“มูเก็ตติ้ง” จับความเชื่อผนวกกับธุรกิจ พิชิตยอดขาย สร้างรายได้แบบปังๆ

“มูเก็ตติ้ง” จับความเชื่อผนวกกับธุรกิจ พิชิตยอดขาย สร้างรายได้แบบปังๆ

มูเก็ตติ้ง (Muketing) คืออะไร หลายคนคงเคยได้ยินคำนี้อยู่บ่อยครั้ง ความหมายของมันก็คือคำผสมระหว่าง “มูเตลู” กับ “Marketing” ที่หมายถึงกลยุทธ์การตลาดที่เชื่อมโยงกับความเชื่อ วัฒนธรรม รวมไปถึงความสัมพันธ์อันดีกับผู้บริโภค โดยจะเน้นไปในเรื่องของ ความมงคล โชคลาภ และพลังบวก

มูเก็ตติ้งถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทยตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยในเรื่องของคนไทยที่มีความเชื่อ ความศรัทธา และการมูเตลู และในปัจจุบัน กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมยุคเทคโนโลยี ก็ให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาก ทั้งในเรื่องของความเชื่อและโชคลางต่างๆ

และในปี 2567 คาดว่ามูเก็ตติ้งจะมีความหลากหลายและมีความสร้างสรรค์มากขึ้น โดยผู้ประกอบการจะมุ่งเน้นไปในเรื่องของการผสมผสานระหว่างความเชื่อ วัฒนธรรม และเทคโนโลยี ทำให้การสื่อสารการตลาดมีความน่าสนใจและเข้าถึงผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

ผู้ประกอบการที่นำมูเก็ตติ้งเข้าไปปรับใช้กับธุรกิจ มีหลากหลายประเภท ซึ่งจะยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

ธุรกิจร้านอาหาร 

มีการนำมูเก็ตติ้งเข้าไปใช้เพื่อโปรโมต เช่น การตั้งชื่ออาหารให้เป็นมงคล หรือการชูวัตถุดิบที่เป็นมงคล เมื่อเวลาลูกค้าเห็นก็จะรู้สึกชอบและอยากไปลิ้มลอง อาทิ

ไอติมวัดอรุณฯ ซึ่งเป็นไอเทมเด็ดอีกหนึ่งตัวที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนำวัฒนธรรมมาปรับใช้กับอาหาร เช่น ไอติมลายกระเบื้องวัดอรุณฯ ถือได้ว่าเป็น Soft Power ของไทยได้เลย นอกจากนี้ เมื่อกินไอติมจนหมด ในไม้จะมีตัวหนังสือที่เขียนคำทำนายไว้ให้ได้ลุ้นอีกด้วย ซึ่งมีหลายคนบอกว่าตรงมาก เพราะว่าเป็นคนเลือกไอติมกันเอง

ARUN CAFE
ARUN CAFE

หรือแม้แต่เทศกาลตรุษจีนในมณฑลเหอเป่ย ก็ได้ทำเต้าหู้ขึ้นเพื่อเป็นอาหารมงคลรับตรุษจีน เพราะคำว่า “โต้วฝู” ในภาษาจีนจะพ้องเสียงกับคำว่า “โตวฟู” และ “โตวฟู่” ซึ่งมีความหมายที่ดี สื่อถึงชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองของผู้คนในปีใหม่

ธุรกิจท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวก็สามารถนำมูเก็ตติ้งเข้าไปใช้ได้ เช่น การพาไปเที่ยวที่วัดต่างๆ เพื่อกราบไหว้ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล ไปตามศาลเจ้า หรือแม้แต่การพาไปท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีตำนานเล่าขานกันมา ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องอาศัยการมูเตลูเพื่อดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวได้ 

ธุรกิจแฟชั่น

แฟชั่น สามารถนำมูเก็ตติ้งไปปรับใช้ได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการใช้สี ซึ่งปัจจุบันนี้ คนหันมาสนใจเรื่องการแต่งกายมากขึ้น จะต้องแต่งตัวให้ถูกโฉลก สีต้องเป็นมงคล จะต้องใส่เสื้อผ้าตามวัน สิ่งเหล่านี้จึงทำให้การมูเตลู การทำเสื้อผ้า ต้องปรับและประยุกต์เข้ากัน

ธุรกิจของเล่น

ในปัจจุบันนี้ มีการนำความเชื่อเข้าไปผสมผสานกับของเล่น หรือ Art Toy อย่างแบรนด์ Gajanaya ก็ได้นำความเชื่อขององค์พระพิฆเนศมาผสมผสานกับของเล่น แล้วผลิตออกมา สร้างกระแสฮือฮา คนสนใจสั่งซื้อจนผลิตแทบไม่ทันเลยทีเดียว ทำให้เห็นว่า ความเชื่อสามารถปรับใช้กับสิ่งรอบๆ ตัวเราได้

Gajanaya
Gajanaya

นอกจากธุรกิจต่างๆ เหล่านี้แล้ว ยังมีปฏิทิน “น่ำเอี๊ยง” ที่เป็นสิ่งของที่คนใช้อยู่ในทุกๆ วัน ก็ได้มีการนำความเชื่อเข้าไปผสมผสาน จนเป็นปฏิทินที่มากกว่าปฏิทินบอกวันที่ แต่จะแฝงไปด้วยโหราศาสตร์จีน คำนวณดวงชะตาแบบแม่นยำ จากฝีมือของซินแสมากประสบการณ์

และในปัจจุบัน น่ำเอี๊ยงก็ได้มีการปรับตัวให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ ให้เข้าถึงง่ายและเข้าใจได้ พร้อมบอกวิธีการอ่าน แค่นี้ทุกคนก็สามารถดูดวงตัวเองได้แบบง่ายๆ เท่านี้ก็ทำให้คนสนใจและซื้อมาใช้  

น่ำเอี๊ยง
น่ำเอี๊ยง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ จะต้องศึกษาและดูพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถสื่อสารการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น