ChatGPT ปัญญาประดิษฐ์ เปลี่ยนแปลงโลก ทำให้คน ตกใจ หรือ ตกงาน

ChatGPT ปัญญาประดิษฐ์ เปลี่ยนแปลงโลก ทำให้คน ตกใจ หรือ ตกงาน

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะนักวิจัยจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ ได้เผยแพร่บทความด้านวิชาการ เกี่ยวกับ เทคโนโลยี ChatGPT มีเนื้อหาน่าสนใจ สรุปได้พอสังเขป ดังนี้

ChatGPT เป็นแอปพลิเคชัน ที่มีผู้ใช้ที่เติบโตเร็วที่สุด มียอดคนเข้าถึงมากที่สุดทั่วโลกในเวลาน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีผู้สมัครใช้งาน มากกว่า 100 ล้านผู้ใช้งาน ในระยะเวลาเพียง 2 เดือนหลังจากมีการเปิดตัว และมีผู้เข้าชมถึง 590 ล้านครั้งในระยะเวลา 1 เดือน เอาชนะ TikTok ที่ใช้เวลา 9 เดือน และ Instagram ที่ใช้เวลาถึง 2 ปีในการมีผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านคน

ChatGPT เป็นโมเดลการเรียนรู้ที่มีความสามารถในการสร้างข้อความภาษาธรรมชาติ ที่ดูเหมือนจะเขียนโดยมนุษย์ด้วยการใช้เทคนิค Natural Language Generation หรือ NLG โดย ChatGPT สามารถตอบคำถาม สร้างข้อความ แปลภาษา และทำงานในรูปแบบสนทนาจำลองได้ดี

ถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ คือ Chatbot ที่มาจาก “Chat” และ “Robot” หรือ ซอฟต์แวร์ ทำหน้าที่เหมือนหุ่นยนต์ สามารถพูดคุยตอบคำถามต่างๆ ซึ่งก็คือการ Chat  ได้เหมือนกับการคุยกับคนที่เป็นผู้รู้ หรือเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ส่วนคำว่า “GPT” มาจากคำว่า Generative Pre-trained Transformer ซึ่งเป็นเสมือน “สมอง” ของโปรแกรม Chatbot นี้

นอกจากนี้ คำว่า GPT ได้รวมองค์ประกอบสำคัญ 3 สิ่ง โดยสิ่งแรกคือ คำว่า Generative ซึ่งสะท้อนถึงการเป็น Generative Artificial Intelligence ที่มีความสามารถในการสร้างคำพูด ข้อความ หรือแม้แต่รูปภาพใหม่ๆ ที่แตกต่างและไม่ได้อยู่ในชุดข้อมูลที่ใช้สอนซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ แต่จะต้องมีความเชื่อมโยงกันเพื่อประสิทธิภาพของผลลัพธ์ โดยอ้างอิงการรับคำสั่งจากผู้ใช้งาน ดังนั้น องค์ประกอบนี้ ทำให้ ChatGPT เป็นซอฟต์แวร์ที่มีความ “ครีเอทีฟ” หรือสามารถช่วยงานในด้านที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดี

องค์ประกอบต่อไป คือ คำว่า Pre-trained ที่สะท้อนถึงลักษณะการสร้างซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่ถูก “สอนไว้ล่วงหน้า” หรือ “Pre-trained” แทนการสร้างซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์จากศูนย์ ซึ่งจะทำให้ปัญญาประดิษฐ์ประเภทนี้ สามารถถูกนำไปใช้งานได้ง่ายและรวดเร็ว

แล้วงานประเภทไหนบ้าง ที่จะได้รับผลกระทบจากซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์นี้ คณะนักวิจัย สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงประเด็นนี้ว่า หากอาศัยกรอบแนวคิดจากงานวิจัยของ Erik Brynjolfsson ซึ่งได้สร้างเกณฑ์การประเมิน เพื่อพิจารณาว่าซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ Machine Learning (ซึ่ง ChatGPT ก็จัดอยู่ในประเภทนี้) จะสามารถทำงานหรือกิจกรรมประเภทใดได้ โดยเกณฑ์การประเมินมีทั้งหมด 21 ข้อ

ปรากฏข้อมูลน่าสนใจ ชี้ว่า ChatGPT สามารถช่วยงานได้หลากหลายประเภท ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า งานแทบทุกประเภท ChatGPT จะมีโอกาสที่จะเข้ามาช่วยทำงานในบางส่วน อย่างไรก็ดี ความสามารถของ ChatGPT นั้น ไม่สามารถทำได้ทุกอย่างตาม Job Description ดังนั้น สำหรับอาชีพที่คนไทยทำอยู่เป็นจำนวนมาก มนุษย์ยังคงเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญอยู่ เพราะถ้าขาดมนุษย์ ก็จะไม่สามารถทำงานให้ได้ครบทุกกิจกรรมของงาน

“เราควรมองเทคโนโลยีอย่าง ChatGPT ที่ Ginni Rometty อดีต CEO ของ IBM เคยพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ไว้ว่า ในความเป็นจริง หากมนุษย์มีสติเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง ไม่ต้องกลัว หรือตกใจกับความสามารถของเทคโนโลยี คนที่ตกใจแล้วไม่คิดที่จะเรียนรู้ต่างหากที่อาจตกงาน เพราะจะมีคนทำงานอื่นๆ ที่รู้จักใช้เทคโนโลยี กระทั่งส่งผลให้พวกเขาเหล่านั้น เป็นแรงงานมีผลิตภาพเพิ่มสูง เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน” คณะนักวิจัย สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ