สรุปรวมงาน LINE Conference Thailand 2023 ไลน์ลุยพัฒนา ‘กรุ๊ปแชต’ ตอบโจทย์เรื่องการทำงานและ SMEs

สรุปรวมงาน LINE Conference Thailand 2023 ไลน์ลุยพัฒนา ‘กรุ๊ปแชต’ ตอบโจทย์เรื่องการทำงานและ SMEs

LINE ประเทศไทย กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ในงานสัมมนาด้านเทคโนโลยี LINE Conference Thailand 2023 หรือ #LCT23 พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ ทิศทาง และกลยุทธ์ก้าวต่อไปในการพัฒนาและดำเนินการด้านเทคโนโลยีใหม่แห่งปี สู่การเป็น “แพลตฟอร์มเปิดเพื่อคนไทย”

โดย ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย เปิดเผยว่า กว่า 12 ปีที่ LINE ประเทศไทย เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน ภายใต้พันธกิจ “Closing the Distance” ผ่านแพลตฟอร์มและบริการที่มีผู้ใช้งานกว่า 54 ล้านคน ตอกย้ำการเป็นโครงสร้างพื้นฐานชีวิตในยุคดิจิทัล (Life Infrastructure) พร้อมผลักดันจุดแข็งแห่งการมีทีมนักพัฒนาประจำประเทศไทย ที่จะเป็นบันไดสู่อนาคตขั้นถัดไปของนวัตกรรมในการขับเคลื่อน Smart Country ด้วยเทคโนโลยี Hyper-Localized เพื่อ “เปิดโอกาส” ให้คนไทยเติบโตในยุคดิจิทัลได้ในหลากหลายมิติอย่างมั่นคงและยั่งยืน 

ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย
ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย

ไม่ทิ้งจุดแข็ง Group Chat เล็งพัฒนาโซลูชันเพื่อการทำงาน

ภายในงาน นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ยังได้เผยถึงบริการพื้นฐานอย่าง ‘แชต’ ที่เป็นจุดแข็งของ LINE ซึ่งยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะ Group Chat ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนไทย สะท้อนจากสถิติการเติบโตที่สูงขึ้นกว่า 56% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และอัตราการส่งข้อความประเภทต่างๆ ทั้งรูปภาพ ไฟล์ เสียง และวิดีโอ มีอัตราการเติบโตสูงกว่าประเทศอื่นทั่วโลก 

นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO)
นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO)

โดยผลสำรวจจาก LINE ประเทศไทย พบว่า หมวดหมู่ Group Chat ยอดนิยม ได้แก่ 

  • กลุ่มเพื่อน 82% 
  • ครอบครัว 80% 
  • ที่ทำงาน 77% 
  • และโรงเรียน 27% 

สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของกลุ่มผู้ใช้และวิธีการใช้งาน ซึ่งผู้ใช้กว่า 77% ระบุว่า กลุ่มแชตครอบครัวช่วยให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างช่วงวัยมากขึ้น

สำหรับผู้ใช้งานจะเริ่มตั้งแต่ กลุ่มอายุ 15-19 ปี มีการใช้งานมากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 50 ขึ้นไป ซึ่งคนไทยมี Group Chat ในที่ทำงานเฉลี่ยอย่างต่ำ 9 กรุ๊ป มีการเข้าใช้งานตลอด 7 วันทั้งสัปดาห์ โดยมีการใช้งานต่อวันสูงถึง 83% 

มีการส่งรูปภาพ 68% ตามด้วยไฟล์งาน 67% เสียง 33% และวิดีโอ 21% ซึ่งเติบโตสูงกว่าประเทศอื่นทั่วโลก 

ในขณะเดียวกัน Group Chat ยังสามารถช่วยให้กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น ส่งผลให้เกิดสังคมการทำงานที่มีประสิทธิภาพกว่าในอดีต นำมาสู่ความมุ่งมั่นในการพัฒนาโซลูชันที่ตอบโจทย์ Work Group สำหรับคนไทย เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการทำงาน การใช้ชีวิต และครอบครัว Work-Life-Family Balance อีกทั้งเพิ่ม Productivity และลดปัญหาที่ไม่ตอบโจทย์การทำงานโดยเฉพาะ เช่น การนัดหมายงาน การจัดเก็บไฟล์ 

นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัว LINE STICKERS PREMIUM บริการสติกเกอร์จ่ายรายเดือน/รายปี สำหรับคนไทย อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการเลือกใช้งานชุดสติกเกอร์ได้หลากหลายและคุ้มค่ายิ่งขึ้น

โดย LINE STICKERS PREMIUM มี 2 แพ็กเกจ

Basic เข้าถึงได้ 9 ล้านสติกเกอร์, มี AI ช่วยแนะนำสติกเกอร์ที่ชอบ ราคา 69 บาท/เดือน และ 699 บาท/ปี

Deluxe เข้าถึงได้ 9 ล้านสติกเกอร์, มี AI ช่วยแนะนำสติกเกอร์, เข้าถึงธีมได้ 1.5 ล้านธีม และ 1.2 แสนอีโมจิ ราคา 139 บาท/เดือน และ 1,300 บาท/ปี

สามารถใช้งานได้แล้ววันนี้เป็นต้นไป

นายวีระ เกษตรสิน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ (CPO)
นายวีระ เกษตรสิน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ (CPO)

เปิดวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีแห่งปีครั้งแรกของ LINE ประเทศไทย 

นายวีระ เกษตรสิน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ (CPO) กล่าวว่า LINE ประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะองค์กรเทคฯ เพื่อคนไทย โดยในช่วง 5 ปีจากนี้ LINE จะมุ่งสู่การเป็น “แพลตฟอร์มเปิด” นำมาซึ่งผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทย ทั้งในด้านผู้ใช้งาน ธุรกิจ และพันธมิตร 

โดยอาศัยแนวคิดตั้งต้นจากทีมงาน LINE ประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการสำหรับตลาดไทยโดยเฉพาะ ผ่าน 4 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ 

1. Extensive Plug-Ins เปิดการเชื่อมต่อกับระบบหรือโซลูชันอื่นๆ อย่างหลากหลาย ทั้งโซลูชันที่คิดค้นเพิ่มเติมโดย LINE เอง และระบบที่พาร์ตเนอร์หรือนักพัฒนาทั่วไปได้พัฒนาขึ้นมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ชาวไทยในมิติที่กว้างและลึกขึ้น

2. Data Utilization ส่งเสริมให้พันธมิตรและนักพัฒนาสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างไร้รอยต่อ นำไปสู่การใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตได้อย่างแท้จริง 

3. Performance Marketing เพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาดบนแพลตฟอร์ม ด้วยศักยภาพการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลที่แข็งแกร่งขึ้น สร้างการเติบโตให้ภาคธุรกิจผ่านโซลูชันต่างๆ ของ LINE ได้อย่างยั่งยืน

4. Privacy Focused คงไว้ซึ่งการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อย่างเคร่งครัด

ปู 3 โรดแมป ยกระดับเทคโนโลยี 

1. Customer Data Tools เพิ่มขีดความสามารถในจัดการข้อมูลลูกค้าผ่านเครื่องมือ MyCustomer ในการเก็บรวบรวม 1st Party Data ของผู้บริโภค โดยให้อำนาจร้านค้าในการเข้าถึงและจัดการข้อมูลได้มากกว่าที่เคย ภายใต้ขอบเขตการยินยอมจากผู้บริโภคตามกฎหมาย โดยมีแผนการเปิดตัว MyCustomer สำหรับกลุ่มธุรกิจรายย่อย (SMEs) และในอนาคต สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการทำ CRM โดยเฉพาะ

2. Ads Improvement ปรับปรุงเครื่องมือสำหรับการโฆษณาบน LINE ให้สามารถวิเคราะห์ ประยุกต์ใช้ข้อมูลที่แบรนด์ได้มาเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น อาทิ การเพิ่ม Segment ในการหากลุ่มเป้าหมายผ่าน Persona Targeting ให้เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น และการเปิดให้ภาคธุรกิจ ร้านค้า สามารถนำข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคบน LINE SHOPPING มาวิเคราะห์แบ่งกลุ่ม เพื่อการยิงโฆษณาผ่าน LINE ADS ได้แม่นยำและครอบคลุมขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น

3. API & Plug-In เปิดขยายการเชื่อมต่อ API ให้มีความหลากหลายและตอบโจทย์เฉพาะด้านได้อย่างครอบคลุมขึ้น อาทิ LINE SHOPPING API, Messaging API รวมถึงแผนการเปิดตัว LINE OA Plus Plug-in Store แหล่งรวมโซลูชันสำหรับนักพัฒนานอกองค์กร LINE ในการนำเสนอโซลูชันใหม่ๆ และยังเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย ในการมองหาโซลูชันให้ตรงกับความต้องการ

LINE ประเทศไทย มุ่งเน้นพัฒนาโซลูชันและบริการต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านของคนไทย ผ่านโอกาสที่เปิดกว้างบน LINE ให้นักพัฒนาทั้งในและนอกองค์กรได้มีส่วนร่วมบนแพลตฟอร์มเปิดแห่งนี้ สู่การขับเคลื่อนประเทศ พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตผู้คนด้วยเทคโนโลยีอย่างไร้ขีดจำกัด