ไขกลยุทธ์ “ข้าวมันไก่ – ข้าวกล่อง 10 บาท” ขายยังไงให้มีกำไร กลายเป็นขวัญใจคนงบน้อย

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าช่วงนี้ราคาข้าวของ เครื่องใช้ หรืออาหารการกินต่างๆ ก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดไปได้ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง รวมไปถึงกำลังซื้อของคนก็มีขึ้นลงตามรายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากสำหรับพ่อค้าแม่ขาย

ร้านค้าบางราย ปรับตัวโดยการขยับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีกนิด เพื่อให้ร้านอยู่รอดได้ ผิดกับมุมมองและแนวคิดเจ้าของร้าน “นก ข้าวมันไก่ เคาะโต๊ะ” ซึ่ง คุณชุตินิษฐ์ ชิตเจริญ หรือคุณนก เจ้าของร้านวัย 33 ปี กลับมองว่า “ไม่ได้ต้องการขายเอารวย แต่อยากขายเพื่อให้คนที่มีงบน้อย หรือนักเรียน นักศึกษา ให้เขาเหล่านี้มีข้าวกิน ท้องอิ่ม”

ขายข้าวมันไก่10 บาท 10 ปี
ราคาไม่เคยเปลี่ยน

คุณนก ขยายความให้ฟังเพิ่มเติมว่า ก่อนจะมาทำข้าวมันไก่ขาย เคยเป็นพนักงานออฟฟิศคนหนึ่ง ทำงานประจำ มีเงินเดือนใช้ มีบัตรเครดิตใช้เหมือนสาวออฟฟิศทั่วๆ ไป เป็นสาวออฟฟิศอยู่เกือบ 4 ปีได้ ก่อนจะตัดสินใจลาออกมาค้าขาย ด้วยเหตุผลที่ว่า ทำงานไปเงินก็ไม่พอใช้ ทั้งยังติดหนี้บัตรเครดิตอีก จึงต้องหันกลับมาคิดใหม่

แต่ก่อนที่จะเกิดจุดเปลี่ยนและตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเป็นแม่ค้านั้น เธอบอกว่า แต่เดิมที่บ้านขายข้าวมันไก่มาก่อน เป็นสูตรของคุณพ่อ ขายอยู่ที่ท่าน้ำนนท์ก็ได้คลุกคลีกับบรรยากาศการค้าขายมาตั้งแต่ยังเด็ก และคิดว่าอาชีพค้าขายน่าจะตอบโจทย์ชีวิตมากกว่า จึงลาออกจากงานประจำ

โดยคุณนก ยังเล่าต่อว่า”จากวันที่ตัดสินใจลาออกจากงานมาขายข้าวมันไก่ก็ใช้เวลาขายมาร่วม 10 ปีแล้ว ทั้งสูตรดั้งเดิมของคุณพ่อ ทั้งจากการได้เข้ามาเรียนที่ศูนย์อบรมอาชีพและธุรกิจมติชน ตอนนั้นที่มาเรียนตั้งใจจะมาเอาป้ายการันตี แต่ตอนมาเรียนกลับได้เทคนิค เคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ กลับไปประยุกต์ใช้ที่ร้านด้วย อย่างเรื่องเนื้อไก่ แม้สูตรการเลือกไก่จะไม่เหมือนกัน แต่ก็สามารถนำไปปรับใช้กับที่ร้านได้ และจากการไปชิม ไปดู การขายข้าวมันไก่ของหลายๆ  ร้านที่ว่ากันว่าอร่อย ก็จะตามไปชิม ชิมเพื่อให้รู้ว่า ของคนอื่นเขาดีอย่างไร อร่อยอย่างไร เขาทำกันอย่างไร เพื่อเอามาปรับใช้กับร้านของตน จนสามารถปรับสูตรข้าวมันไก่เป็นของตัวเองร้านตัวเองได้ ซึ่งได้กลายมาเป็นสูตรเฉพาะที่ร้านนกข้าวมันไก่ เคาะโต๊ะในปัจจุบัน”

ช่วงแรกที่เริ่มมาทำข้าวมันไก่ขาย ก็พบเจอสารพัดปัญหา ทั้งเรื่องของความกดดัน สายตาของแม่ค้าด้วยกันเอง เนื่องจากราคาขายข้าวมันไก่ของร้าน ขายในราคาเพียง 10 บาท ทั้งเรื่องที่ลูกค้ามองว่าทางร้านใช้ของไม่ดีมาทำ จึงขายได้ในราคาเท่านี้ เกิดความไม่เชื่อมั่น คุณนก บอกเคล็ดลับว่า เธอมีวิธีรับมือกับเรื่องนี้โดยการท้าทายให้ลูกค้าแลกเงิน 10 บาทกับการทดลองซื้อข้าวมันไก่ของเธอไปชิม ทั้งเธอยังได้ยกวัตถุดิบที่ทำจริง ขายจริงให้ดูกันเห็นๆ ว่าของที่ร้านเธอใช้ เป็นของดีและมีคุณภาพ

ซึ่งกว่าจะเป็นที่ยอมรับได้นั้นต้องใช้เวลาพอสมควร โดยคุณนก เธอได้บอกอีกว่า ขายข้าวมันไก่ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ด้วยราคากล่องละ 10 บาท ไม่เคยขึ้นราคาเลยสักครั้ง ไม่ว่าวัตถุดิบจะถูกลงหรือแพงขึ้น ราคาข้าวมันไก่ของที่ร้านก็ราคาเดิมมาตลอด 10 ปี จนราคาขายได้กลายมาเป็นจุดเด่น เรียกแขกให้รู้จักร้านของเธอมากยิ่งขึ้น

เพิ่มจุดเด่น ให้การ “เคาะโต๊ะ” เป็นสร้างสีสันและสัญลักษณ์ร้าน

ล้มลุกคลุกคลานมาไม่น้อย คุณนกบอก อย่างนั้น กว่าจะเป็นที่รู้จัก สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ยังอยู่และขายได้มาจนทุกวันนี้คือ “คุณภาพของสินค้า ราคาที่ถูก รสชาติที่ถูกปาก ถูกใจคน” เป็นสิ่งที่ทำให้ร้านอยู่ได้ ซึ่งนอกเหนือจากราคา 10 บาทที่โดนใจคนงบน้อยแล้ว สัญลักษณ์อีกอย่างของที่ร้านคือการ เคาะโต๊ะ เป็นการเคาะเพื่อเป็นสัญญาณการบอกหรือแจ้งข่าวสารบางอย่างให้กับผู้ร่วมงาน ซึ่งเธอบอกว่า นี่เป็นวิธีการแก้ไขปัญหา อาการชอบเหวี่ยง หงุดหงิด อารมณ์ร้ายและพูดเสียงดังของเธอเอง

เหตุผลเพราะ เนื่องจากเวลาขายของเหนื่อยๆ แม่ค้ามักชอบทำหน้าหงิก เสียงดัง หน้าตาไม่รับแขก จนพี่สาวทัก จึงหันกลับมาคิดและปรึกษากับสามีของเธอว่า ควรทำอย่างไร จนคิดกันว่าลองใช้วิธีเคาะโต๊ะกันไหม ซึ่งได้กลายมาเป็นที่มาของชื่อร้าน เรียกกันมาจนถึงปัจจุบันและทำการจดทะเบียนการค้าด้วยชื่อ “นกข้าวมันไก่ เคาะโต๊ะ” เช่นกัน

จากวันที่เริ่มต้นขายข้าวมันไก่ได้เงินเพียงไม่กี่พันบาท แทบไม่มีอะไรคุ้มค่า ขายตามตลาดนัดทั่วไป จนเมื่อได้รับโอกาสให้ไปขายที่งานกาชาดเมื่อปี 2552  ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก คนรอเยอะมาก กำไรได้เยอะถึงวันละ 3 หมื่นกว่าบาท ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงได้มีโอกาสออกขายตามงานอีเว้นต์ต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

คุณนก เล่าให้ฟังอีกว่า ช่วงที่ขายข้าวมันไก่ ร้านของเธอมีทั้งขายในตลาดประจำ ที่ทำเลที่ตั้งเป็นร้านแบบร้านข้าวทั่วไป ในขณะที่ตอนนั้นก็ยังออกงานอีเว้นต์ไปด้วย ซึ่งเธอสังเกตเห็นข้อเปรียบเทียบของการขายทั้ง 2 แบบคือ การเปิดร้านมีที่ตั้งเป็นที่เป็นทาง รายรับที่ได้ เทียบไม่ได้กับออกขายตามอีเว้นต์เลย จึงตัดสินใจว่า จะขายข้าวมันไก่ไปตามงานอีเว้นต์ต่างๆ แทนการเปิดร้านแบบนี้ ซึ่งเธอบอกว่า เรื่องวัน เวลาหรือสถานที่ขาย มีให้ขายตลอดปีอยู่แล้ว

ทั้งนี้ คุณนก ยังมีหลักการและแนวคิดส่วนตัวในการเลือกทำเล สำหรับการออกงานอีเว้นต์ด้วยดังนี้ “อย่างแรกที่จะดูคือ เรื่องพื้นที่เป็นหลัก ดูภาพรวมว่าพื้นที่นั้นมีเด็กเยอะไหม หมู่บ้าน คอนโดฯ เยอะไหม อย่างที่ 2 สภาพแวดล้อมรอบๆ ด้าน ทำได้ด้วยการถามเพื่อนที่เคยไปทำมาค้าขายที่พื้นที่นั้น จึงจะรู้ว่าขายดีไม่ดี มีกำลังซื้อแค่ไหน อย่างที่ 3 ราคาค่าที่ ว่าร้านของตนจะพอไหวไหม และ 4 สำคัญไม่น้อยไปกว่าข้อได้เลยคือ ออร์แกไนซ์ที่จัดงาน จัดแล้วมีปัญหาไหม เคยโดนเชิดเงินไปหรือป่าว

ทั้งหมดนี้เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวและอาศัยระยะเวลากว่า 10 ปี ในการค้าขาย จึงทำให้รู้ว่าต้องแก้ไขปัญหาและทำงานอย่างไร ถึงจะทำให้ขายได้ อีกทั้งได้วางกลุ่มเป้าหมายสินค้าไว้ คือสินค้าที่ขายราคา 10 บาท ขายได้ทุกกลุ่มลูกค้าก็จริง แต่จำเป็นต้องมีกลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งโฟกัสไปที่เด็กนักเรียน และคนงบน้อย ยิ่งตรงไหนถ้ามีนักเรียนเยอะ ขายได้เยอะแน่นอน”

ส่วนราคาขาย 10 บาทนั้น ทำให้ได้กำไรไม่มาก อาศัยจำนวนในการขาย โดยข้าวมันไก่หนึ่งหม้อใช้ข้าวสาร 5 กิโลกรัม หม้อนี้ทำรายได้ 2,000 บาท ซึ่งจะหักค่าใช้จ่ายออก 1,000 บาท ซึ่งจะทำให้ได้กำไร 1,000 บาท นี่เป็นวิธีคิดง่ายๆ ในการบริหารจัดการรายได้ของคุณนก เนื่องจากพื้นที่การออกขายตามงานอีเว้นต์มีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง รายได้ในแต่ละวัน แต่ละพื้นที่จึงไม่เท่ากัน

สำหรับใครที่สนใจหรืออยาก แวะเวียนไปลองชิม ข้าวมันไก่ของร้าน “นกข้าวมันไก่ เคาะโต๊ะ” สามารถเข้าไปติดตามได้ที่ เฟซบุ๊คเพจ:นก เคาะโต๊ะ ข้าวกล่อง 10 บาท หรือโทรสอบถามกันได้ที่เบอร์ 098-5495902