เปิดผลสำรวจ ’11 อาหารไทย – 6 น้ำจิ้มรสเด็ด’ แต่โซเดียมสูง!! กินมากไตเสื่อม

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม  ผศ. วันทนีย์ เกรียงสินยศ นักวิชาการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล   กล่าวในการประชุมพิจารณามาตรการควบคุมโซเดียมในอาหาร ที่โรงแรมริชมอนด์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ว่า องค์การอนามัยโลกและโคเด็กซ์กำหนดค่าปริมาณสูงสุดของโซเดียมที่รับได้และไม่ทำให้เกิดอันตรายไว้ที่ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่ประชากรไทยได้รับโซเดียมสูงถึง 4,352 มิลลิกรัมต่อวัน คิดเป็น 2.2 เท่าของปริมาณสูงสุดของโซเดียมที่รับได้ แต่ไม่ทำให้เกิดอันตราย อย่างไรก็ตาม หน่วยรับรองสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ สถาบันโภชนาการ ทำการสำรวจผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆที่มีจำหน่ายทั่วไป พบปริมาณโซเดียมในอาหารต่างๆ ดังนี้

1.อาหารพร้อมบริโภค 1 หน่วย ค่าต่ำสุด 260 สูงสุด 1,800 เฉลี่ย 809 มิลลิกรัม

2.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 50 กรัม ค่าต่ำสุด 650 สูงสุด 1,360 ค่าเฉลี่ย 1,238 มิลลิกรัม

3.โจ๊กปรุงรส ซอง/ถ้วย 50 กรัม  ต่ำสุด 463 สูงสุด1,886 เฉลี่ย 1,240 มิลลิกรัม

4.แกงจืด/ซุป ชนิดเข้มข้นหรือชนิดแห้ง 50 กรัม ต่ำสุด 205 สูงสุด 5,125 เฉลี่ย 2,150 มิลลิกรัม

5.ซุปก้อน/ผงปรุงรส 10 กรัม ต่ำสุด 1,000 สูงสุด 2,000 เฉลี่ย 1,440 มิลลิกรัม

6.น้ำปลา 15 กรัม  ต่ำสุด 770 สูงสุด 1,620 เฉลี่ย 1,230 มิลลิกรัม

7.ซีอิ้ว15 กรัม ต่ำสุด 560 สูงสุด 1,600 เฉลี่ย 1,095 มิลลิกรัม

8.มันฝรั่งทอด/อบ 30 กรัม ต่ำสุด 55 สูงสุด 786 เฉลี่ย 160 มิลลิกรัม

9.ข้าวเกรียบ 30 กรัม ต่ำสุด 29 สูงสุด 1,048 เฉลี่ย 210 มิลลิกรัม

10.ข้าวโพดอบกรอบ 30 กรัม ต่ำสุด 20 สูงสุด 500 เฉลี่ย  160 มิลลิกรัม

11.แครกเกอร์ 30 กรัม ต่ำสุด 15  สูงสุด 500 เฉลี่ย 140 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารไทย 11 ชนิดต่อหน่วย พบปริมาณโดยประมาณ ได้แก่

1.แกงเขียวหวาน 625 มิลลิกรัม  2.แกงส้ม 850 มิลลิกรัม  3.แกงเลียง 600 มิลลิกรัม  4.ต้มข่าไก่ 700มิลลิกรัม  5.ต้มยำกุ้ง 1,000 มิลลิกรัม  6.น้ำพริกกะปิและผัก 650มิลลิกรัม 7.น้ำพริกมะขามและผัก 625มิลลิกรัม 8.ห่อหมกใบยอ 400มิลลิกรัม 9.ผัดเผ็ดปลาดุก 750 มิลลิกรัม 10.ยำถั่วพู 450 มิลลิกรัม และ 11.ทอดมันปลา 650 มิลลิกรัม  และค่าโดยประมาณของปริมาณโซเดียมในน้ำจิ้ม 6 ชนิดต่อ 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 15  กรัม  คือ 1.น้ำจิ้มข้าวมันไก่ 332 มิลลิกรัม 2.น้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ 139 มิลลิกรัม 3.น้ำจิ้มสุกี้ 277 มิลลิกรัม 4.น้ำจิ้มข้าวหมกไก่ 377 มิลลิกรัม 5.น้ำจิ้มกุยฉ่าย 428 มิลลิกรัม และ6.น้ำราดข้าวหมูแดง 200 มิลลิกรัม

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การที่ร่างกายได้รับโซเดียมสูงจะมีผลกระทบต่อหลายระบบในร่างกาย โดยเฉพาะไตที่ทำหน้าที่ขับโซเดียมออกจากร่างกายนั้นต้องทำงานหนัก และเกิดไตเสื่อม เมื่อเป็นมากต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตโดยวิธีการล้างไตทางช่องท้อง หรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเฉลี่ย 240,000 บาทต่อคนต่อปี ไม่รวมค่ายาและค่าใช้จ่ายทางอ้อม ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพาแห่งชาติพบว่าปี 2558ใช้งบประมาณในการล้างไต 5,247 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 6,318 ล้านบาทในปี 2559 ส่วนสิทธิประกันสังคมรวมกับข้าราชการต้องใช้ปีละ 10,000 ล้านบาท รวมเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 15,000 ล้านบาท โรคหัวใจและหลอดเลือดปีละ 78,976 ล้านบาท โรคเบาหวาน 24,489 ล้านบาท

 

ที่มา มติชนออนไลน์