TOYOTA เปิดโลกจินตนาการเด็กน้อย จากยานยนต์อนาคต สู่จักรกลพิทักษ์โลก

TOYOTA เปิดโลกจินตนาการเด็กน้อย

จากยานยนต์อนาคต สู่จักรกลพิทักษ์โลก

กล่าวกันว่าเด็กมีพลังแห่งจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่ผู้ใหญ่ไม่มี สามารถวาดความคิดได้ตรงไปตรงมาอย่างอิสระเสรี พลังที่เป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมอันหลากหลายบนโลกใบนี้ เป็นที่มาของหนึ่งในโครงการน้ำดี โครงการ “โตโยต้ารถยนต์ในฝัน” หรือ “TOYOTA Dream Car Art Contest 2023” ที่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นปีที่ 12

เวทีสำคัญที่สร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนไทยได้สื่อสารความนึกคิด ถ่ายทอดออกมาผ่านงานศิลปะ ขณะเดียวกันก็เป็นลมใต้ปีกที่ช่วยทั้งลับคมความคิด หนุนส่งให้เด็กและเยาวชนไทยขึ้นไปยืนอยู่แถวหน้าในระดับโลก และสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ติดตัวไปประกอบกิจกรรมอื่นๆ และใช้ในชีวิตประจำวันได้

ที่ผ่านมา โครงการประกวดวาดภาพระบายสี “โตโยต้ารถยนต์ในฝัน หรือ TOYOTA Dream Car Art Contest” เป็นจุดตั้งต้นความสำเร็จของเยาวชนไทยไปคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้วมากถึง 35 รางวัลจากผู้เข้าประกวดกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ได้รับทุนการศึกษาต่อต่างประเทศในสาขาศิลปะที่ตนเองสนใจ และได้รับโอกาสเข้าร่วมการประกวดในเวทีระดับสากล

“รถรักษ์โลก” สื่อสร้างสังคมความเป็นกลางทางคาร์บอน

นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวในพิธีมอบรางวัล “TOYOTA Dream Car Art Contest 2023” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า เป็นอีกหนึ่งโครงการที่โตโยต้าให้ความสำคัญ และดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 12 ปี มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนไทยได้พัฒนาความรู้ความสามารถ

รวมถึงทักษะทางด้านศิลปะ โดยเน้นที่การแสดงออกทางด้านจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกระตุ้นให้เกิดความสนใจในเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการสอดแทรกแนวคิด “รถรักษ์โลก” ผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อปในรูปแบบออนไลน์ และการลงพื้นที่ ส่งเสริมให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความร่วมมือกันในการสร้างสังคมแห่งความเป็นกลางทางคาร์บอน

“โตโยต้ามุ่งหวังที่จะยกระดับ และเสริมสร้างทักษะด้านศิลปะ และการสร้างผลงานอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้ความรู้พื้นฐานด้านการวาดภาพ และเสริมจินตนาการด้านความคิด ภายใต้หัวข้อ “โตโยต้ารถยนต์ในฝัน” และได้สอดแทรกแนวคิด “รถรักษ์โลก” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความร่วมมือกัน ในการสร้างสังคมแห่งความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ “Multi-pathway to reduce Co2 (Carbon Neutrality)”

นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

นายศุภกร กล่าวต่อว่า “ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการ มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดมากกว่า 4,000 ผลงาน จากน้องๆ ผู้เข้าประกวดทั่วประเทศ ซึ่งเราได้เห็นความตั้งใจ ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการผ่านผลงานการประกวดในครั้งนี้อย่างมากมาย และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้แก่โครงการฯ และเยาวชนไทย ที่ได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานถ้วยรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดในระดับประเทศ สำหรับเยาวชนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ของทั้ง 3 รุ่น ตลอดจนโครงการฯ จะมอบทุนการศึกษา พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับเยาวชนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอีกด้วย

สำหรับ รางวัลชนะเลิศ รุ่นระดับอายุไม่เกิน 7 ปี ได้แก่ “รถรักษ์โลก” ผลงาน ด.ญ.จิรภิญญา เหล็กกล้า โรงเรียนอนุบาลวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี รองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ “รถพลังงานเเสงอาทิตย์” ผลงาน ด.ช.ภูมิภักดี สุดสัมฤทธิ์ โรงเรียนบ้านไทยสามัคคี จังหวัดสระแก้ว รองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ “School Bus” รถต้นไม้สายเเบ่งปัน ผลงาน ด.ญ.กษิรา ไทเมืองพล โรงเรียนอนุบาลไพศาลวิทย์ จังหวัดขอนแก่น

รุ่นระดับอายุ 8-11 ปี รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “รถดอกหญ้าพลังงานลม DANDELION” ผลงาน ด.ช.กันตพัฒน์ พันธ์ป้อม โรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี รองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ “รถล้างท่ออุดตัน” ผลงาน ด.ญ.วรพิชชา พวงประโคน โรงเรียนอนุบาลวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี รองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ “รถกําจัดมลพิษ PMK 5.5” ผลงาน ด.ช.ภูมังกร บุญจันทร์ โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ จังหวัดอุตรดิตถ์

รุ่นระดับอายุ 12-15 ปี รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “Ocean’s Hope” ผลงาน ด.ญ.พรสินี ชูหนู โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี รองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ “รถดูด PM2.5” ผลงาน ด.ญ.วีรนุช หลองทุ่ง โรงเรียนเทิงวิทยาคม จังหวัดเชียงราย รองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ “รถยนต์รีไซเคิล สร้างอากาศบริสุทธิ์ช่วยลดมลภาวะ” ผลงาน ด.ญ.ณัฎฐ์กฤตา ภูทอง โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี

เวิร์กช็อป พื้นที่แห่งการเรียนรู้

เบื้องหลังของผลงานมหัศจรรย์ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์นั้น อาจารย์ทีฆวุฒิ บุญวิจิตร หัวหน้าภาควิชาจิตรกรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าว่า เด็กๆ มีพื้นฐานทางศิลปะดีอยู่แล้ว มีชุดข้อมูลของตนเอง ฉะนั้น ในกิจกรรมเวิร์กช็อปจะให้เด็กๆ เขียนนวัตกรรมหรือรถยนต์ของตัวเองลงในกระดาษเอ 4 จากนั้นให้เอาส่วนที่ตนเองคิดมาหลอมรวมกับเพื่อนๆ สร้างออกมาเป็นผลงานของกลุ่ม ทำให้ได้แชร์ข้อมูลของตัวเองกับเพื่อนๆ ตัวของเด็กเองก็มีต้นทุนทรัพยากรความรู้ที่จะนำไปต่อยอดในการสร้างผลงานตัวเองในกิจกรรมอื่นๆ และในชีวิตประจำวันของตนเองได้ด้วย

“เราได้เห็นไอเดียแปลกๆ เช่น เด็กคนหนึ่งบอกอยากจะทำรถจักรไดโนเสาร์ เพราะเป็นสัตว์ที่มีความแข็งแรงถ้าเกิดอุบัติเหตุ รถก็จะยังให้ความปลอดภัย เป็นสิ่งที่เกินจินตนาการและยิ่งใหญ่อย่างคาดไม่ถึง ซึ่งส่วนนี้จะเป็นส่วนที่จะมาเติมเต็มและเด็กๆ จะได้ต่อยอดความรู้จากเพื่อนๆ ไปด้วย กรรมการเองก็ได้เรียนรู้จากเด็กๆ ด้วย เป็นการเรียนรู้แบบ 2 ทาง เพราะเราโตแล้วเราก็จะมีความรู้แบบเดิมๆ ที่ถูกตีกรอบไว้แล้ว เด็กๆ เหมือนผ้าขาว จะมีความบริสุทธิ์ และมีไอเดียใหม่ๆ”

ล้ำไปอีกกับ สี่ล้อจักรกลพิทักษ์โลก

ผศ.ดร.อภิชาติ พลประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ปกติงานศิลปะระดับเด็กๆ จะเห็นว่าเด็กส่วนใหญ่จะวาดรูปอย่างมีอิสระ ในแบบของตนเอง แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา อยากวาดอะไรก็วาด ซึ่งหลักการหนึ่งที่ใช้พัฒนาเด็กที่มีความสามารถพิเศษคือ ความท้าทายด้วยโจทย์ที่ยากขึ้น ฉะนั้น ในการประกวดจึงวางโจทย์ รายละเอียดความคิดที่เสริมเข้าไป เป็นการกระตุ้นให้คิดวิเคราะห์ขั้นสูงมากขึ้น และได้ใช้ทักษะฝีมือสูงมากขึ้น

“ผลงานของเด็กๆ ทั้งที่คัดมาและรวมที่คัดออกไปเป็นจำนวนมากเห็นได้ชัดเจนว่า เต็มไปด้วยทักษะที่เกินมาตรฐาน มีการใช้ความคิดวิเคราะห์ สร้างคอนเซ็ปต์ และนำเสนอผลงานที่มีทั้งความหนึ่งเดียวและความสร้างสรรค์ ฉะนั้น เมื่อเทียบกับระดับโลก ผมว่าไม่แพ้ใครแน่นอน”

เช่นเดียวกับ คุณศิริวรรณ เต็มผาติ ที่ปรึกษาโครงการฯ Conceptual Designer Ink Studio ที่ให้ความเห็นว่า ปีนี้ธีมรถยนต์ในฝันคือ ทำอย่างไรที่จะให้รถช่วยลดมลภาวะที่เกิดขึ้นด้วย สิ่งที่คณะกรรมการทุกท่านได้เห็น นอกจากทักษะในการวาดรูปแล้วยังมีจินตนาการมากมาย ได้เห็นรถหน้าตาประหลาดๆ ที่น่าทึ่งต่างๆ นานา เด็กหลายคนไม่ได้แค่ออกแบบรถช่วยลดมลภาวะหรือลดโลกร้อน แต่เอาแนวคิดของการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจนไปต่อยอด บางรายไม่เพียงการเปลี่ยนเป็นออกซิเจน แต่เปลี่ยนเป็นน้ำสะอาด

นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนเป็นเงินได้อีกด้วย บางรายหยิบประสบการณ์ที่พบเจอจากการเดินทาง มาสร้างสรรค์ผลงาน เช่น รถเก็บขยะใต้ทะเล ยกตัวอย่างเช่น “รถรักษ์โลก” รางวัลชนะเลิศ รุ่นระดับอายุไม่เกิน 7 ปี ผลงาน ด.ญ.จิรภิญญา เหล็กกล้า ที่ไม่เพียงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายในรถยังมีต้นไม้ มีสัตว์น้ำที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ มีแขนยาวๆ สำหรับเก็บขยะ และมีท่ออากาศปล่อยออกซิเจนให้เพื่อนมนุษย์

หรือ “School Bus” รถต้นไม้สายแบ่งปัน รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ในรุ่นเดียวกัน ผลงาน ด.ญ.กษิรา ไทเมืองพล ออกแบบเป็นรถต้นไม้เคลื่อนที่โดยใช้พลังงานน้ำใจจากทุกคน เปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน นอกจากจะไม่ปล่อยแก๊ส Co2 รถคันนี้จะเอาหนังสือ อุปกรณ์การเรียน ของใช้จำเป็นไปให้เด็กที่ขาดแคลน

คุณศิริวรรณ เต็มผาติ เสริมอีกว่า สถานการณ์โควิดก็เข้ามามีบทบาทอยู่ในการสร้างงานศิลปะของเด็กๆ ด้วย หลายคนเอาเรื่องโควิดเข้ามาจับ มองว่าถ้ารถช่วยลดโลกร้อนได้แล้ว จะช่วยลดคนเป็นโควิดได้มั้ย ทำเป็นสถานพยาบาลในตัว

“ฉะนั้น เมื่อมองย้อนลงไปที่ผลงานของเด็กๆ พบว่า เด็กไม่ได้แค่สร้างสรรค์ผลงานดีๆ จากการวาดรูป แต่กำลังบอกเล่าเรื่องราวของตนเองที่ได้พบเจอ ทำอย่างไรจะให้สังคมดีขึ้นจากการที่มีรถ 1 คัน”

สำหรับผลงานที่ชนะการประกวดในระดับประเทศทั้ง 9 ชิ้น จะเป็นตัวแทนผลงานเด็กและเยาวชนไทยไปอวดสายตาต่อทั่วโลก บนเวทีชิงชัยในระดับนานาชาติ ที่ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคมนี้ เชื่อมั่นว่าจะสร้างชื่อคว้าชัยกลับมาอีกครั้ง.