AI ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่คือผู้ช่วยต่อยอดสิ่งใหม่ เพิ่มความรู้ ความสามารถ ให้มนุษย์

พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร นักเทคโนโลยีจาก MIT Media
พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร นักเทคโนโลยีจาก MIT Media

AI ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่คือผู้ช่วยต่อยอดสิ่งใหม่ เพิ่มความรู้ ความสามารถ ให้มนุษย์

ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เริ่มเข้ามามีส่วนในการทำงานที่หลากหลายมิติมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ งานกราฟฟิก งานเขียน งานดนตรี ส่งผลให้คนทำงานสร้างสรรค์เริ่มมีความกังวล และตั้งคำถามมากมายว่า AI จะเข้ามาทดแทน หรือส่งผลกระทบต่อสายงงานอาชีพมากแค่ไหน

ล่าสุด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้จัดงาน Creativities Unfold 2023 งานชุมนุมทางความคิดสร้างสรรค์ครั้งใหญ่ประจำปี ภายใต้งาน CREATIVE BUSINESS CONNEXT โดยได้มีการเชิญผู้นำความคิดในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น ภายใต้ธีม VISIONAIRE: Reminisce/The Way Forward-แปลงอดีต เปลี่ยนวิสัยทัศน์อนาคต

หนึ่งในนั้นคือ พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร จาก MIT Media Lab นักเทคโนโลยี นักวิจัย ผู้ลุ่มหลงการผนึกกำลังของมนุษย์และ AI ได้มาแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับ AI ในหัวข้อ Human+AI for the Future of Entertainment & Storytelling ได้อย่างน่าสนใจ

Photography Courtesy of CEA and Pat Pataranutaporn
Photography Courtesy of CEA and Pat Pataranutaporn

AI กับการปลดล็อกความสามารถใหม่ๆ

สำหรับพัทน์แล้ว AI (Artificial intelligence) ไม่ต่างจากเครื่องมือต่างๆ ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อทดแทนลักษณะทางกายภาพที่ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แต่เขามองในมุมของ IA หรือ Intelligence Augmentation ที่เป็นการนำ เทคโนโลยีเอไอมาช่วยเสริมความสามารถของมนุษย์ โดยเป็นผู้ช่วยที่มุ่งพัฒนาความอัจฉริยะให้มนุษย์เรา พัฒนาความฉลาดของมนุษย์ให้ก้าวหน้า

พัทน์เชื่อว่า AI จะช่วยปลดล็อกความสามารถใหม่ๆ ได้มากมาย ตั้งแต่ความสามารถในการตัดสินใจที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย Human-AI Symbiosis, สุขภาพที่ดีขึ้นด้วย Closed-Loop Wearables, ความสามารถในการค้นพบตัวตนด้วย Virtual Human และการเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ด้วย AI Generated Character

Photography Courtesy of CEA and Pat Pataranutaporn
Photography Courtesy of CEA and Pat Pataranutaporn

เมื่อมนุษย์และ AI ผนึกกำลังจนเกิดเป็นผลงานสุดสร้างสรรค์

แม้ว่าบทบาท AI จะเพิ่มผลมากขึ้นในการทำงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานของมนุษย์และ AI มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งพัทน์ได้โชว์ถึงผลงานการทำงานร่วมกันของมนุษย์ กับ AI ที่น่าทึ่งเอาไว้ ได้แก่ “Making Food with the Mind : Connecting Food 3D Printer with BCI” ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์อาหารที่ผลิตตามความต้องการของคน โดยอ่านจากคลื่นสมอง โดยใช้อัลกอริทึมของแมชชีนเลิร์นนิ่งที่ได้รับการฝึกฝนผ่านฐานข้อมูลคลื่นสมองไฟฟ้า ในการตรวจจับอารมณ์ของผู้ใช้และประมวลผลเป็นรูปลักษณ์และปริมาณของอาหาร

และผลงานที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ “Lab on Body” เครื่องมือเพื่อตรวจร่างกายที่ใช้งานร่วมกับ BioFab อวัยวะชีวดิจิทัลที่สามารถจัดการโปรแกรมการรักษาเยียวยาในอวกาศ รวมไปถึงเยียวยาปัญหาสุขภาพจิตได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ตัวละครที่สร้างโดย AI Generated Character โดยผู้สอนสามารถเปลี่ยนคาแรคเตอร์ตนเองเป็นศิลปินดัง เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้เรียนได้ ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีในห้องเรียน ทำให้นักเรียนกล้าที่จะโต้ตอบได้อีกด้วย และสำหรับการศึกษาในเรื่องของการใช้เหตุผลและการตัดสินใจร่วมกันของมนุษย์และ AI หรือที่เรียกว่า Human-AI co-reasoning

AI ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างที่คิด

จากตัวอย่างผลงานของพัทน์ ที่นำศักยภาพของมนุษย์มาผสานกับความสามารถของ AI จนเกิดเป็นผลงานที่สร้างสรรค์นั้น ทำให้เห็นได้ว่า ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ไม่ควรกลัว AI เพียงเพราะคิดว่ามันจะมาแทนที่มนุษย์ แต่จงใช้ Human + AI ในการช่วยขยายมุมมองเพื่อเพิ่มความรู้ ความสามารถ อาทิ นำเสนอไอเดียใหม่ๆ สร้างภาพจินตนาการถึงการทำอาชีพต่างๆ ในอนาคตของตนเองได้ และใช้เป็นไทม์แมชชีน ด้วยการนำข้อมูลปัจจุบันจากความทรงจำของตัวเอง มาช่วยตัดสินใจในเรื่องของอนาคต รวมถึงนำไปต่อยอดสิ่งใหม่ได้อย่างไร้ขีดจำกัด

ซึ่งในปัจจุบัน พัทน์กำลังคิดค้นสิ่งที่เหนือกว่า Metaverse อย่าง ภาพพิมพ์ตึกที่เปลี่ยนแปลงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้ รวมถึงวิศวกรรมด้านการช่วยให้เราไม่ฝันร้าย ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ต่างๆ ให้เข้ากับมนุษย์ ซึ่งในอนาคตอาจเกิดขึ้นจริง เพราะ AI นั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ทุกคนคิด