เผยเคล็ดลับเสริมแกร่ง เอสเอ็มอีอาหาร เติบโตพร้อมเข้า Modern Trade

เผยเคล็ดลับเสริมแกร่ง เอสเอ็มอีอาหาร เติบโตพร้อมเข้า Modern Trade

คุณอินทิรา พฤกษ์รัตนนภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หันมาใส่ใจด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในอาหารมากขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนการผลิต ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศปรับหลักเกณฑ์ GMP ใหม่ ที่เริ่มใช้เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2564

ซีพี ออลล์ ภายใต้ภารกิจ “3 ให้” ช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก จึงได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ “ผนึกกำลังผู้ประกอบการ SME ในการยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัย” แบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตตามหลักเกณฑ์ GMP (Good Manufacturing Practice) ให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้าของซีพี ออลล์ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตให้ทัดเทียมระดับสากล

คุณอินทิรา พฤกษ์รัตนนภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

“ซีพี ออลล์ให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานการผลิตอาหารมาโดยตลอด เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพและปลอดภัยที่สุดให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ก็ให้ความสำคัญกับการติดอาวุธองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญ เราในฐานะผู้ส่งเสริมเอสเอ็มอี จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานการผลิตตามข้อกำหนด GMP มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่ม Food Supply Chain  เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต” คุณอินทิรา กล่าว

ขณะที่ คุณวาสนา สงวนสัตย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องคำนึงถึงและถือเป็นหัวใจในการสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ได้แก่ 1. สร้างจุดแข็ง โดยคัดสรรวัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพ พัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง และนำนวัตกรรมมาช่วยในการผลิต

2. แนวคิดสินค้ามีความชัดเจน ผู้ประกอบการต้องสำรวจตลาดให้มั่นใจก่อนว่าสินค้าจะผลิตตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทั้งบรรจุภัณฑ์ ราคา ลักษณะสินค้า ที่สำคัญ จะต้องยึดหลัก “อร่อย สะดวก สะอาด ปลอดภัย”

และ 3. รักษามาตรฐานให้ดีในทุกด้าน ตั้งแต่ความปลอดภัยของอาหาร รสชาติ มีคุณภาพ และมีปริมาณสินค้าที่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเลือกผลิตสินค้าที่กำลังได้รับความนิยม หรือสร้างความแตกต่างด้วยการเลือกผลิตสินค้าที่ผู้บริโภคหาซื้อได้ยาก เพื่อให้สินค้าโดดเด่นและมียอดขายโตต่อเนื่อง

ด้าน คุณธิดา ทวีฤทธิ์ นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการ สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2563 ได้ปรับปรุงมาตรฐานการผลิตตามหลักเกณฑ์ GMP ใหม่ให้กระชับและชัดเจนมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น หมวดที่ 1 ข้อกำหนดพื้นฐาน บังคับใช้กับอาหารทุกประเภท

ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีคะแนนในแต่ละหมวดเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ จากทั้ง 5 หมวดย่อย ประกอบด้วย 1. สถานที่ตั้งอาคารผลิต การทำความสะอาด และการบำรุงรักษา 2. เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต การทำความสะอาดและการบำรุงรักษา 3. การควบคุมกระบวนการผลิต 4. การสุขาภิบาล และ 5. สุขลักษณะส่วนบุคคล

สินค้าโดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ขณะที่หมวดที่ 2 ข้อกำหนดเฉพาะ จะบังคับใช้กรณีผลิตอาหารที่มีกรรมวิธีเฉพาะ 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์น้ำบริโภค น้ำแร่ธรรมชาติ น้ำแข็ง 2. ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภค และ 3. ผลิตภัณฑ์อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทชนิดที่มีความเป็นกรดต่ำและชนิดที่ปรับกรด ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องผ่านเกณฑ์ทุกข้อที่กำหนดไว้

“ผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะขอการรับรองสถานที่ประกอบอาหารจาก อย. ต้องผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดพื้นฐาน และไม่พบข้อบกพร่องรุนแรง ซึ่งทาง อย. เน้นการป้องกันและขจัดความเสี่ยงที่จะทำให้อาหารปลอดภัยจากอันตราย 3 ประเภท คือ การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ เช่น เศษเล็บและเส้นผม การปนเปื้อนสิ่งแปลกปลอมด้านกายภาพที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อาทิ เศษไม้ แก้ว โลหะ รวมถึงอันตรายจากสารเคมี ทั้งการปนเปื้อนจากวัตถุดิบ เช่น สารพิษตกค้าง และสารเคมีที่ใช้ในโรงงาน ในส่วนวัตถุเจือปนอาหารก็ต้องมีการควบคุมปริมาณไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ” คุณธิดา กล่าว