บ้านอุ๋ม ชิฟฟอนเค้กเจ้าดัง มาถึงวันนี้ ไม่อยากเป็นแค่ของฝากอีกต่อไป

บ้านอุ๋ม ชิฟฟอนเค้กเจ้าดัง มาถึงวันนี้ ไม่อยากเป็นแค่ของฝากอีกต่อไป 

ชิฟฟอนเค้ก ขนมเนื้อนุ่มทรงสามเหลี่ยมห่อด้วยกระดาษไขขนาดไม่ใหญ่มาก มีหลายรสชาติ ยุคหนึ่งเคยเป็นของฝากยอดฮิต ทำกันออกมาขายหลายเจ้า แต่แบรนด์ที่สามารถยกนิ้วชื่นชมว่าทำได้อร่อยเสมอต้นเสมอปลาย น่าจะมี “บ้านอุ๋ม” เป็นคำตอบในใจของใครหลายคน

คุณอุ๊-สุพรรษา อังคเรืองรัตนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านอุ๋ม แมเนจเม้นท์ จำกัด เปิดโรงงานผลิตชิฟฟอนเค้ก แบรนด์ “บ้านอุ๋ม” ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้เป็นสถานที่พูดคุยกันแบบกันเอง เริ่มต้นย้อนความเป็นมาให้ฟังว่า ธุรกิจครอบครัวตั้งแต่ยุคอากงและคุณพ่อ เป็นร้านเบเกอรี่สไตล์บ้านๆ ทำพวกขนมเปี๊ยะ ขนมปัง ขายส่งให้กับร้านค้าในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง จำได้ยุคนั้นยังเป็นการทำด้วยเตาฟืนอยู่เลย

คุณอุ๊-สุพรรษา อังคเรืองรัตนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านอุ๋ม แมเนจเม้นท์ จำกัด

เมื่อเวลาผ่านไป ร้านของครอบครัวที่ชื่อว่า “อั้ง เต็ก หมง” มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่ด้วยความที่คู่แข่งในตลาดมีไม่น้อย แถมหลายรายยังลงทุนสูงนำเครื่องจักรมาใช้ ทำให้กิจการเล็กๆ แทบอยากถอดใจเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น

กระทั่ง คุณอุ๋ม-จิราภรณ์ อังคเรืองรัตนา น้องสาวของเธอ จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์อาหาร ออกมา และเข้ามาช่วยทำเบเกอรี่สไตล์โฮมเมดขายหน้าบ้าน ทำได้พักใหญ่เริ่มมีลูกค้าประจำมากขึ้น จึงมองเห็นลู่ทางที่จะพาธุรกิจของครอบครัวไปต่อได้

“น้องอุ๋ม ช่วยพลิกฟื้นธุรกิจครอบครัวขึ้นมาใหม่ เลยลงมติตั้งชื่อแบรนด์ว่า บ้านอุ๋ม โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วนคือ การผลิต และการขาย โดยการผลิตจะมีคุณอุ๋ม น้องสาวเป็นคนดูแล ส่วนด้านการขายนั้นจะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของพี่อุ๊ ในฐานะพี่สาวคนโต เป็นหัวเรือในการวางแผนกลยุทธ์ และขับเคลื่อนธุรกิจ” คุณอุ๊ เล่าใหฟังอย่างนั้น

คุณอุ๋ม-จิราภรณ์ อังคเรืองรัตนา เจ้าของสูตรชิฟฟอนเค้กบ้านอุ๋ม

กล่าวสำหรับการดำเนินธุรกิจ บ้านอุ๋ม นั้น ว่ากันว่าหนักหนาสาหัสไม่ใช่เล่น โดยคุณอุ๊ เล่าให้ฟังว่า ในฉะเชิงเทรา มีเบเกอรี่ท้องถิ่นเจ้าดังหลายแบรนด์ การจะทำให้กิจการเก่าแต่ชื่อใหม่ ให้เป็นที่รู้จักได้นั้น ต้องทำให้ผู้บริโภคได้ทดลองชิมก่อน และเพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงไปเปิดบูธตามห้างสรรพสินค้า และ อีเวนต์มากขึ้น

“จุดเริ่มเราคือขนมที่คนท้องถิ่นซื้อกินประจำแต่อยากทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น เลยต้องหาหลายวิธี ตอนนั้นมาตรฐานยอดฮิตที่จะนำมาใช้การันตีให้ได้คือ เชลล์ชวนชิม เราก็เปิดสมุดหน้าเหลืองโทรติดต่อไปเลย แล้วส่งชิฟฟอนเค้กไป ปรากฏว่าผ่าน เขาออกใบการันตีมาตรฐานให้ เลยได้ใช้เป็นใบเบิกทางออกบูธครั้งแรกในห้าง” คุณอุ๊ ย้อนให้ฟังอย่างนั้น

เมื่อสินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงมีพ่อค้า-แม่ค้า มาติดต่อขอซื้อไปขายต่อกันหลายราย โดยนำไปขายตามตลาดนัด สถานที่ราชการ หรือหน่วยงานต่างๆ และเหมือนกำลังจะไปได้ดี ก็มาเกิด สงครามสีเสื้อ วิกฤตทางการเมือง หลายพื้นที่ขายของไม่ได้ จึงทำให้คิดว่าจะพึ่งพารูปแบบขายส่งคงไม่พอแล้ว เลยนึกถึงการทำ  แฟรนไชส์ ที่ต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ เพื่อกระจายสินค้าได้มากขึ้น

ยินดีต้อนรับ

ปัจจุบันบ้านอุ๋ม มีสาขาแล้วกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ ทั้งส่วนที่เป็นแฟรนไชส์และขยายร้านด้วยตัวเอง โดยตั้งเป้าปีหน้าไว้ที่ 100 สาขา โดยรูปแบบแฟรนไชส์จะแบ่งเป็น 3 ขนาด คือ S 40 ตารางเมตร M 70 ตารางเมตร และ L สำหรับนักลงทุน สร้างเป็นแลนด์มาร์กขนาดใหญ่ 1 ไร่ขึ้นไป

ถามไถ่ถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา เจ้าของกิจการ บ้านอุ๋ม เล่าว่า ต้องลดปริมาณต้นทุนต่างๆ ค่าแรงพนักงาน เพื่อประคองธุรกิจให้ไปได้ ก่อนเริ่มช่องทางการขายออนไลน์ ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน อย่าง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธพว. หรือ SME D Bank ปล่อยกู้ให้ ทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อได้

อร่อย

ก่อนจากกันไป คุณอุ๊ ให้ข้อมูลทิ้งท้ายว่า ก้าวต่อไปของธุรกิจนี้ นอกจากการขยายแฟรนไชส์แล้ว ยังรับจ้างผลิตขนมให้กับแบรนด์ต่างๆ รวมถึงทำผลิตภัณฑ์ร่วมกับบางแบรนด์ และพยายามปรับรูปลักษณ์ให้ดูทันสมัยเหมาะกับลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้นด้วย

“ทุกวันนี้ บ้านอุ๋ม ถูกมองเป็นแบรนด์ของฝากมากกว่าเป็นขนมซื้อกินเอง เคยถามเด็กรุ่นใหม่ว่าเคยกินไหม เขาบอกว่าเคยกินถ้ามีคนซื้อฝาก เลยต้องแก้โจทย์นี้ อาจปรับแพ็กเกจจิ้งให้ขนาดเล็กลง ซื้อทานได้ง่ายขึ้น ชิฟฟอน 1 กล่อง 8 ชิ้น เหลือแค่ 4 ชิ้น เพราะอยากเป็นขนมที่คนซื้อกินเองแล้วเห็นว่าอร่อย เลยซื้อฝากคนอื่น” ตัวแทนแบรนด์ บ้านอุ๋ม เผยความตั้งใจอย่างนั้น