มอบผลิตภัณฑ์ให้ “ชัชชาติ” ส่งต่อช่วยชุมชนในกรุงเทพฯที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

มอบผลิตภัณฑ์ให้ “ชัชชาติ” ส่งต่อช่วยชุมชนในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 9 เม.ย. ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน (มติชน อคาเดมี) คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับมอบผลิตภัณฑ์จาก 3 บริษัท เพื่อนำไปมอบให้กับชุมชนในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย บ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ โดย คุณอภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย กรรมการรองผู้อำนวยการ มอบขนมปังฟาร์มเฮ้าส์วันละ 200 ชิ้น จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563

คุณกอล์ฟ-ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด (ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุง ตราไก่แจ้) มอบข้าวสารบรรจุถุงตราไก่แจ้ 1 ตัน และขนม ตราแม่นภา 300 ชิ้น และ คุณโบว์-ณชา จึงกานต์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท คันนา โกรเซอรีส์ จำกัด มอบขนมแบรนด์ “คันนา” จำนวน 1,000 ชิ้น ให้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด คุณชัชชาติ ได้นำสิ่งของอุปโภคบริโภคที่รับมอบมาจากหลายบริษัท นำไปมอบให้หลายชุมชน อาทิ คุณครูประทีป ที่มูลนิธิดวงประทีป คลองเตย ครูแอ๋ม ที่ชุมชนโรงหมู จักรส่งที่ชุมชนหลังสถานีทองหล่อ ชุมชนสาหร่ายทองคำ ชุมชนเยี่ยมเจริญสุข ชุมชนสวนหลวงก้าวหน้า ชุมชนมาชิม ชุมชนเฉลิมอนุสรณ์ ชุมชนมีมเรืองเวช เป็นต้น

ในการนี้ คุณชัชชาติ กล่าวว่า เราจะช่วยบรรเทาภาวะความขาดแคลนของคนในชุมชนไปด้วยกัน ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เราจะรอดคนเดียวไม่ได้ ต้องรอดไปด้วยกัน ต้องร่วมมือกัน โดยการช่วยดูแลชุมชนใกล้บ้าน

“ผมคิดว่าเป็นการช่วยรัฐบาลให้เราเดินไปด้วยกันได้ สิ่งที่ได้มาเราส่งให้ถึงชุมชน ติดต่อประธานชุมชน ชุมชนที่เดือดร้อน มีคนจำนวนมากที่อยากจะช่วยแต่บางทีไม่รู้จะส่งไปที่ไหน ถ้าช่วยกันดูแลชุมชนที่รู้จัก รัฐบาลเดินภาพใหญ่ เราช่วยกันเดินภาพย่อย ดูแลชุมชนใกล้เคียงกัน สุดท้ายเราจะรอดไปด้วยกัน

“ถ้าบริษัทเอกชนอยากจะช่วยนำผลิตภัณฑ์ไปให้ชุมชน ผมสามารถจัดการให้ได้ แต่บริษัทต่างๆ ก็สามารถดูแลชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงก่อนได้ จัดการโดยตรงได้ ผมว่าง่ายที่สุด สามารถลงไปที่ชุมชนแห่งนั้นได้เลย” คุณชัชชาติ กล่าว

ด้าน คุณอภิเศรษฐ กรรมการรองผู้อำนวยการ บ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด นอกจากฟาร์มเฮ้าส์จะส่งผลิตภัณฑ์ให้คุณชัชชาติเพื่อนำไปมอบให้ชุมชนแล้ว ยังบริจาคให้โรงพยาบาลหลายแห่ง อาทิ บำราศนราดูร วชิรพยาบาล จุฬาลงกรณ์ ฯลฯ ทุกวัน

“หลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ในส่วนของฟาร์มเฮ้าส์มีการปรับตัว เราตรวจวัดอุณหภูมิพนักงาน ล้างมือด้วยเจล ความจริงในโรงงานเราทำอยู่แล้ว พนักงานทุกคนต้องใส่หน้ากากทุกวัน ล้างมือทุกๆ ชั่วโมง ล้างแอลกอฮอล์เจล เรื่องความสะอาดเราผลิตโดยเครื่องจักรเกือบ 100% มีแค่การจัดสินค้าเท่านั้น จึงไว้ใจได้ว่าสะอาด  ส่วนพนักงานออฟฟิศ พนักงานฝ่ายขาย และพนักงานขนส่ง เราตรวจวัดอุณหภูมิทุกวัน เช็กประวัติ เรามีแพทย์ประจำโรงงาน ปรึกษาได้ทุกวัน นอกจากนี้ยังมีโครงการ Work From Home อย่างออฟฟิศเราอยู่ในเมือง พนักงานก็ต้องใช้บริการขนส่งมวลชน จึงให้ Work From Home อยู่ที่บ้านประมาณครึ่งหนึ่ง มาทำงานครึ่งหนึ่ง ให้เหลื่อมเวลาทำงาน เพื่อไม่ต้องไปเจอการจราจรมาก”

“เราเป็นคนทำอาหาร ตอนนี้อาหารเป็นปัจจัยหลัก กินขนมปังสะดวก ไม่ต้องติดไฟ แค่ฉีกซองก็กินได้เลย ของเราทำสดใหม่ กินแล้วอร่อย เราช่วยในจุดนี้ให้กับแพทย์พยาบาล รวมถึงเราได้ติดตามกิจกรรมของคุณชัชชาติอยู่แล้วว่ามีการสนับสนุนชุมชนคลองเตย เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเขาได้รับตรงนี้ไป จะช่วยเขาได้ดี เพราะตอนนี้กิจการต่างๆ ปิดไปเยอะ ทำให้คนไม่มีงาน” คุณอภิเศรษฐ กล่าว

คุณโบว์ ณชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท คันนา โกรเซอรีส์ จำกัด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้บริจาคหน้ากากและขนมให้กับมูลนิธิรามาธิบดี และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เพื่อให้กับแพทย์และพยาบาลแล้ว นอกจากนี้เรารู้สึกว่ามีหลายชุมชนในกรุงเทพฯ ในประเทศไทย ที่เราอาจไม่ทันนึกถึงเขา บางทีความช่วยเหลือไปไม่ถึง นึกไม่ออกว่าที่ไหนขาดแคลน

“ตรงนี้จึงเป็นโครงการที่ดีมาก ถ้าเรานึกถึงคนในชุมชน คนรอบข้าง แล้วสามารถช่วยเหลือกันได้ทุกหย่อมหญ้า สามารถช่วยเหลือกันได้ทุกจุด ก็จะทำให้ทุกจุดเข้มแข็งขึ้นมา เราก็จะสามารถฟันฝ่าวิกฤตในตอนนี้ไปได้ เพราะตราบใดที่จุดเล็กๆ ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือแก้ไข แปลว่าโรคไวรัสโควิด-19 ก็ยังหยุดไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราให้ครบทุกจุดได้ มันจบ” คุณโบว์-ณชา กล่าว

และว่า ในส่วนของบริษัทคันนาเอง มีการปรับตัวเยอะมาก จริงๆ เราปรับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เราเจอคลื่นตั้งแต่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในเมืองไทย เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เรารู้เลยว่าตอนนี้ทำแบบเดิมไม่ได้ ปรับทุกอย่างให้เป็นออนไลน์ หรือแม้กระทั่งวิธีการสื่อสารทางการตลาด เราก็เป็นการสื่อสาร 2 ทางกับลูกค้ามากขึ้น เราบอกเขาว่าเราเป็นเพื่อนคุณ เราอยู่กับคุณทุกที่ทั้งในบ้าน และที่ทำงาน หรือแม้แต่โปรดักต์ เราก็มีโปรดักต์ใหม่ที่ออกมาสำหรับกลุ่มคนไทยโดยเฉพาะ เช่น ต้มยำอบกรอบ ที่เอาไปคลุกข้าวสวยก็กินได้เลย

“อย่างตัวล่าสุด เป็นขนมเปี๊ยะไส้ถั่วล้วน อบเตาโบราณ ที่ช่วยเสริมสร้างร่างกาย แป้งบาง อบควันเทียน ที่คนไทยส่วนมาก ต่างวัยต่างอายุกินได้หมด ไม่หวานมาก มีประโยชน์ เน้นกลุ่มครอบครัวที่อยากเก็บตัวอยู่บ้าน นอกจากนี้กำลังต่อยอดอีกคอลเล็กชั่นของคันนา เป็นกลุ่มมะม่วงเอเชียนฟิวชั่นซีรีส์ เน้นเปรี้ยว เผ็ด แซ่บ อยู่บ้านยังไงไม่ให้เบื่อ กักตัวยังไงไม่ให้ชีวิตเหี่ยวเฉา มันเป็นรสชาติของคาวที่กินง่ายขึ้น แค่หยิบชิ้นมะม่วงขึ้นมา ก็ได้รสชาติของอาหารที่เราคุ้นเคยอยู่บนโต๊ะสำรับใหญ่ และก็มาอยู่ในมะม่วง เอามะม่วงมาทำเป็นของคาวเป็นของฟิวชั่น อยากให้เขารู้สึกว่าอยู่บ้านยังไงไม่ให้เบื่อ

“อีกทั้งเรายังรอออกสินค้าเยอะมาก พวกต้มยำจะออกมาอีกรูปแบบที่ซื้อง่ายขายคล่อง ราคาเข้าถึงได้ และเป็นต้มยำแบบกรอบ โดยที่ไม่ต้องมานั่งต้ม ปรุง กินกับข้าวคลุกแทนน้ำพริกได้เลย เป็นต้มยำแห้งและมีกุ้งหอยปูปลาในท้องทะเลเยอะมาก ตอนนี้จะเน้นแนวอยู่บ้านไม่ให้เบื่อ กินง่าย เราเลือกสิ่งที่ดีต่อสุขภาพและไม่ประนีประนอมเรื่องความอร่อย ล่าสุดเราทำโฮมดีลิเวอรี่ด้วยระบบการขนส่งของเราเอง เราเอามาสคอต น้องมะม่วงคันนา ไปหาลูกค้าเพื่อไปสวัสดีหน้าบ้าน และเอาของไปส่ง บอกเขาว่า เราอยู่ตรงนี้ เราจะช่วยกัน เราจะสร้างความสุขให้เขาตราบเท่าที่เราทำได้ในทุกๆ เรื่อง” คุณโบว์ ณชา กล่าว

ส่วน คุณกอล์ฟ ธีรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด กล่าวว่า ตอนนี้ทุกคนลำบาก เราอยากจะหยิบยื่นให้กับสังคม ซึ่งข้าวสารน่าจะดี เก็บได้ ทุกคนได้กิน ตอนนี้ที่ทำทุกเดือนคือการมอบข้าวให้กับ 10 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ทยอยให้ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยเริ่มมอบให้กับโรงพยาบาลแถวจ.ชลบุรี ก่อน และมีหลายโรงพยาบาลติดต่อเข้ามา เราจะทยอยมอบให้ จะทำจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะหมด อะไรที่เราพอจะช่วยเหลือสังคมให้ก้าวผ่านตรงนี้ได้ เราก็อยากจะช่วย

“ในส่วนของข้าวไก่แจ้ มีการพยายามปรับตัว เพราะมีลูกค้าบางกลุ่มที่หายไป บางกลุ่มที่เพิ่มเข้ามา ซื้อมากขึ้น ส่วนเซลส์หรือพนักงานขนส่ง เราให้เขาป้องกัน ใช้เจลแอลกอฮอล์ และให้ความรู้เรื่องการรักษาระยะห่างกับพนักงานในองค์กร ความปลอดภัย และการปฏิบัติตัวเวลาออกไปข้างนอก ใครที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ เราจะให้ทำงานจากที่บ้าน เพื่อลดการรวมกลุ่มกัน รวมถึงในโรงงานก็มีการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อด้วย” คุณกอล์ฟ ธีรินทร์ กล่าว