GoldBread จากเถ้าแก่สู่การเป็นผู้ประกอบการ

GoldBread จากเถ้าแก่สู่การเป็นผู้ประกอบการ

หากลองนึกย้อนดู หลายๆ คนยังคงจดจำเรื่องราวในตอนช่วงเริ่มต้นธุรกิจได้ เพราะกว่าที่จะนำพาธุรกิจให้เติบโตและผ่านพ้นอุปสรรคมากมายมานั้น หลายร้อยเรื่องราวสามารถสร้างความฮึกเหิมใจได้ไม่น้อยในข้อที่ว่า ‘กว่าจะถึงวันนี้’ แม้สูญเสียแรงใจแรงกายไปมากมาย แต่ท้ายที่สุดสิ่งเหล่านั้นมิได้เสียเปล่า แต่ทำให้ต้นกล้าธุรกิจในตอนนั้นกลายเป็นไม้ใหญ่ที่เผชิญแรงลมฝนได้อย่างมั่นคงวันนี้  

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

สำหรับ คุณสุทัศน์ นันชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น ซี เอส โกลด์เบรด จำกัด ธุรกิจผู้ผลิตขนมปังแบรนด์ ‘โกลด์เบรด’ ภาพดังกล่าวคงต้องนึกย้อนไปในวัย 16-17 ปี ที่ช่วงชีวิตหักเหจากบ้านเกิดที่เชียงราย มาผจญความท้าทายใหม่ที่ภาคตะวันออก เริ่มต้นด้วยการเป็นมนุษย์เงินเดือนพนักงานร้านเบเกอรี่ จากนั้นได้ตัดสินใจประกอบธุรกิจของตนเองทั้งธุรกิจร้านประดับยนต์ ธุรกิจร้านอาหาร จนสุดท้ายด้วยความชื่นชอบการทำเบเกอรี่ได้เปิดร้านขนมปังในลักษณะขายส่งในช่วงปี 2534 ด้วยวัยเพียง 24 ปี จากประสบการณ์ทำงานเป็นลูกจ้างร้านเบเกอรี่ จึงได้คิดค้นปรับปรุงสูตรให้เป็นแบบฉบับของตัวเอง

แรกเริ่มคือทำขนมถั่วตัด สำหรับขายส่งร้านของชำในพื้นที่จังหวัดระยอง ส่งครั้งแรก 30 ถุง ราคาถุงละ บาท ได้เงินมา 240 ก็ดีใจ แต่ด้วยการที่ถั่วตัดเป็นอาหารแห้ง แม้จะเก็บได้นาน แต่ก็ขายออกช้า และไม่สดใหม่ เลยตัดสินใจทำเป็นขนมปังแทน และวางจำหน่ายตามร้านขายของชำ ซูเปอร์มาร์เก็ต และตลาดสด เพราะตอนนั้นยังไม่มีหน้าร้าน ก็ส่งร้านเล็กๆ ในตัวเมืองระยอง

โดยเริ่มทำร้านขนมปังแบบขายส่ง ร่วมกับ คุณเบญจวรรณ นันชัย ภรรยาคู่ชีวิต โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า ‘ขนมปังโกลด์เบรด (Gold Bread) จากผลตอบรับที่ดีจึงเริ่มขยายงานโดยจ้างคนเพิ่มและเพิ่มกำลังผลิต กิจการในช่วงแรกถือว่าขยายเร็วมาก มองว่าความสำเร็จในช่วงต้นเพราะมีการขยายกำลังการผลิตและบริการจัดส่งให้กระจายในพื้นที่มากขึ้น ตอนนั้นร้านขนมปังรายย่อยจะใช้วิธีมาซื้อที่หน้าร้านเท่านั้น การบริการของเราจึงเป็นจุดได้เปรียบทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังใส่ใจในเรื่องคุณภาพ รสชาติดี สินค้าสดใหม่อยู่เสมอ ที่สำคัญ ต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า

ขณะนั้นยังไม่มีหน้าร้าน จึงมุ่งทำการตลาดเฉพาะร้านโชห่วย ตลาดสด และซูเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่ ต่อมาจึงเริ่มนำไปวางจำหน่ายในปั๊มน้ำมัน โดยใช้วิธีบริการส่งสินค้าให้กับคู่ค้าถึงจุดขาย วางขายก่อน เก็บเงินภายหลัง และมุ่งเจาะตลาด Local โดยกระจายการส่งตามร้านของชำในพื้นที่จังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง ซึ่งไม่เพียงแค่จัดส่งขนมปัง มองว่ายังเป็นการบริการด้านโลจิสติกส์ให้กับคู่ค้า ที่ถือเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจได้รับความไว้วางใจ และมียอดขายในช่วงเริ่มต้นประมาณ 2 ล้านบาทต่อเดือนเลยทีเดียว

จุดพลิกผันอีกครั้งในปี 2540

คุณสุทัศน์ กล่าวว่า ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ขณะนั้นจากเดิมที่เคยมียอดขายขนมปังต่อเดือนประมาณ ล้านบาท ช่วงเศรษฐกิจไม่ดีรายได้ก็ลดลง ประกอบกับมีหนี้สินจากการขอสินเชื่อเพื่อลงทุนในธุรกิจประมาณ  5 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อเจอวิกฤตอีก ทำให้ธุรกิจเกิดปัญหาสภาพคล่องการเงิน

โดยมากธุรกิจจะล้มไม่ล้มก็เพราะเรื่องเงินนี่แหละ ซึ่งยอดขายขนมปังในตอนนั้นแม้จะลดลง แต่ก็ไม่มากนัก อาจเพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ดี คนก็หันมาบริโภคขนมปังมากขึ้น เนื่องจากราคาถูกและอิ่มท้องด้วย ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับธุรกิจ”

แต่ปัญหาใหญ่คือ ‘ไม่มีเงินสด’ ซึ่งอย่างที่พูดกันสมัยนี้ว่า Cash is king’ ทำให้บริษัทเจอปัญหาด้านสภาพคล่องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในการใช้จ่ายด้านวัตถุดิบ จึงได้ไปเจรจาต่อรองกับซัพพลายเออร์ที่จัดส่งแป้งทำขนมปังโดยขอยืดระยะเวลาการชำระเงินเพื่อให้มีระยะเวลาในการจำหน่ายสินค้ามากขึ้น และธุรกิจก็รอดมาได้ในที่สุด

ตอนผมเจอวิกฤต ก็จะแก้ด้วยการพยายามขายของเยอะๆ เร็วๆ ไม่ขยายการลงทุนเพิ่มในช่วงนั้น ภายใน เดือน ผมก็ฟื้น 

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ ‘คุณสุทัศน์’ ที่น่าสนใจอีกกรณี คือหลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มที่จะนิ่งขึ้น ในช่วงเวลาต่อมาเขาก็เริ่มมองถึงการสร้างโรงงาน โดยเขายังจำภาพตอนนั้นได้ดีและเล่าต่อว่า

ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นทางอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ได้มีการจัดงานและเชิญเจ้าหน้าที่ธนาคารไปด้วย เขาก็ถามผมว่ามีโรงงานหรือยัง ก็บอกยังไม่มีครับ เขาบอกว่าไปสร้างโรงงานดูสิ เขาจะอนุญาตให้ ก็เลยเป็นที่มาของการสร้างโรงงาน เป็นจังหวะที่ดีของชีวิต และก็เป็นความฝันของผมด้วยที่อยากจะมีโรงงานอะไรสักอย่าง

จากเถ้าแก่สู่การเป็นผู้ประกอบการ

คุณสุทัศน์’ เล่าอีกว่า เขาเองไม่ได้มีวิชาความรู้ในด้านการทำธุรกิจอะไรเลย ทุกอย่างเริ่มต้นจาก ‘การทดลองทำ’ ซึ่งความผิดพลาดหลายๆ ครั้งเกิดจากการขาดความรู้และไม่มีการวางแผน เขาไม่ทราบแม้กระทั่งว่าต้องใช้เงินเท่าไรในการสร้างโรงงาน เลยขอสินเชื่อไป 10 ล้านบาท ซึ่งเขาบอกว่า ไม่พอ เพราะทำไปสักระยะปรากฏว่าเงินหมดแต่โรงงานยังไม่เสร็จ เลยขอเพิ่มอีก 10 ล้านบาท และที่น่าสนใจคือไม่ถึงปี เงินดังกล่าวก็หมดไปอีกครั้ง และต้องขอกู้เพิ่มอีก 7 ล้านบาท

ปัญหาคือตอนนั้นยังไม่แยกกระเป๋ารายรับ รายจ่าย เลยนำเงินที่กู้มาสร้างโรงงานนำไปขยายตลาดด้วย เพราะกลัวว่าถ้าขายขนมปังได้น้อยจะทำให้ไม่มีเงินใช้หนี้ เลยไปทุ่มกับการตลาดเยอะๆ ด้วยเหตุนี้ ในระยะเวลาปี 2542-2543 ธุรกิจขนมปังจึงมีหนี้สะสมถึง 27 ล้านบาท ซึ่งมองว่าเป็นการใช้เงินไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ เพราะในตอนนั้นเพิ่งเริ่มธุรกิจจึงไม่มีความเข้าใจในการบริหารมากพอ

บทเรียนที่ได้ตอนนั้นคือ เราไม่ได้วางแผนชัดเจน เหมือนสร้างไปก่อน โดยไม่รู้ว่าในการสร้างโรงงานต้องมีอะไรบ้าง แถมยังต้องมีการทำบัญชีที่ดีมารองรับด้วย หรือแม้แต่ด้านโลจิสติกส์ ซึ่งมีรถขนส่งอยู่ 20 กว่าคัน แต่บ่อยครั้งรถเสีย ทำให้เสียโอกาส ก็ได้รับคำแนะนำให้ใช้บริการเช่ารถแบบจัดจ้างเอาต์ซอร์สดีกว่า ไม่ต้องดูแลรักษา และควบคุมคุณภาพได้ด้วย นับแต่นั้นความสัมพันธ์ระหว่างผมและธนาคารจึงมองว่าเป็นเพื่อนคู่คิดที่ดีเสมอมา มีการแนะนำความรู้ต่างๆ ให้อย่างต่อเนื่อง

หลังจากโรงงานสร้างเสร็จในปี 2544 กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ก็มีการกระจายสินค้าไปที่ศูนย์กระจายสินค้าตามภูมิภาค ปั๊มน้ำมัน ร้านค้า ร้านโชห่วย ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยยังใช้รูปแบบขายส่งบริการวางหน้าร้านคู่ค้า ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านเรามองเห็นจุดอ่อนของเราในเรื่องของความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการวางแผนทำการตลาด จึงจ้างที่ปรึกษามาเป็นอีกผู้ช่วยในการกำหนดแผนธุรกิจ และในปีนั้นยอดขายก็เพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านบาท และสูงสุดถึง 100 ล้านบาทต่อเดือน เลยทีเดียว

แต่การเปลี่ยนรูปแบบงานจากระบบเถ้าแก่ร้านขนมปัง สู่การเป็นผู้ประกอบการโรงงานผลิตขนมปัง บริบทย่อมแยกต่างกัน อีกสิ่งสำคัญที่คุณสุทัศน์เจอ คือเรื่อง ‘คน’ เพราะงานหนักขึ้น แต่พนักงานในโรงงาน พนักงานออฟฟิศก็ยังไม่เข้าใจระบบงาน เพราะส่วนใหญ่พนักงานไม่ได้มีความรู้สูง และธุรกิจโตเร็วเกินไป ทำให้พนักงานยังปรับตัวไม่ทัน จากรูปแบบงานเดิมที่เน้นแรงงานคน เปลี่ยนมาเป็นเริ่มมีการใช้งานเครื่องจักรแบบใหม่เข้ามาผสม แรกๆ พนักงานจึงมองว่ายุ่งยาก ไม่ชิน เกิดการต่อต้าน ปัญหาเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ในองค์กรที่เพิ่งเริ่มปรับตัว ดังนั้น การบังคับว่าต้องทำแบบนี้อาจจะไม่ใช่วิธีที่ได้ผลจึงใช้วิธีการอธิบายให้เห็นถึงรายได้ที่มากขึ้น ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นับเป็นทางเลือกและทางออกที่เด็ดขาด แถมยังขจัดปัญหายุ่งยากให้จบไปได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

เริ่มขยายธุรกิจอย่างจริงจังและเป็นแบบแผน

คุณสุทัศน์ บอกอีกว่า แต่ก่อนก็ไม่รู้ว่าต้องตั้งเป้ายอดขาย รู้แต่ว่าทำให้ดีที่สุด ทำให้ขายได้เยอะที่สุด โดยที่เราไม่ได้ตั้งเป้า ไม่มีแผน แต่มาทราบภายหลังว่าการมีแผนธุรกิจนั้นสำคัญมาก เพราะแม้จะขยายตลาดขนมปังมาต่อเนื่อง แต่กล่าวได้ว่าเริ่มเรียนรู้การทำธุรกิจที่เป็นรูปแบบจริงจังในปี 2547 ซึ่งกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ถึงกับต้องปูพื้นฐานกันถึง 10 ปีเลยทีเดียว

ด้วยการเป็นคนที่เจออุปสรรคอะไรก็ไม่เคยถอย ใจสู้ ทำให้ปัจจุบันมีศูนย์กระจายสินค้า 22 สาขาในพื้นที่ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และภาคอีสาน มีการจัดส่งสินค้ากว่า 2 หมื่นร้าน (รวมเซเว่น อีเลฟเว่น)

รวมทั้งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาสินค้าจากของเดิมที่มีอยู่ โดยจะใช้เทรนด์การบริโภคที่เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมของลูกค้าเข้ามาพัฒนาสินค้าในอนาคตอีกด้วย เช่นช่วงโควิด-19 ยอดขายสินค้าชนิด ขนมปังหมูหย็อง พิซซ่า ไส้กรอก ขายดี อาจเป็นเพราะว่าสามารถกินทดแทนอาหารหลักในราคาประหยัดกว่า อิ่มแถมสะดวกซื้ออีกด้วย ซึ่งนอกจากจะติดตามเทรนด์การบริโภค ยังพัฒนาขนมปังที่แปลกใหม่ ที่คาดว่าผู้บริโภคจะชื่นชอบออกสู่ตลาดควบคู่อย่างต่อเนื่อง 

 

วิกฤตโควิด ‘เราขยับตลาด ตื่นตัวก่อนเจอวิกฤต

จากปัญหายอดขายที่ลดลงนับตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งคุณสุทัศน์มองว่าเป็นความ ‘โชคดี’ เพราะตอนนั้นได้เริ่มมีการมองปัญหาดังกล่าวและปรับแผนธุรกิจใหม่ ทุกภาคส่วนของบริษัทมีการปรับตัว พอมาเจอวิกฤตโควิด-19 แม้จะได้รับผลกระทบแต่ก็ไม่มากนัก อันเนื่องจากมีทีมการตลาดที่เก่ง มองตลาดเป็น วิเคราะห์ได้ และทุกคนช่วยกันทำงานหนักขึ้น และแม้ในส่วนโรงงานจะกระทบบ้าง แต่ยอดขายเราโตขึ้นประมาณ 16-18%

จากปี 2563 ที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวลด คนเดินทางน้อย ทำให้ยอดขายร้านในปั๊มลดลง ขณะที่ยอดขายในร้านสะดวกซื้อยังดี ปัจจุบันลูกค้าหันมาจับจ่ายร้านที่ร่วมโครงการคนละครึ่งมากขึ้น ทำให้ยอดขายร้านค้ารายย่อยโตขึ้น เราจึงเน้นทำการตลาดไปที่ร้านค้ารายย่อย ขยันส่งสินค้าถี่ขึ้น เพราะสินค้าจะได้สดใหม่ก่อนถึงมือลูกค้าเสมอ

ผมทำธุรกิจไม่ได้มองใครเป็นคู่แข่ง แต่ก็มองว่าธุรกิจรายที่ใหญ่กว่าเราคือตัวอย่างที่ดี สามารถทำตามแบบอย่างเขาได้ รวมทั้งการพัฒนาคน แม้จะมองว่าโลกต่อไปต้องใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก แต่ไม่มีนโยบายลดคนงาน แต่มีนโยบายเพิ่มผลงาน

แผนต่อไปของคุณสุทัศน์ คือการสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังผลิตเพื่อขยายฐานลูกค้าในพื้นที่ภาคกลาง เป็นการลดต้นทุนในด้านค่าขนส่ง นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนการตลาดในอนาคตไปยังตลาดในภาคเหนือ และภาคใต้ที่เขายังไม่ได้ทำและนั่นอาจเป็นเป้าหมายถัดไป

เขามองว่ากว่า 25 ปีที่ดำเนินธุรกิจขนมปัง ผ่านบทเรียนให้ต้องล้มลุก จากเอสเอ็มอีรายเล็กๆ สั่งสมประสบการณ์ และพัฒนาธุรกิจจนมาถึงจุดที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน นอกจากใจสู้ รู้จักปรับตัว เรียนรู้สิ่งใหม่ แล้ว สิ่งสำคัญคือความซื่อสัตย์กับผู้บริโภค ซื่อสัตย์กับพนักงานในโรงงาน ซื่อสัตย์กับตัวเองและกับคู่ชีวิตที่ร่วมเผชิญความยากลำบากมาด้วยกัน

ทุกวันนี้ ‘คุณเบญจวรรณ’ ยังคงเป็นกำลังหนุนในหลายด้าน รวมทั้งการพัฒนาสูตรขนมปังให้สอดรับกับเทรนด์ตลาดและผู้บริโภค ซึ่งเธอมองว่าเทรนด์สุขภาพจะยิ่งสำคัญและเป็นทางเลือกแรกของผู้บริโภคยุคใหม่ ดังนั้น ทิศทางของธุรกิจขนมปังต่อจากนี้จะโฟกัสที่ความ Healthy มากขึ้น ซึ่งสอดรับกับโรงงานใหม่ที่กำลังจะสร้าง ที่คุณสุทัศน์มองว่านี่จะเป็นอนาคตต่อไปของธุรกิจขนมปังภายใต้แบรนด์ ‘โกลด์เบรด 

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก หรือสายด่วน 1333