แพลตฟอร์มให้เช่าที่นอน แก้ปัญหาขยะ ช่วยผู้ประกอบการ เข้าถึงที่นอนคุณภาพดี

แพลตฟอร์มให้เช่าที่นอน แก้ปัญหาขยะ ช่วยผู้ประกอบการ เข้าถึงที่นอนคุณภาพดี

ในการจัดสัมมนา CE Innovation Policy Forum กลุ่มการเงินและตลาดทุน เมื่อเร็วๆ นี้ จัดโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) และ SDG Move เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิดเห็นจากภาคการเงินและตลาดทุน เพื่อให้เกิดการตั้งประเด็นที่นำไปสู่การบูรณาการและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมรวบรวมข้อคิดเห็นที่ได้ไปพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการสร้างนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป

คุณนพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO “นอนนอน” ธุรกิจสตาร์ตอัพแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งการจัดการขยะและความต้องการเข้าถึงสินค้าคุณภาพสูงของธุรกิจให้บริการที่พัก หนึ่งในวิทยากร กล่าวตอนหนึ่ง นอนนอน มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนระบบอุปโภค จากเดิมที่อยู่บนพื้นฐานของการซื้อสินค้า ใช้ ทิ้ง และก่อให้เกิดขยะ มาเป็นระบบเช่าสินค้า ใช้ คืน และรีไซเคิล โดยเน้นไปที่สินค้าที่นอนก่อนเป็นอันดับแรก ผ่านแพลตฟอร์มให้บริการเช่าที่นอนใหม่สำหรับธุรกิจให้บริการที่พัก ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รายแรกของโลก

คุณนพพล ซีอีโอ นอนนอน

โดย นอนนอน มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้ธุรกิจให้บริการที่พักสามารถเข้าถึงที่นอนคุณภาพสูงที่นอนสบายและสามารถใช้งานได้นานได้ โดยไม่ต้องลงทุนเป็นเงินก้อนใหญ่ และในขณะเดียวกัน ก็ช่วยลดปริมาณขยะ ก๊าซเรือนกระจก และมลภาวะที่เกิดจากการกำจัดที่นอนที่ไม่ถูกต้องตามหลักสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจให้บริการที่พัก

“กลไกหลักของแพลตฟอร์มของเรา คือ การใช้เงินทุนจากการออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าหุ้นกู้สีเขียว มาซื้อที่นอนใหม่คุณภาพสูงให้ลูกค้าเช่าไปใช้งานเป็นเวลา 60-120 เดือน ซึ่งตรงกับรอบเปลี่ยนที่นอนปกติของโรงแรมมาตรฐานสากล โดยลูกค้าจะชำระค่าใช้บริการเป็นรายเดือน ซึ่งเริ่มต้นที่เพียงเดือนละ 71 บาทต่อที่นอน 1 ชิ้น เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ที่นอนจะถูกเก็บกลับมาเพื่อถูกแยกชิ้นส่วนไปรีไซเคิล หรืออัพไซเคิล โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม” คุณนพพล กล่าว

บริการดังกล่าวของนอนนอน ช่วยตอบโจทย์ของธุรกิจให้บริการที่พักที่ส่วนใหญ่มีงบประมาณในการลงทุนจำกัด ทำให้ไม่สามารถจัดซื้อที่นอนคุณภาพสูงมาให้บริการแขกที่เข้าพักได้ จึงต้องอาศัยการซื้อที่นอนที่คุณภาพด้อยลงมาที่มักมีอายุการใช้งานสั้นเพียง 2-3 ปี และนอนไม่สบายมาให้บริการแทน นอกจากนี้ ยังช่วยตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการผนวกค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลเข้าไปในค่าเช่าแต่ละเดือน จนทำให้การรีไซเคิลสามารถเกิดขึ้นได้

จากเดิมที่ยังไม่มีการรีไซเคิลที่นอนเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงจนไม่คุ้มค่าดำเนินการ โดยบริการของนอนนอน นับว่าเป็นการเอื้อให้ธุรกิจให้บริการที่พักสามารถสนับสนุนการรีไซเคิลที่นอนที่พ้นสภาพการใช้งานแล้วโดยปริยาย

ทั้งนี้ ที่นอนที่พ้นสภาพการใช้งานแล้วถือเป็นขยะปริมาณมหาศาลที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจปริมาณที่นอนที่ถูกทิ้งทั้งหมดในแต่ละปีในประเทศไทย แต่จากข้อมูลของสหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2560 พบว่า มีปริมาณที่นอนที่ถูกทิ้งทั้งหมดประมาณ 7.26 ล้านชิ้น รวมน้ำหนักกว่า 181,500 ตัน ซึ่งถือเป็นร้อยละ 0.8 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากครัวเรือนทั้งหมดของประเทศ ทำให้เชื่อได้ว่าประเทศไทยน่าจะมีการทิ้งที่นอนทั้งหมดมากกว่า 7 ล้านชิ้นต่อปีเช่นกัน เนื่องจากประเทศไทย มีขนาดประชากรและอุตสาหกรรมให้บริการที่พักที่ใกล้เคียงกับสหราชอาณาจักร

สำหรับกระบวนการรีไซเคิลที่นอน เริ่มจากการนำที่นอนมาแยกชิ้นส่วนตามประเภทวัสดุ โดยผ้าและเส้นใยต่างๆ สามารถที่จะอัพไซเคิลเป็นไส้กรองน้ำมันอุตสาหกรรมหรือนำไปแปรรูปเป็นเส้นใยในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส่วนวงสปริงที่เป็นเหล็ก สามารถนำไปหลอมเป็นเหล็กใหม่ได้

“ส่วน ฟองน้ำ สามารถย่อยสลายด้วยวิธีการทางเคมีให้กลายเป็นโมเลกุลที่เรียกว่า โพลีออล โมโนเมอร์ ที่สามารถนำไปใช้ต่อในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ ซึ่งขณะนี้เรากำลังทำการค้นคว้าและวิจัยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology) และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด โดยได้รับการสนับสนุนเป็นเงินจำนวน 80,000 ปอนด์ (ประมาณ 3.5 ล้านบาท) จากราชวิศวกรรมศาสตร์บัณทิตยสถาน (Royal Academy of Engineering) สหราชอาณาจักร ผ่านโครงการ Engineering X Transforming Systems Through Partnership” คุณนพพล กล่าว

นอกเหนือจากงานวิจัยดังกล่าวแล้ว นอนนอน ยังได้มอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) ทำการศึกษาบริการของนอนนอนด้วยเทคนิคการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment) เพื่อประเมินปริมาณของเสียและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นอนนอนจะช่วยลดลงในช่วงเวลาข้างหน้า โดยโครงการดังกล่าวได้รับเงินทุนสนับสนุนประมาณ 9 แสนบาทจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สอวช. และจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีหน้า

นอนนอน นับเป็นอีกหนึ่งโมเดลธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่น่าสนใจที่จะสร้างทั้งผลกำไรทางการเงินและช่วยลดผลกระทบที่ระบบเศรษฐกิจมีต่อสิ่งแวดล้อม โดยจากกลุ่มลูกค้าโรงแรมและรีสอร์ตในไทยและอินโดนีเซีย ในช่วงอีก 5 ปีข้างหน้า นอนนอน วางแผนจะขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศที่มีการเติบโตทางการท่องเที่ยวสูง เพื่อมอบชีวิตใหม่ให้กับวัสดุที่มาจากที่นอนที่พ้นการใช้งานแล้วอย่างน้อย 2.6 ล้านชิ้น เป็นปริมาณมากกว่า 45,000 ตัน พร้อมช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 63,000 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการหยุดการเดินรถยนต์ส่วนบุคคลจำนวน 13,700 คันเป็นเวลา 1 ปีเต็ม

“เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของเรา คือ การเปลี่ยนระบบการผลิตและอุปโภค เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดจะถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และช่วยลดมลภาวะ” คุณนพพล กล่าวทิ้งท้าย