เจปีนี้มีแววเงียบเหงา คนค้าขายชี้ เศรษฐกิจ-โควิด-อากาศ ทำผักแพง คนซื้ออาหารสำเร็จกินแทน

เจปีนี้มีแววเงียบเหงา คนค้าขายชี้ เศรษฐกิจ-โควิด-อากาศ ทำผักแพง คนซื้อของสำเร็จกินมากกว่า
เจปีนี้มีแววเงียบเหงา คนค้าขายชี้ เศรษฐกิจ-โควิด-อากาศ ทำผักแพง คนซื้อของสำเร็จกินมากกว่า

เจปีนี้มีแววเงียบเหงา คนค้าขายชี้ เศรษฐกิจ-โควิด-อากาศ ทำผักแพง คนซื้ออาหารสำเร็จกินมากกว่า

ใกล้เข้ามาแล้ว กับเทศกาลถือศีลกินเจ ที่มีการจัดขึ้นทุกปี ผู้สื่อข่าวเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ลงพื้นที่สำรวจร้านขายผักในตลาดประชานิเวศน์ 1 โดย คุณจินตนา เจ้าของร้านเจ้าหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า เธอขายผักที่ตลาดแห่งนี้มาได้ 10 กว่าปีแล้ว แต่ปีนี้การค้าขายค่อนข้างเงียบเหงา เหตุเพราะสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไม่ค่อยเดินตลาดเท่าใดนัก

ผนวกกับสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ผลผลิตบางอย่าง ออกผลน้อยลง ส่งผลให้ผักทุกอย่าง ราคาดีดขึ้นมาก่อนที่จะถึงเทศกาลกินเจ ซึ่งผักที่ร้านได้มาในราคาแพง ส่วนใหญ่จะเป็นพวกฟัก หัวไชเท้า เป็นต้น โดยเจในปีนี้ยังไม่ถึงวัน คนก็ยังไม่ค่อยมาซื้อ อีกทั้งสถานการณ์ต่างๆ ทำให้คนส่วนใหญ่ซื้ออาหารถที่ทำสำเร็จไปทาน มากกว่าออกมาซื้อของไปทำเอง ซึ่งเธอก็ได้แต่รอดูสถานการณ์ในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป

ด้านลูกจ้างชาย ร้านขายผักอีกเจ้า ให้สัมภาษณ์ว่า ผักในปีนี้แพงขึ้น โดยราคาผักที่ร้านไปรับมาขายดีดขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 300-400 บาท โดยเฉพาะผักชีที่ราคาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 200 บาท ต้นหอม 350 บาท กะเพรา 100 บาท จากราคาเดิม 50 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนในวันนี้คนยังไม่มาซื้อของ แต่คาดการณ์ว่า ปีนี้เจจะเงียบเหงาเพราะเศรษฐกิจรวมถึงโควิด ทำให้คนไม่ค่อยมาเดินซื้อของในตลาดไปทำ แต่จะนิยมซื้ออาหารเจที่ทำสำเร็จแล้วไปทานมากกว่า

คุณสมพงษ์ เจ้าของร้านขายผักในตลาดอีกเจ้า ได้มีการให้สัมภาษณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ตนขายผักในตลาดแห่งนี้มาหลายปีแล้ว แต่เจปีนี้ ยังไม่ค่อยมีคนมาซื้อผักไปทำอาหารเจเท่าไหร่ ที่มาซื้อไปประกอบอาหารตามปกติ ยังมีมาอยู่ โดยผักในร้านที่ได้มาในราคาแพงขึ้น จะเป็นพวกผักบุ้ง ผักชี คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือ ซึ่งอาจเป็นเพราะน้ำท่วม ยิ่งฝนตก ตนก็ยิ่งขายได้น้อย อีกทั้งเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิดก็ส่งผลถึงราคาผลิตผล ทำให้คนส่วนมากหันไปซื้ออาหารเจที่ทำสำเร็จ หรือไปซื้อผลผลิตถึงแหล่งเองมากกว่า ส่วนทีร้านก็อาศัยลูกค้าประจำในหมู่บ้านมาอุดหนุน แบบน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า