สายชงมีสะดุ้ง! พาณิชย์ ไฟเขียว เตรียมขึ้นราคานมสด สูงสุด 2.50 บาท ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

สายชงมีสะดุ้ง! พาณิชย์ ไฟเขียว เตรียมขึ้นราคานมสด สูงสุด 2.50 บาท ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ 

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ประกาศปรับราคาน้ำนมดิบขึ้นจาก 20.50 บาทต่อ กก. เป็น 22.75 บาทต่อ กก. หรือเพิ่มขึ้น กก.ละ 2.25 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งมีผลกระทบให้ผู้ผลิตนมสดพร้อมดื่มมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปด้วย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้ทำหนังสือแจ้งไปที่กรมการค้าภายในมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2567 เพื่อขอปรับขึ้นราคาขายปลีกผลิตภัณฑ์นม จากที่ยื่นขอทั้งสิ้นรวม 8 ราย

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมการค้าภายในได้อนุญาตให้มีการขึ้นราคานมสดพร้อมดื่มเป็นที่เรียบร้อยแล้วจำนวน 6 ราย มีทั้งนมยูเอชที นมพาสเจอไรซ์ นมสเตอริไลซ์ โดยการปรับขึ้นราคา ในส่วนนมขนาดเล็กที่ได้รับความนิยม 180-225 ซีซี ให้ขึ้นขวดหรือกล่องเฉลี่ย 50 สตางค์ ขณะที่นมสดขนาด 1 ลิตร ปรับขึ้นเฉลี่ยกล่องหรือขวดละ 2.50 บาท

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้สินค้านมที่ขายปลีกตามห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อจะยังขายราคาเดิมไปก่อน เพราะสต๊อกต้นทุนเก่า ยังไม่ปรับขึ้นราคา โดยคาดว่าราคาใหม่จะปรับขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ส่วนผู้ประกอบการที่นอกเหนือจาก 6 รายได้มีการยื่นขอปรับราคามาต่อเนื่อง ซึ่งกรมการค้าภายในอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อมูลรายละเอียด เพื่ออนุญาตให้ปรับขึ้นราคาต่อไป

“เกณฑ์การพิจารณาการขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมสดพร้อมดื่ม กรมการค้าภายใน ได้อนุญาตให้ขึ้นเฉพาะในส่วนของต้นทุนน้ำนมดิบที่เพิ่มเท่านั้น ไม่รวมต้นทุนอื่น เช่น ค่าแรง ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง แม้ทางผู้ประกอบการจะขอมาก็ตาม เพราะเป้าหมายของกรมการค้าภายในคือ ต้องการดูแลผู้บริโภคให้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องอยู่ได้ และเกษตรกรได้ประโยชน์”

ที่สำคัญ ในการพิจารณาปรับราคา ผู้ประกอบการจะต้องแสดงให้เห็นถึงข้อมูลเอกสารสำคัญใช้ประกอบการขอขึ้นราคา ได้แก่ เอกสารเกี่ยวกับการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร ในอัตราที่มีการปรับขึ้นใหม่แล้วที่ กก.ละ 22.75 บาท และข้อมูลเกี่ยวกับสูตรการผลิต ที่มีสัดส่วนการใช้น้ำนมดิบในการผลิตสินค้านมกล่อง หรือนมขวดของประเภทนั้นๆ ที่แตกต่างกัน เช่น ถ้านมรสจืดที่ผสมนมดิบ 100% จะได้ขึ้นราคามากกว่า

แต่ถ้าเป็นนมปรุงแต่งมีส่วนผสมอื่นก็จะขึ้นตามสัดส่วนการใช้นมดิบ ขณะที่สินค้าที่ใช้นมผงจะไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงสินค้านมเปรี้ยว และโยเกิร์ตด้วย ซึ่งเป็นสินค้าทางเลือกไม่ต้องขออนุญาต

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ