สอนเด็กให้ฉลาดและแสนดี ไม่ยาก! หากมี 5 กิจกรรมต่อไปนี้เข้าช่วย

สอนเด็กให้ฉลาดและแสนดี ไม่ยาก! หากมี 5 กิจกรรมต่อไปนี้ เข้าช่วย

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ชะลอวัย กล่าวว่า หลักในการเข้าใจเด็กที่ดีสุด คือ ทำใจให้กลับกลายเป็นเด็กอีกครั้ง แล้วจะเข้าใจเหตุผลกลไกทางความคิดกับอารมณ์ของเด็กที่บางครั้งผู้ใหญ่ลืมไปจึงไม่เข้าใจ ในทางชะลอวัยแบบอายุรวัฒน์นั้น เน้นวิธีธรรมชาติในการคืนความหนุ่มสาว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการ “อยู่กับเด็ก” หรือ “อยู่กับสัตว์เลี้ยง” ด้วยการให้ความรัก ใครไม่มีลูกก็ขอให้เลี้ยงอุปการะสัตว์ แล้วให้ความรักกับสุนัขหรือแมวนั้นอย่างจริงใจก็จะได้ความหนุ่มสาวมาเป็นรางวัล นั่นคือ “เมตตาบำบัด” ที่เป็นภาษาหัวใจให้ใครใครก็ชื่นใจ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีได้ถ้าไม่ได้ฝึกโดยเฉพาะตั้งแต่ยังเป็นผืนผ้าขาวสะอาด

การที่เด็กในแต่ละยุคต่างกันไปก็เพราะส่วนหนึ่งจากทัศนคติของพ่อแม่ ซึ่งแค่เราเปลี่ยนความคิดและการกระทำก็จะนำให้ลูกเปลี่ยนไปในทางดีได้ เช่น เด็กเห็นพ่อแม่ไม่เอาเปรียบคนอื่น ตื่นมายิ้มให้กัน แต่ละวันพูดกับคนขายของด้วยวาจาไพเราะ ลูกก็จะซึมซับได้

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงลูกหรือสอนเด็กให้ฉลาดและแสนดี นั้นไม่ยาก หากมีกิจกรรมต่อไปนี้เข้ามาช่วย คือ

1) เลือกหนังสือให้เด็กอ่าน

ผลวิจัยใหม่ที่ได้ข้อมูลจากการสแกนสมองของเด็กวัย 3-5 ขวบ ด้วย functional MRI พบว่า สมองซีกซ้ายมีการตื่นตัวในหลายตำแหน่งเมื่อเด็กฟังเรื่องเล่าจากผู้ใหญ่หรืออ่านหนังสือ ซึ่งบริเวณของเนื้อสมองที่ว่านี้เกี่ยวข้องกับความจำ, ความคิด และความเข้าใจศัพท์ เรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Pediatrics โดยพบว่า เด็กที่มาจากครอบครัวรักการอ่านหรือเล่านิทานให้กันฟังจะมีกิจกรรมในสมองส่วนนี้สูงกว่าซึ่งจะช่วยในการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต

2) เป็นอาจารย์ด้านภาษาศาสตร์

คุณพ่อคุณแม่คือครูที่ใกล้ชิดลูกได้ดีที่สุด การรู้ภาษาที่ช่วยสมองเด็กนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาต่างชาติเสมอ แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เก่งนั้นสามารถนำเอาภาษาไทยนี่เองมาช่วยสร้างสมองให้เด็ก ด้วยการเช็กสเปลลิ่งหรือเล่นเกมสะกดคำจากวรรณคดีไทยอย่างพระอภัยมณีหรืออิเหนา ที่เอามาเล่าสนุกเพิ่มสีสันด้วยการวาดกราฟิกลงบนแท็บเลตก็ได้ ดังในการศึกษาที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ 2 ภาษา พบว่า มันช่วยไปถึงเนื้อสมองในการเรียนรู้ต่อไปในอนาคตทั้งรูปธรรมและนามธรรม

3) อย่าขาดการเล่นให้เหมาะกับเพศ

การให้เด็กผู้หญิงเล่นตุ๊กตาและเด็กผู้ชายเล่นรถนั้นถือเป็นการเล่นแบบช่วยสมองได้ เพราะมันช่วยใส่ความรู้สึกประทับใจลงในหัวใจที่ยังเยาว์ให้เข้าใจบทบาทแต่ละเพศเมื่อเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างเหมาะสม ดังมีรายงานถึงการเพิ่มระดับ “ฮอร์โมนรัก” หรืออ็อกซิโทซินจากสมองของเด็กหญิงที่สมมติตัวเองเป็นแม่แล้วดูแลตุ๊กตาดุจลูกน้อย ซึ่งอ็อกซิโทซินนี้จะช่วยให้เด็กหญิงเติบโตขึ้นเป็นสาวที่ “รู้จักรัก” อยากมีลูกและถนอมครอบครัวไว้ได้อย่างเป็นสุข

4) ใช้เพจออนไลน์ให้เป็นประโยชน์

โทษของเพจออนไลน์กับจิตใจเด็กนั้นมีมากหากใช้ไม่ถูก แต่ถ้าอยากปลูกฝังสิ่งดีให้ในยุคนี้ก็ไม่ต้องหนีสื่อออนไลน์แต่ขอให้รู้จักใช้ให้เหมาะ เช่น ถ้าลูกจะดูคลิปต่างๆ อย่างช่องของดาราหรือว่าคลิปแรงๆ หนักๆ ก็ขอให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูช่วยใส่ความรักลงไป อย่าให้เขาคล้อยตามไปกับแอดมินเพจรุนแรง เพราะจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว เป็นผลลัพธ์ดังงานวิจัยจาก Ohio State U ได้ศึกษาไว้ ให้เราคอยสอนว่า ถ้านำเสนออย่างนี้อาจมีคนเข้ามาดูแต่หนูก็จะไม่ใช่คนน่ารักในสายตาของโลกโซเชียลเสมอไปเพราะความรุนแรงมันไม่ใช่ของยั่งยืนและจะได้รับผลร้ายตอบ เป็นต้น

5) ใช้วาจาเมตตาและให้อภัย

ถ้าอยากให้ลูกดี มีวิธีเริ่มที่ง่ายที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่เริ่มวันใหม่ด้วยการคุยกัน อย่าง พูดหวานขานเพราะ มีครับมีค่ะลงท้าย แม้คุยกับแม่บ้านหรือพนักงานเสิร์ฟอาหารก็เอ่ยปากกับเขาอย่างให้เกียรติไม่มีเลือกปฏิบัติ อย่างนี้จะจัดระเบียบให้สมองของเด็กพัฒนาไปในทางดี แม้จะมีพ่อแม่รุ่นใหม่คิดว่าคุยกันด้วยภาษาห้าวอย่างไรก็ได้ไม่มีใครเขาถือแล้ว แต่ขอให้รู้ว่าคำพูดที่เพราะนั้นมันมีผลกับจิตใจเด็กมาก ด้วยวลีที่เอ่ยเป็นบวกนั้น จะประทับลงในจิตใจของทั้งผู้พูดและผู้ฟังให้อ่อนโยนโดยไม่รู้ตัว และเมื่อทำไปบ่อยๆ เข้าจนติดเป็นนิสัยจะทำให้กลายเป็นคนอ่อนโยน ข้อสำคัญคือ ทำให้เด็กนั้นโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่หาความสุขให้หัวใจได้ง่ายขึ้น

“สิ่งเหล่านี้จัดเป็น ปัจจัตตัง คือ ทำเองแล้วจึงจะได้ผลดี เป็นรางวัลเองอันเป็นข้อพิสูจน์อยู่ในตัว โดยไม่ต้องมัวไปให้ใครเขาทำให้ดูก่อนเป็นตัวอย่าง ถ้าอยากสร้างให้ลูกของเราดี ผู้ใหญ่ต้องมีความเมตตาให้กันก่อน แล้วมันจะย้อนเข้าถึงหัวใจลูกหลานของเราได้เองโดยอัตโนมัติ” นพ.กฤษดา กล่าวสรุป