แหล่งท่องเที่ยว สายมู สร้างรายได้หลายพันล้าน แนะสร้างทั่วประเทศ

แหล่งท่องเที่ยว สายมู สร้างรายได้หลายพันล้าน แนะสร้างทั่วประเทศ

เมื่อเร็วๆ นี้ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า พร้อมด้วย นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ที่ปรึกษาพรรค เดินทางไปยัง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อดูต้นแบบเศรษฐกิจสายมู ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคชาติพัฒนากล้า

โดย นายวัชรพงศ์ ได้จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสายมู ของ จ.ฉะเชิงเทรา เชื่อมต่อจากวัดหลวงพ่อโสธร และวัดสมานรัตนาราม โดยได้จัดสร้างพระพิฆเนศองค์ยืน และตลาดชุมชน ขึ้น บริเวณอุทยานพระพิฆเนศคลองเขื่อน

พระพิฆเนศองค์ยืน บริเวณอุทยานพระพิฆเนศคลองเขื่อน

นายกรณ์ กล่าวว่า  ประเทศไทย มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงศรัทธามากมาย หากมีการฟื้นฟูหรือสร้างสตอรี่เรื่องเล่า จะสามารถดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้มากมาย นโยบายของพรรคชาติพัฒนากล้า คือ 1 จังหวัด 1 พันล้านบาท โดยการสร้างแหล่งท่องเที่ยวศักดิ์สิทธิ์ จังหวัดไหนไม่มีสถานที่ที่ดึงความน่าสนใจได้เพียงพอ ก็สร้างขึ้นใหม่ได้ เช่น ที่ จ.ฉะเชิงเทรา นี้ เป็นต้นแบบสำคัญ และสามารถขยายผลต่อไปทั่วประเทศได้ สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนปีละหลายพันล้านบาท

ด้าน นายวรวุฒิ กล่าวว่า ตัวอย่างเศรษฐกิจ​สายมู ที่วัดสมานฯ จากวัดโบราณเล็กๆ​ ไม่มีอะไร เข้าถึงยาก พอสร้างพระพิฆเนศ องค์นอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมา กระทั่งวันนี้ เกิดตลาดนัดพื้นที่ 100 ไร่​ มีร้านค้าชุมชนกว่า 600 ร้าน ขายสินค้าทุกประเภท ทั้งสินค้าเกษตร​ พืชผักผลไม้​ อาหารและสินค้า OTOP ของจังหวัดฉะเชิงเทรา​ เงินสะพัดหมุนเวียนเป็นสิบๆ ล้านต่อวัน เศรษฐกิจ​ดียิ้มออกทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยวสายมู

ด้าน นายวัชรพงศ์ กล่าวว่า วันนี้ทีมงานพรรคชาติพัฒนากล้า ได้มาสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวสายมู รวมทั้งสิ้นประมาณ 60 กิโลเมตร โดยเริ่มจากการสักการะหลวงพ่อโสธร ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้คนมาท่องเที่ยว เพื่อสักการะหลวงพ่อโสธรเป็นจำนวนมาก เนื่องจากอยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นไม่ได้ไปไหนต่อ ตนจึงคิดให้สมาคมชาวฉะเชิงเทรา สร้างพระพิฆเนศองค์ยืนขึ้นที่ ต.บางตลาด อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา

และต่อมาเจ้าอาวาสวัดสมานรัตนาราม ได้สร้างพระพิฆเนศองค์นอนสีชมพูขึ้น เป็นการเชื่อมต่อการท่องเที่ยวแต่ละจุดได้สั้นและครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น พอการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเกิดขึ้น ก็เกิดร้านค้าริมทางและในจุดท่องเที่ยวแต่ละจุด เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น วัดสมานฯ มีร้านค้ากว่า 500 ร้านค้า และตลอดเส้นทางการท่องเที่ยวมีร้านค้าต่างๆ ของชาวบ้าน ทั้งร้านค้าเกษตร ร้านค้าชุมชน ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ เกิดรายได้เข้าสู่ชุมชนปีละไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท