ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อนุทิน ลั่นต้องทำนโยบายกัญชาให้ได้ ดับฝันคนรอพี้ ยันใช้การแพทย์เท่านั้น!
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นประธานเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “กัญชาเสรีเพื่อการแพทย์” โดยมี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทย และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก
ทั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวตอนหนึ่งว่า เราได้สัญญาไว้กับพี่น้องประชาชนว่าหากพวกเราได้เป็น ส.ส. และได้รับโอกาสเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินจะทำเรื่องการใช้กัญชาเพื่อรักษาผู้ป่วยและการใช้กัญชาเพื่อรักษาทางการแพทย์ ซึ่งเราให้คำมั่นสัญญาว่านโยบายนี้ต้องเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแน่นอน พลังของทุกคนจะเป็นส่วนช่วยอย่างมากเพื่อให้นโยบายกัญชาเสรีและทางการแพทย์เกิดขึ้นได้โดยเร็ว
ทั้งนี้ เราได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุขโดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขนำทีมตัวแทนทุกกรมภายในกระทรวงมาร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ ถือว่ามีสปิริตในการทำงาน เป็นสัญญาณที่ดีและเป็นนิมิตหมายที่ดี
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า จากนี้ไปไม่ขอพูดว่านโยบายกัญชาเสรีเพื่อทางการแพทย์ เป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทย แต่เป็นนโยบายของคนไทยทุกคน จะสำเร็จได้หรือไม่ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาควิชาการ และสถาบันทางการแพทย์ต่างๆ จากที่พรรคเข้าใช้เฟซบุ๊กก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่าเมื่อไหร่จะจำหน่าย หรือจะปลูกได้เมื่อไหร่ เพราะอยากจะสูบและพี้กัญชาแล้ว
ซึ่งนั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของพรรคเพราะนโยบายหลักของพรรคคือเป็นทางเลือกในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เนื่องจากมีความเชื่อว่าสายพันธุ์ที่เรามีอยู่ในปัจจุบันนี้ถ้าเราทำเป็นอย่างดี จะทำให้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ลดน้อยลง เราต้องดูแลสุขภาพคนไทย และไม่ได้ดูแลบริษัทค้ากำไรจากการขายยา ซึ่งขอให้เป็นทางเลือกอีกทางที่คนไทยสามารถเข้าถึงได้ เพราะเรามีฐานะที่แตกต่างกัน
“เป้าหมายของพวกเราคือต้องการให้กัญชาต้องเป็นยารักษาโรคตามกฎหมาย ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และอยู่ในบัญชียาหลักที่ผู้ถือบัตร 30 บาทรักษาทุกโรคหรือบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาได้ และเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีใครสามารถอ้างสิทธิบัตรได้
หากทำได้สำเร็จจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับคนไทยอย่างมั่นคงและแข็งแรง ในฐานะที่ดูแลกำกับนโยบายนี้ขอขอบคุณพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ และเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมนโยบายรัฐบาลโดยนโยบายกัญชาเสรีเพื่อการแพทย์ถูกบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ขอให้รอฟังนายกฯ ประกาศนโยบายรัฐบาลในไม่ช้านี้” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า เมื่อตนได้เข้ามาแล้วก็ได้ประสานงานในเรื่องนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงนอกรอบ เพื่อผลักดันนโยบายนี้ทันที จากการลงพื้นที่และรับฟังเสวนา รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ มากมายเกี่ยวกับกัญชา ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่สนับสนุนและดูแลผลักดัน วันนี้ถือเป็นการบีบบังคับว่าถ้าเราทำนโยบายนี้ไม่ได้ เราสูญพันธุ์อย่างแน่นอน ดังนั้น เราต้องทำให้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ตนขอยืนยันว่านโยบายนี้มีเพื่อผู้ป่วยและเพื่อพัฒนาทางการแพทย์ของประเทศเป็นหลัก
“ผมเข้ามาในกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ถือเป็นรอบที่ 4 โดยเคยเป็นรมช.สาธารณสุขมา 2 สมัย ซึ่งเพื่อนข้าราชการทุกคนยังมีรอยยิ้มเหมือน 10 กว่าปีก่อน และมั่นใจว่าทุกคนที่เคยร่วมงานกันมารู้สไตล์การทำงานกันเป็นอย่างดี ว่ากระทรวงนี้ไม่มีภารกิจอื่นนอกจากทำให้ประชาชนคนไทยแข็งแรง
ทั้งเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค รวมถึงการเข้าถึงการรักษาโรค อยากเห็น 30 บาทรักษาทุกโรคให้หายขาดได้ อยากเห็นจำนวนคนไข้ติดเตียงลดน้อยลง รวมทั้งพัฒนา อสม. เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของรัฐ ทำให้ประชาชนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น นี่คือภารกิจหลัก เชื่อว่าจะตอบสนองต่อพี่น้องประชาชนได้” นายอนุทิน กล่าว
ขณะที่ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยมีนโยบายกับประชาชนในช่วงเลือกตั้งโดยสัญญาว่าจะผลักดันนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ให้เกิดผลภายใต้แนวคิดกัญชาคือยารักษาโรค
ดังนั้นจำเป็นต้องถอดกัญชาออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งก็มีประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจ ทั้งเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแพทย์แผนปัจจุบัน กลุ่มแพทย์แผนไทย ดังนั้น เราจะต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อทำนโยบายกัญชาเสรีเพื่อทางการแพทย์
เมื่อถามว่า ตามนโยบายได้ประกาศว่า จะขับเคลื่อนให้คนไทยปลูกที่บ้านได้เอง 6 ต้นจะมีแนวทางอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า จะต้องเป็นการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รักษาโรคเท่านั้น เหมือนพืชสมุนไพรอื่นๆ ที่คนไทยสามารถปลูกไว้ใช้ได้ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นอาจจะเป็นการขับเคลื่อนผ่านอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีอยู่ทั่วประเทศราว 1 ล้านคนก่อน
โดยจัดอบรมให้มีความรู้อย่างครอบคลุมรอบด้าน และขยายผลถ่ายทอดต่อไปยังประชาชนในการปลูกในบ้าน โดยจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และรักษาโรค เกี่ยวกับสรรพคุณต่างๆ และการปราศจากการปนเปื้อนโลหะหนักที่กัญชาจะดูดซับได้ดี ซึ่งอาจจะใช้เวลา 1-2 ปี จึงจะดำเนินการได้ทั่วถึง
นอกจากนี้ ภายหลังงานสัมมนา ทาง 12 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิข้าวขวัญ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสุขภาพไทย มหาวิทยาลัยรังสิต เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายเกษตรกรรมธรรมชาติ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) เครือข่ายผู้ป่วย และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นำโดย นางรสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว. ร่วมกันออกแถลงการณ์สนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้หมอพื้นบ้านเดชา ศิริภัทร ใช้รักษาผู้ป่วยกรณีจำเป็นเฉพาะรายอย่างต่อเนื่อง และทันต่อความต้องการของผู้ป่วย