กราบบูชาพระพุทธปฏิมา ในพระมหากรุณาพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า

เนื่องในศุภวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๐ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร  สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้จัดกิจกรรมพิเศษสักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน   “กราบบูชาพระพุทธปฏิมาในพระมหากรุณาพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า” โดยอัญเชิญพระพุทธรูปมงคลศักดิ์สิทธิ์โบราณ ๑๐ องค์ ให้ประชาชนกราบสักการบูชา ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

มีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยสุโขทัยเป็นประธาน และได้คัดสรรพระพุทธรูปอีก ๙ องค์ ที่มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับบุรพมหากษัตริย์ในดินแดนประเทศไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน อันกอปรด้วยสุนทรียภาพความงามตามยุคสมัย สร้างขึ้นด้วยความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ทั้งยังเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้เป็นทั้งพุทธบริษัทและอัครศาสนูปถัมภกมาช้านาน นำมาประดิษฐานให้ประชาชนสักการบูชา เพื่อน้อมนำถึงพระมหากรุณาธิคุณและอำนวยความสุขสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล ในวาระแห่งการเริ่มต้นสู่ศักราชใหม่

สำหรับกิจกรรมพิเศษสักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน เนื่องในเทศกาลปีใหม่นี้ กรมศิลปากรได้จัดต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ ๗ แล้ว ทั้งนี้ในแต่ละปีได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ต่างเดินทางมาสักการบูชาพระพุทธปฏิมา เพื่อความเจริญศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทั้งมีความประสงค์ที่จะทราบตำนานความเป็นมาของพระพุทธรูปมงคลโบราณดังกล่าว คติการสร้าง และรูปแบบทางศิลปกรรมของพระพุทธรูปทั้ง ๑๐ องค์ ตลอดจนตระหนักรู้ในคุณค่า ความสำคัญ และร่วมกันดูแลปกป้องมรดกของชาติให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยสืบไปชั่วกาลนาน

กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประชาชนชาวไทยจะได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบุรพมหากษัตริย์ไทย รวมทั้งได้รับประโยชน์ทางความรู้ และความสุขสวัสดีโดยทั่วกัน

พระพุทธปฏิมาทั้ง ๑๐ องค์ดังกล่าว คือ

01_%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%9e%e0%b8%b8%e0%b8%97%e0%b8%98%e0%b8%aa%e0%b8%b4%e0%b8%ab%e0%b8%b4%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b9%8c

  • พระพุทธสิหิงค์

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

เมื่อพิจารณาจากเค้ามูลแรกเริ่มของการประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ในสยามประเทศตาม นิทานพระพุทธสิหิงค์  กล่าวได้ว่า พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธปฏิมาที่มีความสัมพันธ์กับพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัยหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัย ตามข้อสันนิษฐานจากหลักฐานประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้พระพุทธสิหิงค์ซึ่งประดิษฐานถาวร ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์จึงเป็นดั่งประธานของพระพุทธรูปที่นำมาประดิษฐานเพื่อการสักการบูชาทั้งปวงในปีใหม่พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกษัตริยาธิราชเจ้าซึ่งเป็นมหาราชพระองค์แรกของแผ่นดินไทย… พ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัย

02_%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%b8%e0%b8%97%e0%b8%a3resize

  • พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  ทรงพระราชอุทิศพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตามที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นจำนวน ๓๔ ปาง (องค์)  เพื่อถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินสยามรัชกาลต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี  พระองค์กำหนดให้พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเป็นพระพุทธรูปประจำสยามรัชกาลที่ ๑๘ คือรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

03_%e0%b8%9b%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b9%81%e0%b8%81%e0%b9%89%e0%b8%a7resize

  • พระพุทธรูปปางจงกรมแก้ว

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระพุทธรูปปางจงกรมแก้วนี้ เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น ตามพระราชดำรัสที่โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เลือกค้นในคัมภีร์ต่าง ๆ และบัญญัติขึ้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จารึกข้อความให้พระพุทธรูปปางจงกรมแก้วเป็นประหนึ่งพระพุทธรูปประจำรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระพุทธรูปปางนี้แด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา

 04_%e0%b8%9b%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%9a%e0%b8%b3%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b9%87%e0%b8%8d%e0%b8%97%e0%b8%b8%e0%b8%81%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%a2%e0%b8%b2resize

  • พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชอุทิศพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นจำนวน ๓๔ ปาง  ถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินสยามรัชกาลต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี  พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกริยา (เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง พระหัตถ์ทั้งสองประทับพระอุระทำทุกรกิริยา)

05_%e0%b8%9b%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%8a%e0%b8%b1%e0%b8%a2resize

  • พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ๓๗ องค์ ประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น ๓๔ องค์ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงจารึกพระนามเพิ่มเติมอีก ๓ องค์ รวมทั้งหมด ๓๗ องค์ แต่ละองค์ถวายพระราชกุศลแด่พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์แต่ละรัชกาล ประหนึ่งพระพุทธรูปประจำรัชกาล ไม่ซ้ำกัน พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชรถือเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

06_%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%a7%e0%b8%87%e0%b8%9e%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%81resize

  • พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชนิยมในการหล่อพระพุทธรูป “ประทับขัดสมาธิเพชร” อย่างไรก็ดีตามตำราพระพุทธรูปปางต่างๆ โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ระบุว่า “พระพุทธรูปปางสมาธิราบ” เป็น “พระพุทธรูปปางประจำวันพฤหัสบดี”  ดังนั้นวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงควรเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิราบ  ถึงกระนั้นความจาก พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทำให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงหล่อพระพุทธรูปเท่าจำนวนพระชนมพรรษา แต่เป็นพระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร  “…มีอาการนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวาซ้อนพระหัตถ์ซ้าย แปลกกับปางเดิมไปอีกอย่างหนึ่งและเปลี่ยนลักษณะอาการส่วนสัดตามพระราชประสงค์และฐานนั้นก็ทำเป็นกลีบบัวคว่ำบัวหงายอย่างโบราณไม่เป็นฐานพระพิมพ์อย่างแต่ก่อน…”  ทั้งนี้คงเพื่อให้แตกต่างจากพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระองค์ (รัชกาลที่ ๔) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิราบ

07_%e0%b8%9b%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%9d%e0%b8%99resize

  • พระพุทธรูปปางขอฝน

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาในปางขอฝน (พระคันธารราฐ) ตามความที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนว่า ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ พระพุทธรูปที่เหลือจากทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมีอยู่สองปาง คือ พระลองหนาว และพระคันธารราฐ จึงได้ทรงเลือกพระคันธารราฐเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา

และเพราะเหตุที่ท่านผู้ใหญ่เห็นว่า เมื่อก่อนปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูตินั้น ฝนแล้ง ข้าวในนาก็เสียมาก เมื่อปีที่ประสูติต้นปีก็ฝนแล้ง แต่เมื่อเวลาประสูติ ในทันใดนั้นฝนตกมาก ตามชาลาในพระราชวังท่วมเกือบถึงเข่า เห็นกันว่าเป็นการอัศจรรย์อยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เป็นหน้าที่สำหรับทำพิธีฝนแต่เล็กมา จึงได้ตกลงกันให้ใช้พระคันธารราฐเป็นพระประจำพระชนมพรรษา แต่ไปเกิดข้อรังเกียจกันด้วยเรื่องจะนั่งหรือจะยืน คำตัดสินนั้นตกลงว่าถึงที่ยืนเป็นถูกต้อง แต่เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปเพิ่งเกิดใหม่มีองค์เดียว พระเก่า ๆ ที่มีมาก็เป็นพระคันธารราฐนั่งทั้งสิ้น จึงได้ตกลงให้สร้างพระคันธารราฐนั่ง

พระพุทธรูปปางขอฝน (พระคันธารราฐ) ประจำพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแบบวัชราสนะเหนือปัทมาสน์กลีบบัวคว่ำและกลีบบัวหงาย มีเกสรบัวประดับทั้งตอนบนและตอนล่าง บริเวณฐานมีตราพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ แต่เนื่องจากในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไม่มีพระพุทธรูปปางขอฝนประทับนั่ง จึงใช้พระพุทธรูปปางขอฝนประทับยืนในการจัดแสดงครั้งนี้แทน

08_%e0%b8%9b%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%a5%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%a7resize

  • พระพุทธรูปปางลองหนาว

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

สำหรับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างพระปางลองหนาว  เหตุที่เลือกปางนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีทัศนะว่า  “เป็นปางที่สมควรแก่พระประสูติมงคลสมัยอันมีในเหมันตฤดูกาล

09_%e0%b8%9b%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%98%e0%b8%b4%e0%b9%83%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%a3%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%a1%e0%b9%82%e0%b8%9e%e0%b8%98%e0%b8%b4%e0%b9%8cresize

  • พระพุทธรูปปางสมาธิใต้ร่มโพธิ์เหนือมารผจญ

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

การน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ซึ่งเสด็จสวรรคตในวันพฤหัสที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ พระพุทธรูปประจำวันพฤหัสคือ พระพุทธรูปปางสมาธิ  พระพุทธรูปปางสมาธิที่มีลักษณะพิเศษองค์นี้ จึงสมควรแก่การนำมาประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เพื่อให้ประชาชนสักการบูชาในศุภวาระขึ้นศักราชใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระธรรมราชาธิราชอันเป็นที่รักเทิดทูนประทับอยู่ในจิตใจของพสกนิกรไม่เสื่อมคลาย

10_%e0%b8%9b%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%8d%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%b4resize

  • พระพุทธรูปปางห้ามญาติ

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

พระพุทธรูปปางห้ามญาติเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เนื่องด้วยทั้งสองพระองค์ทรงพระราชสมภพในวันจันทร์ พระพุทธรูปปางห้ามญาตินี้เป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันจันทร์

ในศุภวาระฤกษ์ดีปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๐ พระพุทธรูปปางต่างๆ ข้างต้น ๙ องค์ นำมาประดิษฐานเพื่อการสักการบูชา น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและส่งพลังบุญกุศลถวายแด่พระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตทั้ง ๙ พระองค์  สำหรับพระพุทธรูปปางห้ามญาติองค์นี้ นำมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นองค์ที่ ๑๐ พร้อมกันไปด้วย เพื่อแสดงถึงโอกาสพิเศษ ให้ประชาชนร่วมกันบูชาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๐ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ทั้งยังสอดคล้องกับการเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระองค์ เนื่องด้วยพระองค์ทรงพระราชสมภพในวันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕

กิจกรรมพิเศษสักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน “กราบบูชาพระพุทธปฏิมาในพระมหากรุณาพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า” นี้ จะจัดแสดง ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ – ๓๑ มกราคม ๒๕๖๐ ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์