ยำกับพล่าต่างกันยังไง ไขปัญหาโลกเกือบแตก พร้อมสูตรอาหารทำกิน

ยำกับพล่าต่างกันยังไง ไขปัญหาโลกเกือบแตก พร้อมสูตรอาหารทำกิน

หลายคนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ยำกับพล่า ต่างกันยังไง ทั้งที่มีรสเดียวกัน ใช้พริก มะนาว น้ำตาล น้ำปลาเหมือนกัน และเนื้อสัตว์ที่จะใส่ลงไปก็เหมือนกัน เอาเป็นว่าวันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จะมาไขปัญหาโลกเกือบแตกนี้มาให้ทุกคน

ความหมายของพล่า

จากข้อมูลของ ทอง โรจนวิธาน เรื่อง พล่ากับมูลอ่อน “จานเด็ด” ในเวสสันดรชาดก ซึ่งเผยแพร่ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2536 ได้อ้างถึง พล่า ในพจนานุกรม (หลวง) นิยามคำว่า “เครื่องกับข้าวชนิดหนึ่งคล้ายยำ แต่ใช้เนื้อดิบ” 

แต่มีพจนานุกรม (ราษฎร์) อีกฉบับหนึ่ง นิยามและอธิบายไว้ว่า “ชื่ออาหารชนิดหนึ่งใช้เนื้อสัตว์สดๆ ใส่น้ำส้มหรือน้ำมะนาวลงให้เนื้อสุก เคล้ากับผักและเครื่องปรุง…” 

อ่านนิยามนี้แล้วเล่นเอางงไปหลายตลบ ทั้งนี้เพราะไม่เคยได้ทราบว่าน้ำส้มหรือน้ำมะนาวทำเนื้อสดๆ ให้สุกได้ นอกจากใช้ความร้อนเท่านั้น เช่น ต้ม แกง ปิ้ง หรือย่าง ถ้าปรุงด้วยวิธีใส่น้ำส้มหรือบีบน้ำมะนาวมันก็จะไม่พ้นเป็นอาหารสุกๆ ดิบๆ จำพวกลาบก้อย หรือลู่ไปได้เลย แต่นิยามที่ว่ามาแล้วนี้ก็น่าจะถูกต้องแล้วตามพจนานุกรมราษฎร์บัณฑิต

ซึ่งให้พูดอย่างตรงไปตรงมา พล่า จะใช้วัตถุดิบที่เป็นเนื้อสด ซึ่งจะมีความกึ่งดิบกึ่งสุก โดยอาศัยความเป็นกรดจากมะนาว ทั้งนี้ เนื้อสัตว์ที่นำมาเป็นวัตถุดิบหลักต้องสามารถทานดิบได้

ความแตกต่างระหว่าง ยำและพล่า

นอกจากเรื่องวัตถุดิบหลักจากเนื้อสัตว์แล้ว ยังมีส่วนผสมของเครื่องเคียงที่ใส่เข้าไปร่วมด้วย แม้ว่าเครื่องปรุงรสหลักของยำและพล่า จะเหมือนกันคือ น้ำตาล น้ำปลา และน้ำมะนาว แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เครื่องเคียง

โดยหม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล ได้กล่าวถึงความหมายของพล่าในรายการ “หาทำ EP.24” ของช่อง จือปาก ไว้ว่า “พล่ามีสมุนไพร” ซึ่งสมุนไพรดังกล่าวประกอบไปด้วยเครื่องซอยคือ ตะไคร้ ข่า ใบมะกรูด หอมแดง พริกขี้หนู และใบสะระแหน่

ส่วนยำจะไม่มีสมุนไพรดังกล่าว สามารถใช้เนื้อสัตว์ทั้งดิบและสุกในการประกอบอาหาร ทั้งนี้ ยำในปัจจุบันมีความแตกต่างโดยการเพิ่มน้ำปลาร้าเข้าไปเพิ่มรสอีกแบบหนึ่ง

ทั้งหมดทั้งมวลความแตกต่างของพล่าและยำคือ สมุนไพร และเนื้อสัตว์ที่ต้องมีความกึ่งดิบกึ่งสุด สุดท้ายแล้วพล่าในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงตามปัจเจกซึ่งสามารถเปลี่ยนไปตามแต่ละพื้นที่ได้อย่างไม่สิ้นสุด

ขั้นตอนการทำพล่า

รสชาติของพล่าและยำ จะอยู่ที่ 3 รส คือ เปรี้ยว เค็ม หวาน ถือเป็นรสชาติตั้งต้นของคนไทย มีความจัดจ้านและเข้มข้น โดยรสเปรี้ยวจากมะนาว เค็มจากน้ำปลา และหวานจากน้ำตาลมะพร้าว

เสริมเป็นเกร็ดความรู้ น้ำตาลทราย จะมีรสหวานแหลมกว่าน้ำตาลมะพร้าว และน้ำตาลปี๊บที่ทำมาจากน้ำตาลมะพร้าว หากแข็งตัวมากเกินไปอาจเกิดจากการผสมน้ำตาลทรายในปริมาณที่สูง

วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จะมาเผยสูตรการทำพล่าแบบจัดเต็ม เริ่มจากการเตรียมวัตถุดิบดังนี้ 

  1. ตะไคร้ ข่า ใบมะกรูด หอมแดง พริกขี้หนู ใบสะระแหน่
  2. น้ำปลา มะนาว น้ำตาลปี๊ปหรือน้ำตาลมะพร้าว น้ำพริกเผา
  3. กุ้ง 4-5 ตัว นอกจากนี้ ใช้เนื้อสัตว์อื่นๆ ได้ตามใจชอบ

ขั้นตอนการทำ

  1. นำสมุนไพรทั้งหมดมาซอยบางๆ เตรียมรอไว้ ยกเว้นใบสะระแหน่
  2. ผสมน้ำปลา มะนาว น้ำตาลมะพร้าว ในอัตราส่วนที่เท่ากัน เช่น 1 ช้อนโต๊ะ ทุกอย่างต้อง 1 ช้อนโต๊ะเท่ากัน รสชาติจะมีความกลมกล่อมลงตัว
  3. นำเนื้อกุ้งทำความสะอาด ซับน้ำให้หมาดนำมาหั่นเต๋าชิ้นพอดีคำ
  4. นำส่วนผสมน้ำยำและสมุนไพรคลุกรวมกัน และฉีกใบสะระแหน่เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้น้ำมันหอมระเหยออกมา
  5. ชิมรสที่ต้องการ หลังจากนั้นคลุกเนื้อกุ้งกับน้ำพล่า ตักใส่จานพร้อมเสิร์ฟ