกล่าว ระหว่างการพิจารณาขอให้กรมการขนส่งทางบก จดต่อทะเบียนรถโดยสารประเภทนี้ได้ โดยไม่มีการทำประกันภัยชั้น 3 เป็นการชั่วคราวไปก่อน รวมไปถึงการเตรียมปรับค่าโดยสาร หากไม่มีการแก้ไขหรือยกเลิก”นายชีระวิทย์กล่าว

นายสมหวัง กล่าวว่า ผู้ประกอบการขอให้พิจารณา แก้ไขสภาพที่เปรียบเทียบว่า “ตัดเสื้อเบอร์เดียวให้ทุกคนใส่” ซึ่งผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี รับทราบเรื่องนี้จะสั่งการให้ ขนส่ง จ.อุดรธานี รวบรวมข้อมูลความเห็น และความต้องการผู้ประกอบการ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานไปยังผู้เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหา ซึ่งจะต้องรีบดำเนินการทันที ให้ทันกับผลกระทบในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ที่จะมีรถบางส่วนจะต้องหยุดวิ่ง