สายมู รุ่นใหญ่ ชี้ วงการพระเครื่อง คือ Soft Power เงินสะพัดปีละ 5 หมื่นล้าน

สายมู รุ่นใหญ่ ชี้ วงการพระเครื่อง คือ Soft Power เงินสะพัดปีละ 5 หมื่นล้าน

เอ่ยชื่อ อุ๊ กรุงสยาม คนในวงการพระเครื่อง-พระบูชา แทบไม่มีใครไม่รู้จัก เขาคือผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ความสำเร็จของธุรกิจสายมู เรียกว่าเป็น พี่ใหญ่ แห่งวงการพระเครื่อง เป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ E- commerce พระเครื่อง ในตำนาน www.uamulet.com ตั้งแต่ปี 2545 เรียกว่ามองการณ์ไกล ประชาสัมพันธ์มรดกภูมิปัญญาไทย ผ่านแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ ตั้งแต่ 20 ปีก่อน

อุ๊ กรุงสยาม หรือ คุณวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ปัจจุบันเป็น นายก อบต.บ้านใหม่ อ.มหาราช              จ.พระนครศรีอยุธยา ให้สัมภาษณ์ว่า พระเครื่อง พระบูชา เป็นวัฒนธรรมที่คู่กับวิถีชีวิต ความเชื่อ ความศรัทธาของคนไทยมาโดยตลอด การสร้างพระเครื่อง ถือเป็นการสืบทอด ต่ออายุพระพุทธศาสนา คนโบราณจึงนิยม และใช้เป็นคติในการสร้างพระเครื่อง

ส่วนเรื่องของการซื้อขายหรือมูลค่าพระเครื่อง เพิ่งมาเกิดในยุคสมัยปัจจุบัน คือ ยุครัตนโกสินทร์ราวร้อยปีมานี้ มีการเล่นหาพระเครื่องเป็นของสะสม เลยทำให้ พระเครื่องที่เป็นพระกรุ ที่คนโบราณสร้างไว้ มีมูลค่ามหาศาลต่อทางใจ มีไว้เพื่อความสบายใจ เพื่อความสุขใจ และการสะสมหรือการซื้อขาย ทำให้พระเครื่องเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าจนถึงปัจจุบันนี้

อุ๊ กรุงสยาม

อุ๊ กรุงสยาม บอกต่อว่า ภาพรวมของพระเครื่อง แบ่งเป็นพระเก่ากับพระใหม่ พระเก่าเป็นพระกรุ และพระเกจิอาจารย์ต่างๆ ที่มีมาแต่อดีต ส่วนพระใหม่ คือ การที่ วัดวาอาราม องค์กรต่างๆ มีการสร้างพระใหม่ หรือ วัตถุมงคลขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เช่าบูชา แล้วนำเงินที่ให้เช่าบูชานั้นมาสร้างประโยชน์

เช่น สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน ทุนการศึกษา โบสถ์ วิหาร เสนาสนะต่างๆ ให้กับวัดทั่วประเทศ ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นประโยชน์ ของพระเครื่อง ที่เป็นพระใหม่ ในเชิงธุรกิจ หรือเชิงเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่าพระเครื่องเกี่ยวพันอย่างไรกับโครงสร้างเศรษฐกิจ นายกฯ อุ๊ บอกว่า การสร้างพระใหม่ก็ดี ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจเป็น Value Chain ตั้งแต่คนออกแบบพระ วัตถุดิบต่างๆ การทำพิมพ์ โรงหล่อ โรงเหล็ก โรงปั๊ม คนงาน โรงงานพลาสติก โรงงานที่ขายทองแดง ทองเหลือง เม็ดเงิน ซึ่งมีการเชื่อมโยงธุรกิจตั้งแต่สเกลเล็ก ถึงสเกลใหญ่

สิ่งพิมพ์วงการพระเครื่อง

ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ การประชาสัมพันธ์ต่างๆ เรื่องคนดีไซน์ คนออกแบบสิ่งพิมพ์ หรือปัจจุบันมีเรื่องของเทคโนโลยี มีเรื่องของ เฟซบุ๊ก ไลน์ ขึ้นมาก็ต้องทำอาร์ตเวิร์ก ต่างๆ เพราะฉะนั้น เด็กที่จบมาใหม่ๆ ก็ต้องทำอาร์ตเวิร์ก ในเรื่องของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การขาย พิธีกรรมปลุกเสก อะไรต่างๆ

เหล่านี้ ล้วนแต่มีวงจรของธุรกิจต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่เกี่ยวกับคนอีกจำนวนมาก แม้แต่ Apple หรือ บริษัทมือถือ บริษัทคอมพิวเตอร์ ได้อานิสงส์ รวมถึงธุรกรรมการชำระเงินของธนาคาร ธุรกิจขนส่ง

“เมื่อได้เงินตามวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไปสร้างศาลา ต้องมีการซื้อปูน ซื้อเหล็ก ซื้อสี หลังคา ต้องเกี่ยวพันกับบริษัทใหญ่ๆ มากมาย จะเห็นได้ว่า พระเครื่ององค์เล็กๆ เกี่ยวพันกับห่วงโซ่ธุรกิจมีการจ้างงานจำนวนมาก วัดวาอาราม ได้เสนาสนะ ได้โรงพยาบาล ได้ทุนการศึกษา เพราะฉะนั้น คนที่ได้ประโยชน์จาก Ecosystem หรือระบบนิเวศของพระเครื่อง ของวัตถุมงคล มีเป็นจำนวนมาก”

“อย่ามองว่าเป็นเรื่องของพุทธพาณิชย์ เพียงอย่างเดียว แต่อยากให้มองในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจที่เกี่ยวพันกับสังคม เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ เป็นจำนวนมหาศาล และยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยเชิงช่างที่สืบทอดมากว่า 1,000 ปี ให้สืบเนื่องต่อไป” อุ๊ กรุงสยาม อธิบายจริงจัง

และบอกอีกว่า ยุคที่นิยมการเช่าพระเครื่อง ก่อให้เกิดอาชีพหลากหลาย เวลานี้ พระเครื่องไทย ไปไกลถึงต่างประเทศ คนจีน คนสิงคโปร์ ชอบพระเครื่องไทย มาเลเซีย มีบางส่วนที่ชอบพระเครื่องไทย แม้กระทั่ง ลาว กัมพูชา ก็ชอบพระเครื่องไทย เห็นได้ว่า พระเครื่องของไทย สามารถขายได้ในระดับนานาชาติ

มูลค่า Volume ของพระเครื่อง ทั้งพระเก่า พระใหม่ ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ มีทั้งพระเก่า พระใหม่หมุนเวียนกันไป เป็นวัฏจักรของเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกัน เงินถูกใช้ไป หมุนเวียนไปอีกหลายทอด พระเครื่องจึงเป็น Soft Power ที่สร้างงาน สร้างเศรษฐกิจฐานรากได้

ส่องพระ

 

“มูลค่าในวงการพระเครื่องปีหนึ่งตกราวๆ 50,000 ล้านบาท นั้น เป็นวงเงินที่คิดรวมทั้งวงจรธุรกิจ วิธีคิด คือ เซียนพระ 1 คน ซื้อขายปีละ 10 ล้านบาท ปีหนึ่ง 100 ล้านบาท จาก 100 คน บางคนปีหนึ่งอาจขายได้ 5 ล้าน บางคนขายได้ 20 ล้านก็มี ตัวเลข  50,000 ล้านบาท จึงไม่เยอะไป คิดง่ายๆ สมมติว่า ปีหนึ่งทั้งประเทศสร้างพระกัน 500 วัด เฉลี่ยวัดละ 3 ล้านบาท เงินทุนหมุนเวียน 1,500 ล้านบาท”

“บางวัดยอดจองหลายร้อยล้าน โรงหล่อมีรายได้ คนงานมีรายได้ ช่างหล่ออยู่ได้ ครอบครัวอยู่ได้ วัดวาอารามต่างๆ ก็อยู่ได้ ดังนั้น จะมองข้ามไม่ได้ อันนี้ถือว่า เป็นระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Ecosystem อย่างหนึ่ง เป็น Section หนึ่งของเศรษฐกิจมหภาค” อุ๊ กรุงสยาม บอกอย่างนั้น