ทั่วโลก กำลังซื้อลด นักวิชาการขอผู้ผลิตอาหารแพลนต์เบส อย่าเพิ่งถอดใจ

ทั่วโลก กำลังซื้อลด นักวิชาการขอผู้ผลิตอาหารแพลนต์เบส อย่าเพิ่งถอดใจ

เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความก้าวหน้าในด้านต่างๆ รวมถึงภาคเกษตรกรรม ในการเพิ่มมูลค่า และพัฒนาศักยภาพของสินค้าเกษตรให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.สุภัทร์ ไชยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในความภาคภูมิใจในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ ผู้อุทิศสร้างสรรค์นวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีอาหารทางการแพทย์ จากข้าว-น้ำนม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย และเศรษฐกิจชาติ จนได้รับพระราชทานโล่รางวัล “นักวิจัยด้านการเกษตรดีเด่น ประจำปี 2566“ จาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ไปเมื่อเร็วๆ นี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร์ ไชยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล “นักวิจัยด้านการเกษตรดีเด่น ประจำปี 2566“ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

ภายใต้แนวคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมบนความเรียบง่าย แต่มากมายด้วยประโยชน์ ทำให้ในช่วงกลางปี 2567 นี้ คนไทยจะได้สัมผัสกับอาหารทางการแพทย์ฝีมือคนไทย จากการเพิ่มคุณค่าข้าวไทยในส่วนที่เหลือจากโรงสีข้าว ขยายผลเพิ่มเติมคุณค่าด้วยน้ำนมข้าว จาก “ข้าวระยะเขียว” ซึ่งอุดมไปด้วยคุณค่าจากสารอาหารต่างๆ มากมาย

ก่อนต่อยอดผสมด้วยส่วนประกอบจาก “ผลิตผลเกษตรไทยทางเลือก” จากมันสำปะหลัง ใช้เป็นส่วนผสมหลักแทนข้าวในอาหารทดแทนมื้ออาหาร สำหรับผู้ที่มีภาวะเบาหวาน มากด้วยคุณสมบัติที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และเพิ่มกากใยอาหารในเฟสถัดไป ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาได้แล้วเสร็จไม่เกินช่วงต้นปี 2568

ผศ.ดร.สุภัทร์ กล่าวว่า ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์จากข้าวและแป้งมันสำปะหลังไทย ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีขยายผลสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช หรือ “แพลนต์เบส” (Plant-based Products) ซึ่งเป็นเทรนด์ที่น่าจับตาเมื่อ 2-3 ปีก่อน แต่เพิ่งประสบปัญหา “กำลังการซื้อที่ลดลง” ของผู้บริโภคทั่วโลก จากผลสรุปทางการตลาดของปี 2566 ที่ผ่านมา

เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ในฐานะผู้สร้างสรรค์และถ่ายทอดเทคโนโลยีอาหาร ผศ.ดร.สุภัทร์ ให้มุมมองต่อผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบสว่า ยังไม่ควรถอดใจ เนื่องจากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อนเป็นเพียง “กลไกทางการตลาด” ซึ่งผู้บริโภคอาหารจากพืชเป็นประจำอยู่ก่อนแล้วยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน

แต่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยที่ยังคง “ไม่ตอบโจทย์” จากการไม่สามารถทำให้ “ผู้บริโภคหน้าใหม่” เกิดความรู้สึกคุ้นเคยใน “รสสัมผัส” ที่ทดแทนการบริโภคเนื้อสัตว์ได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังคงเป็นที่วิตกกังวลในเรื่อง “ความปลอดภัย” ที่มาจาก “สารเติมแต่ง” เป็นประเด็นสำคัญอีกต่างหาก

ในขณะที่ประเทศไทยยังคงนับเป็นหนึ่งในแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก จากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ จึงทำให้ยังคงมีผลิตผลทางการเกษตรอีกมากมายที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบสที่มากด้วยคุณค่าและคุณภาพ

การต่อยอดผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์จากข้าวไทยในส่วนที่เหลือจากโรงสีข้าว ผลงานโดย      ผศ.ดร.สุภัทร์ นอกจากทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้ถึง 10 เท่าในเฟสแรก จะยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง เมื่อได้นำแป้งมันสำปะหลังมาเป็นส่วนประกอบ

ซึ่งจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าจับตาไม่แพ้ในช่วงเวลาที่ผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบสกำลังมาแรง หากจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐผลักดันให้เข้าสู่ระบบสาธารณสุข เช่นเดียวกับนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค“ เพื่อให้คนไทยทุกคนได้สัมผัสกับ “ยาจากธรรมชาติ” ที่ได้จากอาหารทางการแพทย์ซึ่งพัฒนาขึ้นจากผลิตผลทางการเกษตรที่มากด้วยคุณค่า-คุณภาพของไทย เพื่อทำให้คนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกันโดยถ้วนหน้า