พลาสติก ที่ทิ้งไป โทษภัยตามมามากมาย แล้วทำไมคนไทย ไม่แยกขยะ

พลาสติก ที่ทิ้งไป โทษภัยตามมามากมาย แล้วทำไมคนไทย ไม่แยกขยะ

เจ้าโควิดตัวดี ทำให้คนไทยอยู่บ้านกันมากขึ้น ร้านอาหารดีลิเวอรีผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ไม่มีหน้าร้านก็ขายของได้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดี ใครว่างงานไม่รู้จะทำอะไร ผัดก๋วยเตี๋ยวเป็น อร่อย ก็พอหาเลี้ยงชีพได้แล้ว แต่ไอ้ที่แย่คือทุกเจ้าใช้กล่องพลาสติก ถุงพลาสติกกันหมด ไม่มีอะไรมาทดแทนได้จริงๆ

ไม่ให้เขาใส่พลาสติกแล้วจะไปใส่อะไร ถึงแม้ว่าพลาสติกบางอย่างจะนำไปรีไซเคิลได้ แต่คนไทยไม่แยกขยะ เลยปรากฏว่าอัตรานำพลาสติกไปรีไซเคิลมีแค่ 25% ของขยะทั้งประเทศ อีก 75% ทิ้งฝังที่กันอยู่

ขยะของแต่ละบ้านในแต่ละวัน ไปคุ้ยดูเถอะครับ ต้องมีกล่องพลาสติก ถุงพลาสติก หนังยาง ทิ้งรวมไปกับเศษอาหารและขยะอื่นๆ จะหวังให้คนเก็บขยะ หรือทางการไปคัดแยกขยะได้ 100% คงเป็นไปไม่ได้

คนไทยจะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ก็ไม่รู้ได้ ที่จะคิดว่าขยะพลาสติกที่เรากำจัดออกไปจากบ้านหรือส่งไปกับร้านดีลิเวอรีแล้วมันไปไหน เกิดโทษอะไรขึ้นบ้าง การใช้กล่องพลาสติกรีไซเคิล ช่วยลดขยะพลาสติกได้จริงไหม

โทษของ พลาสติก ที่ทิ้งไป

หนึ่ง แน่ๆ มันรกครับ เป็นขยะทับถมเปื้อนขี้ขยะ ขี้ดิน ไม่มีใครชอบ ปลูกพืชอะไรก็ไม่ได้ พอฝนตกขยะพลาสติกก็ลอยไปตามน้ำ อุดตันท่อ แล้วมันเยอะจริงๆ ลอกท่อแต่ละครั้งต้องเจอขวดพลาสติก ถุงพลาสติก หลอด กล่องพลาสติก มันไม่ได้ลอยไปใกล้ๆ แค่แม่น้ำเจ้าพระยาแต่ออกไปถึงอ่าวไทย มหาสมุทรโน่น ชายทะเลบางแสน พัทยา ภูเก็ต เห็นขยะพลาสติกทั้งนั้น

พลาสติก มีอัตราย่อยสลายถึง 450 ปี หรือเราเกิดใหม่ประมาณ 6 รอบ โฟมไม่ย่อยสลายอยู่ไงอยู่งั้น พวกปลาพวกเต่าก็ชอบกินพลาสติก คงคิดว่าเป็นอาหารใหม่เคี้ยวสนุกดี เลยไปอุดตันในท้อง เกยหาดตายเป็นแถว

สอง ขยะพลาสติกในน้ำ ในดิน และลอยตุ๊บป่องในท้องทะเล มหาสมุทร ถึงแม้มันจะย่อยสลายช้า แต่ระหว่างทางมันก็ย่อยสลายปล่อยสารพิษที่ใช้ทำพลาสติกออกไปกับน้ำและดิน บางส่วนเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “นาโนพลาสติก” คือ พลาสติกขนาดเล็กมากๆ ปลา ปู หอย กินเข้าไป ในดินพืชดูดซึมนึกว่าเป็นแร่ธาตุพิเศษ สัตว์ก็กิน

เราก็กินทั้งทางตรงทางอ้อม แน่นอนว่า สารพิษและนาโนพลาสติก เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ตายเร็ว ตายช้า อาจจะเป็นต้นเหตุของหลายโรค มะเร็ง โรคเสื่อมของอวัยวะต่างๆ

สาม เอาขยะพลาสติกไปเผา ไม่ได้เลยครับ มันกลายเป็นสารพิษกระจายอยู่ในอากาศ แย่ลงไปอีก ที่อินเดีย ประกาศห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ส่วนของไทย ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ปี 2565 ที่ผ่านมา ตั้งเป้าว่าลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง กล่องโฟม แก้วพลาสติกแบบบาง และหลอดพลาสติก ปี 2570 ถึงจะนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100%

ปีนี้กลางปี 2566 ผมยังเห็นร้านกาแฟใช้หลอดพลาสติกกันเกร่อ ไม่รู้ไปลดตรงไหน ที่อินเดีย พอคำสั่งนี้ประกาศใช้ทันทีเล่นเอาวุ่นวายไปทั่ว เพราะยังไม่มีวัสดุย่อยสลายทดแทนพลาสติกผลิตออกมาให้ใช้แทนกันได้เพียงพอ ที่สำคัญ มันยังราคาแพงกว่าด้วย

และปัญหาก็เหมือนเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน ที่ส่งเสริมให้เลิกใช้ถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ผลปรากฏ คือ ร้านขอเก็บค่าถุงย่อยสลายเพิ่ม ถ้าจะใส่ถุงหรือเอาถุงกระดาษ ไม่งั้นต้องเอาถุงผ้าไปเอง ถุงกระดาษยังรองรับน้ำหนักไม่ได้เยอะ ใส่ทุเรียนมีหนามหนัก 2 กิโล เห็นจะไม่ไหว

เป็นอย่างนี้ ร้านอาหารฟู้ดดีลิเวอรี จะช่วยกันเป็น “ฟู้ดดีลิเวอรีสีเขียว” ได้ยังไง

 

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2566