เผยแพร่ |
---|
เข้าใจภาวะสมองเสื่อม เพื่อดูแลคนใกล้ตัวอย่างถูกวิธี
ภาวะสมองเสื่อม ส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นความเสื่อมตามวัย ส่งผลให้ความจำหรือการรับรู้บกพร่องไป หากคนใกล้ตัวของผู้ป่วยพามาพบแพทย์เร็ว ก็จะช่วยชะลอความเสื่อมลงได้
แพทย์หญิงดวงกมล สิงห์วิชา อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมหรือผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม มักมีความผิดปกติของการรับรู้บกพร่องไป ซึ่งประกอบไปด้วยการรู้คิด 6 ด้าน ได้แก่ ความจำ, สมาธิจดจ่อ, การรับรู้ตำแหน่งของวัตถุต่างๆ, การวางแผน, การใช้ภาษา, และการใช้ชีวิตในสังคม ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมมักพบว่ามีการรู้คิดที่บกพร่องมากกว่า 1 ด้าน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง เช่น ไม่สามารถจัดยาเองได้ หรือเดินทางไปธุระคนเดียวแล้วหลงทาง
ภาวะสมองเสื่อม เกิดขึ้นได้หลากหลายสาเหตุ มีทั้งสาเหตุที่สามารถรักษาได้ เช่น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคขาดวิตามินบี 12 เนื้องอกในสมอง โรคซึมเศร้า โรคเส้นเลือดในสมองตีบ และสาเหตุที่ไม่สามารถรักษาได้ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุหลักในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ ส่วนโรคอื่นๆ ที่สามารถทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคสมองส่วนหน้าฝ่อผิดปกติ
หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ และได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง การรักษาภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มที่สามารถรักษาได้ จะทำให้สมองของผู้ป่วยเหล่านั้นฟื้นฟูกลับมาสู่สภาวะปกติได้รวดเร็วกว่า ซึ่งโดยปกติแล้วแพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ ทั้งผู้ป่วย และญาติหรือผู้ดูแล รวมถึงตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อให้ได้ข้อมูลในการวินิจฉัยมากที่สุด และอาจมีทดสอบการรู้คิด ด้วยแบบประเมินต่างๆ เพื่อบอกถึงความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อมนั้น โดยใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
ส่วนการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ได้แก่ การตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุ เช่น ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ระดับวิตามินในเลือด หรือการตรวจพิเศษในผู้ป่วยบางราย เช่น การเจาะน้ำไขสันหลัง รวมทั้งการตรวจทางรังสี ไม่ว่าจะเป็น Computed Tomography (CT Scan), Magnetic Resonance Imaging (MRI) หรือ Positron Emission Tomography (PET) Scan ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ เพื่อตรวจการทำงานของสมองที่ได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
หากผู้ป่วยมีภาวะสมองเสื่อมจากสาเหตุที่รักษาได้ การรักษาที่ต้นเหตุจะเป็นการรักษาเพื่อทำให้สมองกลับมาทำงานได้ดี เกือบเท่าปกติ แต่หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมจากอัลไซเมอร์ การใช้ยารักษา เป็นเพียงแค่การชะลอความเสื่อมเท่านั้น เพื่อทำให้การรู้คิดหรือความจำที่ถดถอยดำเนินช้าลง
นอกจากการใช้ยารักษาแล้ว การฝึกสมอง หรือการพัฒนาสมองด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นเกมฝึกความจำ การพูดคุยสื่อสารกับคนในครอบครัว หรือการออกกำลังกาย ล้วนแล้วแต่ช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ดีเทียบเท่ากับการรักษาโดยการใช้ยา ดังนั้น การฝึกพัฒนาสมองควบคู่ไปกับการใช้ยา จึงเป็นการรักษาภาวะสมองเสื่อมจากอัลไซเมอร์ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
แพทย์หญิงดวงกมล สิงห์วิชา
อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี