ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา |
เผยแพร่ |
ทุกวันนี้หาขนมไทยที่อร่อยและเป็นสูตรดั้งเดิมได้ยากมาก ที่มีวางขายทั่วไปก็ทำกันยังไม่ครบเครื่อง หรือไม่ก็นำวัตถุดิบส่วนผสมแบบเทียมๆ มาใช้ คนไทยเองก็ไม่นิยมทำขนมไทยเพราะมีวิธี/ขั้นตอนที่ยุ่งยาก ละเอียด เลยแห่กันไปทำขนมเค้ก/เบเกอรี่กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ความจริงขนมไทยที่อร่อยแล้วมีคุณภาพก็ยังพอหาได้ เพียงแต่ต้องลำบากเดินทางออกไปตามต่างจังหวัด เพราะชาวบ้านหลายพื้นที่ยังเก็บภูมิปัญญาการทำขนมไทยแบบดั้งเดิมเอาไว้ แถมยังโชคดีที่พวกเขานำวัตถุดิบส่วนผสมที่มีความเป็นธรรมชาติมาใช้ อย่างไรก็ตาม ขนมไทยยังคงเป็นที่ต้องการของสังคมไทยในวาระเทศกาลมงคลต่างๆ
คุณวารุณี กีรติวิทยากร หรือ คุณตาล บ้านเลขที่ 39/2 หมู่ที่ 1 ตำบลท่าช้าง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง มีอาชีพทำขนมไทยขาย โดยเน้นความละเอียดประณีตบรรจงในวิธีการทำแต่ละขั้นตอน ใส่ใจพิถีพิถัน พร้อมกับปรับปรุงพัฒนาคุณภาพด้วยการคัดสรรวัตถุดิบจากธรรมชาติ ทำให้มีรสชาติอร่อย เข้มข้น ปลอดภัย เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าทุกกลุ่มทั้งแบบขายปลีก ขายส่ง หรือสั่งทำเพื่อใช้ตามงานสำคัญ ในชื่อแบรนด์ “น้ำตาล บ้านขนม”
คุณตาล เล่าว่า ไม่เคยมีประสบการณ์หรือความรู้เกี่ยวกับการทำขนมไทยมาก่อน แต่ชอบมากแล้วมักจะทำรับประทานเล่นกันภายในครอบครัว ภายหลังจากลาออกจากการเป็นพนักงานโรงงานในย่านวังน้อย ได้มาช่วยทำงานเกษตรกับสามี พอมีเวลาว่างก็หาความรู้การทำขนมไทยโบราณจากทางเน็ต พร้อมกับไปเรียนเพิ่มเติมที่ทางเทศบาลเปิดอบรม
จนเมื่อเกิดความชำนาญดีพอและมั่นใจในฝีมือระดับหนึ่งจึงทำแจกญาติบ้าง เพื่อนบ้านบ้าง กระทั่งทุกคนมีความเห็นพ้องถึงรสชาติและคุณภาพขนม จากนั้นคุณตาลจึงทำขนมออกไปวางขายตามตลาดนัดในละแวกบ้านก่อน จนได้รับความสนใจจากลูกค้าซื้อกันมาก ยิ่งเกิดความมั่นใจ
คุณตาล เผยว่า ขนมไทยโบราณในอดีตมีความอร่อย และเข้มข้นด้วยส่วนผสมที่ล้วนนำมาจากธรรมชาติ อย่างน้ำตาล กะทิ แป้ง พอนำมาผสมทำเป็นขนมที่ผ่านความยุ่งยากหลายขั้นตอน แต่เมื่อทำเสร็จจะมีความอร่อยแบบสัมผัสได้ ต่างจากขนมไทยสมัยปัจจุบันวัตถุดิบเหล่านี้หายากมาก แล้วที่ทำขายก็ไม่อร่อย รสไม่เป็นธรรมชาติ
ขนมไทยที่คุณตาลทำไปขายที่ตลาดเช้ามีหลายชนิด ได้แก่ ตะโก้, ข้าวเหนียวปิ้ง, ลืมกลืน, ชักหน้า, ขนมชั้น ส่วนสาลี่จะไม่ทำบ่อย ส่วนมากทำเฉพาะตามที่ลูกค้าสั่ง
แม่ค้าขนมไทยรายนี้ให้รายละเอียดตัวอย่างการทำสาลี่ว่าเป็นขนมที่ทำครั้งแรกด้วยความไม่ได้ตั้งใจ เป็นการใช้สูตรสาลี่โบราณจากผู้สูงอายุในชุมชน โดยใช้ไข่ขาวที่แยกจากไข่แดงเพื่อนำไปทำขนมอย่างทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ดังนั้น ไข่ขาวที่แยกออกมาเลยนำไปใช้ทำสาลี่แทน โดยคุณตาลไปร่ำเรียนการทำสาลี่มาจากพี่สะใภ้ซึ่งทำขนมไทยเก่งแต่ไม่ค่อยมีเวลา
สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ทำขนมสาลี่ประกอบด้วย ไข่ขาว, แป้งเค้ก, น้ำตาลทราย, นมข้น, นมสด, ผงฟู, SP, วานิลลา, นมแมว, มะนาว, สีผสมอาหารหรือสีธรรมชาติ และลูกเกด
เมื่อเตรียมส่วนผสมเรียบร้อยแล้วให้นำใส่ลงในถังแล้วตีให้เข้ากันจนฟูประมาณ 15 นาที ทั้งนี้ มีข้อแนะนำว่าหากต้องการตีไข่ขาวในช่วงอากาศร้อนจะต้องนำไปแช่ในตู้เย็นก่อน มิเช่นนั้นจะฟูยาก
ภายหลังตีไข่จนฟูแล้วจึงนำสีที่ต้องการมาใส่ อาจใช้สีตามธรรมชาติอย่างใบเตย กาแฟ หรืออย่างอื่นที่ชื่นชอบ หรือจะใส่สีผสมอาหารก็ได้ แล้วจึงนำไปนึ่งในซึ้งที่มีน้ำเดือดอยู่ โดยนึ่งครั้งละ 2 เตา ใช้เวลานึ่งครั้งละ 30 นาที พอครบเวลาให้แกะออกจากถาดอะลูมิเนียม แล้วนำไปวางผึ่งให้เย็นเล็กน้อยก่อนจะตัดเป็นชิ้น แล้วนำไปบรรจุลงในกล่องชิ้นละ 1 กล่อง ขายส่งในราคา 3 กล่อง 100 บาท
อย่างไรก็ตาม ขนมสาลี่ส่วนมากมักผลิตตามออเดอร์สั่ง เป็นสาลี่แบบทรงสี่เหลี่ยมที่มีด้วยกันหลายรส มีความเข้มข้นด้วยส่วนผสมวัตถุดิบที่ลงตัวสร้างรสชาติและความหอม เนื้อแน่น จนเป็นที่ถูกใจของลูกค้า เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้คุณตาลสบช่องด้วยการผลิตสาลี่รูปปลาคาร์พออกวางจำหน่ายในช่วงตรุษจีน ขายส่งราคากล่องละ 99 บาท ยิ่งทำให้ตรงตามความต้องการของตลาดเนื่องจากปลาคาร์พนิยมใช้ตามงานมงคล ส่งผลให้ยอดสั่งทะลุเป้า
นอกจากขนมสาลี่ซึ่งโดนใจลูกค้าทุกเพศ ทุกวัยแล้ว คุณตาลยังได้ผลิตขนมไทยชนิดอื่นขาย อาทิ ขนมลืมกลืน, ชักหน้า หรือตะโก้ โดยขนมเหล่านี้จะถูกบรรจุใส่กล่องพลาสติกใสขายส่งราคากล่อง 8 บาท คุณตาลบอกว่า ในบรรดาขนมไทยทั้งหมด ตะโก้จะได้รับความนิยมมากกว่าชนิดอื่น
ขนมไทยที่คุณตาลทำในแต่ละวันนอกจากนำไปขายเองตามตลาดชุมชนใกล้บ้านแล้ว ยังผลิตเพื่อให้แม่ค้ามารับไปขายในพื้นที่แถวนั้นหรือในตัวจังหวัดอ่างทอง หรือที่สุพรรณบุรีด้วย โดยมีจำนวนที่ผลิตขนมไทยขายแต่ละวัน 150-200 แพ็ก แต่ถ้าในกรณีที่เป็นวันพระใหญ่หรืองานเทศกาลสำคัญเพิ่มจำนวนการผลิตถึงวันละ 400-500 แพ็ก
ไม่เท่านั้น ขนมไทยแบรนด์ “น้ำตาล บ้านขนม” มีวางขายตามงานแสดงต่างๆ ที่จัดขึ้นในจังหวัด หรือตามที่ลูกค้าสั่งในงานมงคลต่างๆ ด้วย ขณะเดียวกัน คุณตาลบอกว่า ตอนนี้เริ่มมีลูกค้าสนใจขนมสาลี่ปลาคาร์พเพิ่มมากขึ้น แล้วสั่งผ่านเฟซบุ๊กเพื่อให้ไปส่งตามสถานที่ต่างๆ บ้างแล้ว แต่เนื่องจากการออกแบบกล่องบรรจุขนมยังไม่มีความแข็งแรงเพียงพอต่อการขนส่งในระยะทางไกลซึ่งอาจทำให้ขนมเกิดความเสียหายระหว่างทาง ฉะนั้น อาจพิจารณาดูความเหมาะสมเพื่อส่งให้ได้เฉพาะในพื้นที่ใกล้ที่สุดไปก่อน
หากผู้อ่านที่ชื่นชอบแล้วกำลังมองหาขนมไทยที่ผลิตด้วยคุณภาพแบบวิธีและส่วนผสมดั้งเดิม ขอเชิญชวนไปลิ้มรสขนมไทยแนวชาวบ้านที่ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาไว้อย่าง “น้ำตาล บ้านขนม” ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณตาล โทรศัพท์ (095) 956-4984