ว่ากันแบบเปิดอก! เอเปค จบแล้ว SMEs ไทย ควรได้ประโยชน์อะไร จากงานนี้

ว่ากันแบบเปิดอก! เอเปค 2022 จบแล้ว SMEs ไทย ควรได้ประโยชน์อะไร จากงานนี้

การประชุมเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ สิ้นสุดลงแล้วด้วยความราบรื่น ถือว่าเป็นความสำเร็จร่วมกันของสมาชิกเอเปคทั้งหมด ที่ต้องการเห็นเอเปคยืนหยัดทำงานท่ามกลางสภาวการณ์โลกที่ผันผวน เพื่อสร้างการเจริญเติบโตและอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย พร้อมกรรมการสมาพันธ์ฯ เข้าพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นในแง่มุมเศรษฐกิจ และอุปสรรคปัญหาต่างๆ กับผู้บริหารเครือมติชน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย
คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย

ช่วงหนึ่ง คุณแสงชัย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ SMEs ไทยควรได้รับ หลังจากจบการประชุม เอเปค 2022 ว่า ควรจะมีเรื่องการเจรจาการค้า การลงทุน ความร่วมมือ เรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค ที่ประเทศไทยกำลังจะทำ และควรที่จะบอกกับสมาชิกเอเปคว่า ไทยเราจะทำเรื่อง BCG ให้เป็นวาระแห่งชาติ

ส่งเสริม BCG และสตาร์ตอัพ เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน ที่เป็นฐานราก

ในการประชุมระดับสุดยอดผู้นำเอเปคในวันแรก นายกฯ ได้นำเสนอแนวคิด เศรษฐกิจ BCG ให้กับเขตเศรษฐกิจ และเน้นว่า จะเป็นแนวทางส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน โดยในประเด็นนี้ คุณแสงชัย ได้ให้แนวทางความคิดเห็นเพิ่มว่า ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรที่จะส่งเสริมเรื่อง BCG และสตาร์ตอัพ เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน ที่เป็นฐานราก จะอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะเป็นห่วงโซ่ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือรายอื่นๆ ขนาดอื่นๆ ของต่างประเทศที่จะมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้

“เรื่องการส่งเสริมให้นักลงทุนจากต่างประเทศจากต่างชาติ ทำเรื่องของ Foreign Direct Investment หรือ FDI ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าจะช่วยผ่อนคลายเรื่องของ Long Term Visa ไปได้ในระดับหนึ่ง อันนี้เราคิดว่าทำยังไงให้เรื่องของเอเปคเป็นเรื่องที่ เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยอะไรต่างๆ สามารถสัมผัสได้ คือบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม อาจจะต้องเข้ามาจัดการเชื่อมโยง ให้เป็นวาระแห่งชาติ กับผู้ประกอบการ ในเรื่องของการค้าชายแดนเพิ่มมากขึ้น”

ลดการนำเข้าต่างประเทศ ผลิตสินค้า-บริการใช้เอง ในประเทศ

คุณแสงชัย ได้ให้แนวทางเกี่ยวกับการพึ่งพาตัวเอง ลดภาระการนำเข้า และใช้ทรัพยากรหมุนเวียนภายในประเทศ “เรามีเศรษฐกิจการค้าชายแดนที่เป็นบวกมาโดยตลอด แต่เอสเอ็มอีเป็นลบในภาพรวม เพราะปัจจัยการผลิตเรายังต้องพึ่งพาต่างประเทศ ตอนนี้จะทำยังไงให้เราจะกลับหลังหันมาดูว่า Circular Economy ไม่ได้เป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนในประเทศอย่างเดียว แต่จะทำยังไงให้เราจะลดการนำเข้าจากต่างประเทศ แล้วเอาสินค้า เอาบริการ สนับสนุนสตาร์ตอัพ เอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ได้ที่มีขีดความสามารถ แล้วผลิตสินค้า-บริการนั้นๆ แล้วมาใช้ภายในประเทศเอง จะดีไหมถ้าเรามีเมกะแพลตฟอร์ม ซูเปอร์แพลตฟอร์ม ที่เป็นของคนไทย แล้วเอาไปทดแทนแพลตฟอร์มของต่างประเทศที่เรายืมจมูกเขาหายใจ เพราะที่ผ่านมา เราใช้แพลตฟอร์มพวกนี้ แล้วเราเสียเงิน แล้วเราก็ไม่ได้ข้อมูลอะไรมาจากแพลตฟอร์มเหล่านี้เลย”

“อย่างพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นร้านอาหาร ภัตตาคาร พึ่งพาดีลิเวอรี่ ถูกเก็บค่าธรรมเนียมจากการจัดส่ง จริงๆ มันเป็นธุรกิจ เราก็เข้าใจนะ 20-30% แพลตฟอร์มต่างๆ 30% ผมถามว่า วันนี้ขายข้าวแกง 50 บาท เขาบอกกำไรยิ่งขึ้น ขายข้าวแกงขายอาหารกำไรเพิ่มขึ้น แต่ 30% เนี่ย ตกอยู่กับเรื่องของการจัดส่ง อีก 20% ใช้ไปกับเรื่องของค่าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นมา พ่อค้าแม่ค้าจะเหลืออะไร ก็ไม่เหลือ นอกจากขึ้นราคา เพราะฉะนั้น ข้าวแกง 50 บาท กำไรเพิ่มขึ้นมันไม่เหลือ มันต้องขึ้นราคา ถึงจะอยู่ได้ สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่ามันต้องมีกระบวนการในการที่จะไปส่งเสริมให้แพลตฟอร์มเหล่านี้เนี่ย ทำยังไงที่จะไปช่วยลดต้นทุน แล้วก็เพิ่มโอกาสทางการขายให้มากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าจะให้ความสำคัญ” คุณแสงชัย กล่าว