ส่งออกผลไม้ไทย ปี 66 ภาพรวมเติบโตได้ โดยเฉพาะ ผลไม้สด แช่เย็นและแช่แข็ง

ส่งออกผลไม้ไทย ปี 66 ภาพรวมเติบโตได้ โดยเฉพาะ ผลไม้สด แช่เย็นและแช่แข็ง
ส่งออกผลไม้ไทย ปี 66 ภาพรวมเติบโตได้ โดยเฉพาะ ผลไม้สด แช่เย็นและแช่แข็ง

ส่งออกผลไม้ไทย ปี 66 ภาพรวมเติบโตได้ โดยเฉพาะ ผลไม้สด แช่เย็นและแช่แข็ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้มูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 66 จะเติบโตดี เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลส่งมอบผลไม้ที่สำคัญของปี ประกอบกับการกลับมาขยายตัวของการส่งออกผลไม้สดจากฐานที่ต่ำในปีก่อน

รวมถึงมีการเพิ่มการส่งออกผลไม้ไปยังตลาดใหม่ๆ แต่ด้วยเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัว โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ ตลอดจนผลจากสภาพอากาศที่แปรปรวน อาจกดดันให้อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วงที่เหลือของปีชะลอลง

ส่งผลให้ภาพรวมมูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยตลอดปี 66 อาจอยู่ที่ 7,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวราว 2.3%YoY โดยกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ กลุ่มผลไม้สด แช่เย็นและแช่แข็ง จากการส่งออกไปยังตลาดจีนที่กลับมาขยายตัวได้ดี ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มหดตัว ได้แก่ กลุ่มผลไม้กระป๋องและแปรรูป เนื่องจากคำสั่งซื้อของตลาดคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปปรับลดลง

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกผลไม้ การจัดการต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะจากวัตถุดิบอาหารและแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันเฉลี่ยเกือบ 80% ของต้นทุนรวม จะยังเป็นโจทย์ต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

โดยสภาพอากาศที่แปรปรวน อุณหภูมิโลกและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนปรากฏการณ์เอลนีโญ จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำของธุรกิจผลไม้ โดยเฉพาะในกลุ่มผลไม้กระป๋องและแปรรูป  

ขณะที่ต้นทุนแรงงานยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากค่าแรงขั้นต่ำที่คาดว่าจะปรับขึ้นภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ท่ามกลางการขาดแคลนแรงงานและการแย่งแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต  ส่งผลให้ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว ทั้งการเพิ่มทักษะและผลิตภาพแรงงาน รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตเพื่อทดแทนแรงงาน ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวล้วนมีผลต่อต้นทุน

นอกจากนี้ ต้นทุนด้านอื่นๆ ที่คาดว่าจะยังยืนตัวสูง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนสาธารณูปโภคและต้นทุนทางการเงิน ยังอาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า ส่งผลให้การประกอบธุรกิจผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้กระป๋องและแปรรูปจึงมีความซับซ้อนและท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการขนาดย่อมและรายย่อย ซึ่งมีจำนวนมากแต่ผลประกอบการส่วนใหญ่ยังคงมีกำไรน้อยหรือขาดทุน ดังนั้น ความสามารถในการเพิ่มยอดขายหรือทำกำไร จึงเป็นโจทย์ของธุรกิจภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง