ซื้อแฟรนไชส์ เหมือนเลือกคู่แต่งงาน ก่อนตัดสินใจ ต้องพิจารณาอะไร

ซื้อแฟรนไชส์ เหมือนเลือกคู่แต่งงาน ก่อนตัดสินใจ ต้องพิจารณาอะไร

เมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์อมร อำไพรุ่งเรือง ในฐานะกูรูแฟรนไชส์ ลำดับต้นของเมืองไทย เคยให้คำแนะนำความรู้ ห้ามมองข้าม ก่อนตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ ไว้ว่า ให้ดู 3 เรื่องสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย

หนึ่ง ปัจจัยภายนอก ตั้งแต่ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การตลาด เทคโนโลยี คู่แข่งขัน ทำเลที่ตั้ง

สอง แฟรนไชซอร์ ที่จะมาเป็นคู่ค้ากัน เหมือนกับการเลือกคู่แต่งงาน เพราะมีการเซ็นสัญญาที่อาจผูกมัดกันตั้งแต่ 1 ปี 3 ปี อันดับแรกต้องดูว่าแฟรนไชซอร์ ทำธุรกิจประสบความสำเร็จหรือเปล่า เพราะธุรกิจแฟรนไชส์คือโคลนนิ่งจากหนึ่งไปสอง ไปสาม ไปสี่ รวมถึงต้องมีการสนับสนุนโดยเฉพาะเรื่องมาร์เก็ตติ้ง การฝึกอบรม คู่มือ การตรวจสอบ เงื่อนไขต่างๆ ตลอดจนค่าธรรมเนียมที่ต้องเสีย

สาม มองตัวเอง ในเรื่องการเงิน ให้ลองล้วงกระเป๋าตัวเองดูว่ามีเงินจำนวนเท่าไหร่ ควรลงทุนซื้อแฟรนไชส์ราคาประมาณไหน รวมถึงดูความชอบ เช่น ถ้าไม่ชอบกาแฟ แต่เลือกซื้อแฟรนไชส์ร้านกาแฟ เมื่อต้องอยู่กับมันทุกวันก็อาจทำให้ทรมานและไม่มีความสุข แต่ถ้าเป็นความชอบก็จะมีความพยายามและทำให้สำเร็จ แม้จะซื้อแฟรนไชส์มาก็ตาม อีกทั้งต้องมีการศึกษาหาความรู้ ต้องมีความสามารถ และทีมงานที่พร้อม

“การเลือกซื้อแฟรนไชส์ เป็นการเริ่มต้นธุรกิจไม่ใช่จากศูนย์ แต่เป็นการต่อยอดความสำเร็จของแฟรนไชส์นั้นๆ ซึ่งควรเป็นธุรกิจที่แตกต่างและโดดเด่นในตลาด เช่น การนำนวัตกรรมมาพัฒนาโปรดักต์ อย่างขนมเปี๊ยะแบรนด์หนึ่ง จากวงกลมเอามาทำเป็นสี่เหลี่ยม และเรียกตัวเองเป็นเบเกอรี่ หรือชานมไข่มุกที่ถูกนำมาพัฒนาเป็นชานมคอลลาเจน สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้โดดเด่นขึ้นมาได้ในตลาด เป็นต้น” อาจารย์อมร ระบุ

และว่า สิ่งที่ธุรกิจแฟรนไชส์จะขาดไม่ได้ นั่นคือ ความรู้หรือโนว์ฮาวที่เป็นระบบ มีคู่มือปฏิบัติงาน คู่มือบริหาร และคู่มือทุกอย่างที่ทำแล้วประสบความสำเร็จมาก่อน และสิ่งที่จะบอกว่าธุรกิจนั้นสำเร็จหรือไม่สำเร็จ อยู่ที่งบกำไรขาดทุน ต้องถามยอดขายเฉลี่ยต่อสาขา ต้นทุนกี่เปอร์เซ็นต์ ค่าแรง จำนวนทีมงาน ค่าเช่าที่ และมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกหรือไม่ ควรถามให้หมด แล้วดูว่าสุดท้ายแล้วเหลือเท่าไหร่

“ผู้ลงทุนต้องการธุรกิจที่ทำกำไรและคืนทุนเร็ว จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบจะลงทุนกับแฟรนไชส์รายไหน เรื่องผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจก็สำคัญ ยิ่งถ้าได้คุยกับเจ้าของยิ่งดี สุดท้าย ต้องเป็นธุรกิจที่มีการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยดูวิสัยทัศน์ของแฟรนไชซอร์ ถ้ามีการพัฒนาปรับปรุงอยู่ตลอดก็จะทำให้ธุรกิจปลอดภัยอยู่ในโซนสีเขียว” กูรูท่านเดิม สรุป