ปรับตัวอย่างไร ให้อยู่รอด อย่างยั่งยืน ซีอีโอระดับชาติ ชี้ทางออก

ปรับตัวอย่างไร ให้อยู่รอด อย่างยั่งยืน ซีอีโอระดับชาติ ชี้ทางออก

จากการเสวนา หัวข้อ “ปรับตัวอย่างไร ให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในงานมหกรรมด้านความยั่งยืน หรือ SX 2023 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อเร็วๆนี้

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า ในยุคอุตสาหกรรม 2.0 ผู้นำองค์กรเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง แต่ในโลกยุคต่อไป ผู้นำเหล่านี้จะกลายเป็นผู้สนับสนุน และคนรุ่นใหม่จะเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เนื้อหาเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีถึง 17 เป้าหมาย (Sustainable Development Goals) ควรจะถูกบรรจุเข้าไปในระบบการศึกษาของทั้งโลก

นอกจากนี้ กระบวนการเรียนการสอน ควรปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการเรียนรู้จากการลงมือทำ หรือการเรียนรู้จากการทำโครงงาน โดยเรียนรู้จากปัญหาต่างๆ ที่มีมากมาย และทำงานเป็นทีม

“Project-based Learning จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และจับต้องได้ เพราะเด็กจะรับรู้จากการสอนได้แค่ 20% อีก 80% จะรับรู้ได้จาก Action-based ฉะนั้น ถ้าเราบรรจุเรื่องความยั่งยืนเข้าไปในระบบการศึกษา จะช่วยเสริมสร้าง Ethics แล้วใช้เทคโนโลยีบนหลัก Ethics ซึ่งจะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นว่า Crime ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน คือ Cybercrimes” คุณศุภชัย กล่าว

และว่า อีกวิชาที่ควรบรรจุเข้าไปในหลักสูตรคือ Computer Science เพราะเป็นยุคของเทคโนโลยี AI ที่คนรุ่นใหม่ต้องการใช้ หากมีการเปลี่ยนกรอบความคิดของคนรุ่นใหม่ในเรื่องความยั่งยืนให้อยู่ในดีเอ็นเอ ผนวกกับการใช้ AI ก็จะทำให้เกิดศักยภาพอย่างมากที่จะนำพาโลกอนาคตให้รอดและเจริญรุ่งเรืองได้ ทั้งนี้ ครูก็จะต้องเปลี่ยนกรอบความคิดจากการเป็นผู้สอน ไปเป็นผู้สนับสนุนด้วย

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด

อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีเป็นดาบสองคม ถ้าใครใช้เป็นก็กลายเป็น Super Human แต่ต้องมี Ethics ด้วย เพราะหลักของความยั่งยืน คือ คุณธรรมและจริยธรรม ยิ่งไปกว่านั้นคือ Compassion ซึ่งตามหลักพุทธศาสนา หมายถึงความเมตตา

คุณศุภชัย กล่าวอีกว่า นอกจากความตระหนักรู้แล้ว นวัตกรรม ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ถ้าไม่มีเป้าหมายในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน จะทำให้นวัตกรรมไม่เกิดทั้งในระดับผู้บริหารและพนักงาน

นอกจากนี้ กลไกตลาด เป็นอีกปัจจัยในการขับเคลื่อนความยั่งยืน ถ้ามีมาตรการจูงใจ และการยอมรับ จากภาครัฐ เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงได้เร็วยิ่งขึ้น

ด้าน คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ทุกองค์กรในภาคอุตสาหกรรมต่างเจอวิกฤตและความท้าทายเหมือนกัน ฉะนั้น สิ่งที่ทุกต้องทำคือ ทำอย่างไรจะรอด และเมื่อรอดแล้วจะต้องปรับตัวอย่างไรให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นและมีการเติบโตด้วย วิกฤตจะทำให้คนวิ่งเร็วขึ้น เพราะถ้าองค์กรใดไม่ลงมือทำก็จะไม่รอด

คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย Inflation Reduction Act เพื่อผลักดันการพัฒนาด้านพลังงานยั่งยืน โดยใช้เงินงบประมาณสูงถึง 900 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยสนับสนุนการลงทุนเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มีการย้ายฐานการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เข้าไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก จากเดิมเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่จูงใจการลงทุน เนื่องจากต้นทุนค่าแรงงานสูง จึงถือได้ว่าสหรัฐอเมริกาเป็นคนจุดประกายเรื่องการส่งเสริมลงทุนด้านความยั่งยืน

“การทำให้อยู่รอดอย่างยั่งยืนไม่มีทางลัด ประการแรกคือ ผู้นำต้องสู้ และให้เวลาในการดำเนินการ เพราะ Fighting Spirit ไม่มีทางลัด มีอยู่ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความมุ่งมั่น เวลา และการปรับปรงุให้ดีขึ้น ถ้าทำให้คนในองค์กรคิดในลักษณะเดียวกันได้ ก็จะประสบความสำเร็จได้” คุณรุ่งโรจน์ กล่าว

ส่วน คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า งานมหกรรมด้านความยั่งยืน หรือ SX 2023 เป็นสัญญาณให้เห็นชัดเจนว่าทุกฝ่ายให้ความสนใจเรียนรู้และช่วยกันลงมือทำ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนในช่วงอายุ 18-35 ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60%

อย่างไรก็ตาม หากมองถึงแรงงานในอนาคต จะเห็นว่ารูปแบบการทำงานในปัจจุบันยังไม่ค่อยได้รับการตอบรับ ไม่ค่อยได้รับความสนใจ หรือตอบสนองตามความต้องการของคนรุ่นใหม่ เช่น การบอกคนรุ่นใหม่ให้อดทนไว้ ค่อยๆ เรียนรู้แล้วจะประสบความสำเร็จเอง แต่เด็กรุ่นใหม่จะไม่เข้าใจ เพราะเด็กรุ่นใหม่จะเรียนรู้อะไรเป็นอย่างๆ และพยายามทำให้ตนเองได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

ฉะนั้น เมื่อพูดเรื่อง Future Workforce จะต้องค่อยๆ เปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบที่เป็น Project-based System เพื่อให้มีส่วนร่วม และสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดในระยะเวลาสั้นลง สามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้ มีความก้าวหน้าในอาชีพ และจะก่อให้เกิด Disruption ขึ้นในองค์กร

คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

“การเปลี่ยนแปลงที่ยากที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรที่ขยับเขยื้อนยากและช้า ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ผู้บริหารจะต้องเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ไทยเบฟฯ กล่าว

และชี้ว่า ในอดีตการดำเนินธุรกิจจะอยู่ในรูปแบบ Industry Consolidation ซึ่งหมายถึงการมีทักษะความชำนาญที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนั้นๆ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ จะเห็นรูปแบบ Cross-industry Consolidation เกิดขึ้นมากมาย จึงเป็นคำถามสำหรับองค์กรทั้งขนาดเล็กและใหญ่ว่า จะมีความร่วมมือกันได้มากน้อยแค่ไหนเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ไม่ใช่แค่รวมพลังกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย

“ที่ผ่านมา เราจะพูดถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP (Public-Private Partnership) แต่ปัจจุบัน ต้องเพิ่มเป็น PPPP (Public-Private-People Partnership) ซึ่งผมเชื่อว่า Partnership Model จะเป็นตัวพลิกกระดานในการดำเนินธุรกิจ โดยจากนี้ไปอีกประมาณ 2 ปี จะเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอีกมากมาย” คุณฐาปน กล่าว

และว่า นับตั้งแต่มีการรวมตัวกันจัดตั้งเครือข่ายซัพพลายเชนแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Supply Chain Network (TSCN) เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการกับซัพพลายเออร์ วันนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทุกคนจะมาช่วยกันมองว่าจะสามารถขยับไปด้วยกันได้ในระดับภูมิภาค เติบโตไปด้วยกัน และมีโอกาสเชื่อมโยงกับพาร์ตเนอร์ระดับโลกได้อย่างไร ในรูปของทีมไทยแลนด์

หากมองว่า TSCN is Collaboration Platform เป็นกระดานที่ทำให้ผู้บริหารทุกระดับมาเจอกัน ใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่การมาเจอกันปีละครั้งถือว่าน้อยมาก ดังนั้น ซีอีโอหลายคนจะมีการพูดคุยและตกลงกันถึงกรอบทิศทางว่า สมาชิก TSCN จะมีความร่วมมือกันเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้มากขึ้นได้อย่างไร

บริษัทในซัพพลายเชน ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก มิติความยั่งยืนเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกคน เพราะว่าสถานะธุรกิจที่กำลังจะเดินไปข้างหน้าจะต้องเผชิญกับประเด็นที่มีความท้าทายทางด้านต้นทุนการเงิน ซึ่งระบบการเงินของโลกกำลังจะสะท้อนในมิติของความยั่งยืน