‘ปิยะสกล’เซ็นประกาศ ‘เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต’ห้าม รพ.เอกชน เก็บเงินภายใน 72 ชม.

รัฐมนตรีว่าการสธ.ลงนามประกาศคุม รพ.เอกชนเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต คาดประกาศใช้ได้สงกรานต์นี้ พร้อมกำหนดความชัดเจนนิยาม ‘สีแดง- อัตราค่าบริการการแพทย์’ กว่า 3 พันรายการ

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข และหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ ในการลดปัญหา รพ.เอกชนบางแห่งเรียกเก็บเงินผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งขัดต่อนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ภายใน 72 ชั่วโมง ว่า สำหรับประกาศกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559นั้น ล่าสุดตนได้ลงนามเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 ประกอบด้วย 1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉิน 2.เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน การระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยา และการจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น ซึ่ง 2 ฉบับจะบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

“ฉบับที่ 3. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต จะต้องนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเพื่อให้สามกองทุนสุขภาพภาครัฐ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ได้รับทราบเพราะอัตราค่าใช้จ่ายต้องให้แต่ละกองทุนเป็นผู้จ่าย แต่จะมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)เป็นเหมือนเคลียริ่งเฮ้าส์ในการดำเนินการ ทั้งนี้ ยังไม่ทราบว่า ประกาศฉบับที่ 3 จะทันการประชุมครม.ในวันที่ 21 มีนาคมนี้หรือไม่ แต่เชื่อว่าทั้งหมดจะพร้อมประกาศใช้ได้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 1. ประกาศฯเรื่องกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉิน หากรพ.ไม่ให้บริการรักษาจนพ้นวิกฤต ถือว่ามีโทษตามมาตรา 36 แต่หากให้การรักษาจนพ้นวิกฤตแล้ว แต่ รพ.ยังเรียกเก็บเงินกับผู้ป่วย และวินิจฉัยแล้วว่าอาการอยู่ในข่ายสีแดงจริง รพ.ต้องจ่ายเงินคืนแก่ผู้ป่วย และเก็บกับกองทุนสุขภาพนั้นๆ แทน

2.ประกาศฯว่าด้วยหลักเกณฑ์ฯ การช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินฯ อาทิ การคัดแยกระดับความฉุกเฉิน อย่าง ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งมีภาวะคุกคามต่อชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับปฏิบัติการแพทย์ทันที เพื่อแก้ไขระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง หรือทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างฉับไว

3. ประกาศฯเรื่องการเบิกเงินตามอัตราค่าบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ที่กองทุนนั้นๆ ต้องจ่ายแก่รพ. โดยสรุปรายการ 3,358 รายการ แบ่งออก12 หมวด อาทิ ค่าห้องและค่าอาหาร ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือด ฯลฯ