วิกฤตดันธุรกิจ ฟู้ดดีลิเวอรี่ โต ปี 64 คนสั่งอาหารไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง 

วิกฤตดันธุรกิจ ฟู้ดดีลิเวอรี่ โต ปี 64 คนสั่งอาหารไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง 
วิกฤตดันธุรกิจ ฟู้ดดีลิเวอรี่ โต ปี 64 คนสั่งอาหารไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง 

วิกฤตดันธุรกิจ ฟู้ดดีลิเวอรี่ โต ปี 64 คนสั่งอาหารไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง 

การยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งรวมถึงการจำกัดการให้บริการของร้านอาหารเหลือเพียงช่องทางการสั่งซื้อที่หน้าร้าน คาดว่าจะส่งผลให้รายได้ของธุรกิจร้านอาหารทั้งปี 64 หายไปไม่ต่ำกว่า 6.0 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือ ฟู้ดดีลิเวอรี่ กลายเป็นช่องทางการสร้างรายได้หลักของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ในขณะที่การทำตลาดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชั่นมอบส่วนลดและยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดส่ง ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยดึงดูดผู้บริโภครายใหม่และเพิ่มความถี่ในการใช้งานของผู้บริโภครายเดิม

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปี 64 ปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งที่บ้านน่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดในปี 62 ที่มีจำนวนประมาณ 35-45 ล้านครั้ง

โดยมีมูลค่าธุรกิจรวมสูงถึง 5.31–5.58 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวสูงถึง 18.4–24.4% เมื่อเทียบกับปี 63 ทั้งนี้ วิถีการใช้ชีวิตประจำวันในช่วงการระบาดยังส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้บริการจัดส่งอาหารเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าสนใจ

กล่าวคือ 1. ระดับราคาเฉลี่ยต่อครั้งที่สั่งลดลง 20-25% จากปี 63 จากปัจจัยด้านกำลังซื้อและการอัดโปรโมชั่นของผู้ประกอบการ 2. ร้านอาหารข้างทาง หรือ สตรีตฟู้ด เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และคาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้มากกว่า 40% ของมูลค่ารวมของธุรกิจจัดส่งอาหาร จากเดิมในปี 63 อยู่ที่ประมาณ 29% 3. พื้นที่การสั่งอาหารขยายสู่บริเวณกรุงเทพฯ รอบนอกและพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ-ปริมณฑลมากขึ้น สอดคล้องกับการปรับรูปแบบการทำงานของภาคธุรกิจมาเป็น Work from home และ Hybrid working

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและส่งผลต่อกิจกรรมการเข้ารับบริการในร้านอาหาร ทำให้มูลค่าของธุรกิจจัดส่งอาหารน่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง

โดยมีโจทย์ท้าทายสำคัญคือ การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหาร จำนวนออร์เดอร์เฉลี่ยต่อวันต่อรายของผู้จัดส่งอาหารที่คาดว่าจะลดลงจากจำนวนผู้ขนส่งอาหารที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการแข่งขันทำโปรโมชั่นด้านราคา ที่ทำให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารส่วนใหญ่ยังคงเผชิญความท้าทายในการสร้างผลกำไรสุทธิให้เป็นบวก

โดยคาดว่าภาวะดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อเนื่องในอีก 1-2 ปีข้างหน้า และเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ควบคู่กับการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด