สสว. เผยผลสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้านโครงสร้างต้นทุน

สสว. เผยผลสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้านโครงสร้างต้นทุน

สสว. เผยผลสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้านโครงสร้างต้นทุนและพฤติกรรมลูกค้า พบผู้ประกอบการกำไรบาง และกำลังเผชิญภาวะต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นมากโดยมีสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 92 ต้นทุนหลักอยู่ในหมวดสินค้าวัตถุดิบและหมวดค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและการขนส่งขณะที่ผู้บริโภคกำลังซื้อลดลงและยังเปลี่ยนเทรนด์ความชอบไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญคู่แข่งจากโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้นโดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คาดการณ์กำลังซื้อของผู้บริโภคปลายปี 2566 จะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและภาคการผลิตบางสาขา ส่วนสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุดคือการลดต้นทุนและกระตุ้นการใช้จ่าย

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกี่ยวกับโครงสร้างต้นทุนและพฤติกรรมลูกค้า โดยสอบถามผู้ประกอบการ จำนวน 2,610 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 22-31 สิงหาคม 2566 พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีสัดส่วนต้นทุนรวมต่อการขายสินค้าเฉลี่ยที่ร้อยละ 92 ซึ่งถือว่ามีต้นทุนสูงมาก และหากพิจารณาประกอบกับแนวโน้มการทำกำไรที่ผ่านมาของกิจการแล้วไม่ได้อยู่ในช่วงขาขึ้นแสดงว่าธุรกิจกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

โดยทั่วไปธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจที่กำลังเติบโตมักมีต้นทุนไม่เกินร้อยละ 50 ซึ่งจากผลการสำรวจครั้งนี้ต้นทุนหลักอยู่ในหมวดสินค้า/วัตถุดิบ ร้อยละ 43 รองลงมาคือ ค่าสาธารณูปโภค ร้อยละ 16 น้ำมันเชื้อเพลิงและการขนส่ง ร้อยละ 14 และค่าแรง ร้อยละ 12 ตามลำดับ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร้อยละ 73.7 เผชิญภาวะต้นทุนปรับเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหมวดค่าสินค้า/วัตถุดิบ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าสาธารณูปโภคและค่าแรง เป็นรายการที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการในทางลบสูง

ขณะที่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังมีจำนวนลูกค้าทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2565 และมีจำนวนร้อยละ 31.8 ที่มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสาขาที่เพิ่มขึ้นชัดเจนอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรมทางสังคมการประเมินกำลังซื้อและพฤติกรรมของผู้บริโภคในมุมมองของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พบว่า สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ คือ ผู้บริโภคมีเทรนด์ความชอบเปลี่ยนแปลงเร็วและกำลังซื้อลดลง

นอกจากนี้ ยังมีการใช้จ่ายบนโลกออนไลน์และมักรอซื้อสินค้าที่มีโปรโมชันมากขึ้น โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร้อยละ 70.3 มีแผนการรับมือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่เป็นการปรับเชิงรับ โดยเฉพาะการเพิ่มผลิตภัณฑ์หรือปรับการให้บริการ ตามเทรนด์ความต้องการ การปรับรูปแบบการให้บริการ การจัดโปรโมชัน เป็นต้น

โดยมีข้อสังเกตว่าประเด็นท้าทายที่เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ ในอนาคต เอสเอ็มอียังไม่พูดถึงมากนัก เช่น การสร้าง Branding ที่ยั่งยืน กลยุทธ์การขายในโลก Online/Platform ใหม่ มาตรฐานหรือเทรนด์สินค้าในอนาคต Carbon Issue, AI, New Skills ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคาดการณ์กำลังซื้อของผู้บริโภคปลายปี 2566 จะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และภาคการผลิต อาทิ การผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ผลิตภัณฑ์จากโลหะ และผลิตภัณฑ์จากยาง โดยเหตุผลหลักมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเทศกาลปลายปีที่จะมีแรงกระตุ้นให้ผู้บริโภคออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และความคาดหวังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล อาทิ มาตรการปรับลดค่าไฟฟ้า ค่าสาธารณูปโภค

เพื่อลดต้นทุนในการประกอบการส่วนความช่วยเหลือที่เอสเอ็มอีต้องการจากภาครัฐมากที่สุด คือ ด้านการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย โดยการควบคุมราคาสินค้า/วัตถุดิบ ลดค่าไฟฟ้า และลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง รองลงมา คือ ด้านการกระตุ้นการใช้จ่าย โดยส่วนใหญ่คาดหวังให้มีมาตรการเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค ด้านภาระหนี้สินและเงินทุน โดยต้องการการเข้าถึงสินเชื่อที่ตรงกับความสามารถในการชำระคืนมากขึ้น รวมถึงนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินเดิมทั้งในระบบสถาบันและหนี้สินนอกระบบ

และด้านการเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมธุรกิจ ส่วนใหญ่ต้องการให้ส่งเสริมความรู้ รวมถึงการทำตลาด เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันได้มากขึ้น ทั้งนี้ การช่วยเหลือดังกล่าวควรดำเนินการทุกภาคธุรกิจควบคู่กันไป เพื่อให้ครอบคลุมและช่วยบรรเทาปัญหาที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ให้มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น