ผลักดัน บางกอกน้อย จุดเกิดตำนานรักโกโบริ เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ผลักดัน บางกอกน้อย จุดเกิดตำนานรักโกโบริ เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า ร่วมหารือกับ ผศ.ดร.ไพฑูรย์ มนต์พานทอง คณบดีคณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เพื่อหาแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ โดยมีจุดประสงค์ เพื่อยกระดับสินค้าและแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ให้สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวชุมชน ซึ่งทางพรรคกล้าได้นำเสนอชุมชนท่องเที่ยวบางกอกน้อย เป็นโครงการนำร่อง เนื่องจากเห็นว่า บางกอกน้อย เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เพียงแต่ยังไม่ได้ถูกเชื่อมโยงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ

คุณวรวุฒิ เผยว่า ทางคณบดีคณะการจัดการการท่องเที่ยว นิด้า พร้อมให้ความร่วมมือในการเป็นพี่เลี้ยง ผลักดันชุมชนท่องเที่ยวบางกอกน้อยซึ่งเป็นโครงการนำร่องของพรรคกล้า โดยเบื้องต้นจะให้คณาจารย์ของคณะฯ รวบรวมชุมชนที่ต้องการผลักดันให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว จากนั้นจะทำงานร่วมกันโดยมีการจัดแบ่งโครงสร้างองค์กร และหา Hero Product ที่โดดเด่นของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสินค้า อาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยว และมาวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกัน

ศาลาเรือโบราณ

สำหรับบางชุมชนบางกอกน้อย ในความรับรู้ของคนไทยมาจากตำนานรักของอังศุมาลินกับโกโบริ ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์เมื่อหลายปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอีกมากมาย อาทิ “มัสยิดอันซอริซซุนนะห์” (มัสยิดหลวงบางกอกน้อย) มีประวัติความเป็นมาระบุว่า ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่บริเวณคลองบางกอกน้อยมีกุฎีเล็กเรียกว่า “กะดีแขก” เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจ

ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้าฯ ให้ขอใช้พื้นที่กุฎีเล็ก สร้างสถานีรถไฟบางกอกน้อย โดยพระราชทานที่ดินฝั่งตรงข้าม ซึ่งเคยเป็นโรงเรือหลวงเก่า ให้สร้างกุฎีหรือสุเหร่าขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2435 ซึ่งก็คือมัสยิดอันซอริซซุนนะห์ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้เอง มัสยิดแห่งนี้จึงได้ชื่อเป็น “มัสยิดหลวง” เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และชุมชนแห่งนี้ยังมีอาหารมุสลิมอร่อยๆ อย่างซาโมซา รสชาติเข้มข้น และขนมปังยาสุม ที่เป็นเมนูขึ้นชื่อประจำชุมชน

ซาโมซา
ขนมปังยาสุม

นอกจากนี้ ยังมีวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร อยู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 และมีท่าจอดเรือในคลอง วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดทอง” พระเจ้าตากสิน มีพระราชดำรัสให้นำเชลยศึกจากค่ายบางแก้วมาประหารชีวิตที่วัดนี้ และในบริเวณใกล้เคียงยังมี “ตลาดวัดทอง” ซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่ มีอาหารอร่อยฝีมือชาวบ้านในชุมชน วัดเก่าแก่อีกวัดคือ “วัดศรีสุดาราม” หรือ “วัดชีปะขาว” เป็นวัดที่พระอาจารย์ชีปะขาวมาสร้างไว้ในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และยังมี “วัดนายโรง” ซึ่งสร้างโดยเจ้าของโรงละครนอก ที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 4 เสน่ห์หลักของบางกอกน้อย คือการนั่งเรือชมวิถีชุมชนสองฝั่งคลองที่ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้