ผู้เขียน | วัชรี ภูรักษา |
---|---|
เผยแพร่ |
กล้วย เป็นพรรณไม้ล้มลุกในสกุล Musa มีหลายชนิดในสกุล บางชนิดก็ออกหน่อแต่ว่าบางชนิดก็ไม่ออกหน่อ ใบแบนยาวใหญ่ ก้านใบตอนล่างเป็นกาบยาวหุ้มห่อซ้อนกันเป็นลำต้น ออกดอกที่ปลายลำต้นเรียกว่า ปลี และมักยาวเป็นงวง มีลูกเป็นหวี ๆ รวมเรียกว่า เครือ ที่เริ่มต้นด้วย
เมื่อพูดถึงเรื่องของกล้วย เราต่างก็ทราบกันดีอยู่แล้วโดยทั่วไปว่า กล้วยสามารถนำเอาทุกสัดส่วน ตั้งแต่ลำต้น ใบ หัวปลี และลูก มาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะทำเป็นอาหารทั้งคาว-หวาน ใช้ทำเป็นภาชนะใส่ของ หรือทำเป็นของใช้สอยประโยชน์อย่างอื่นก็สามารถทำได้หลากหลาย
อย่าง คุณขวัญจิต สุขสวัสดิ์ หรือคุณเก๋ วัย 47 ปี เจ้าของร้านกล้วยปิ้ง ร้านเล็กๆ เปิดขายมากว่า 20 ปี ที่หน้ามหาวิทยาลัยสยาม โดยเธอมีอาชีพและสร้างรายได้จากการขายกล้วยปิ้ง
เธอเล่าให้ฟังว่า “เมื่อยี่สิบปีก่อนที่จะมาขายกล้วยปิ้ง ก็เคยทำงานทั่วไปมาก่อน แต่ก็ได้ลาออกจากงานเพราะคุณแม่หันมาทำอาชีพค้าขาย โดยเปิดร้านขายผลไม้และต้องการคนมาช่วย จึงลาออกมาช่วยแม่ขายผลไม้ ต่อมาพอร้านขายผลไม้เข้าที่เข้าข้าง ก็พอมีเวลาว่างเหลือ จึงมองหางานเสริมทำ ก็ได้เห็นว่าญาติทำกล้วยปิ้งขาย เขาก็ขายได้ และที่สำคัญมันไม่ได้ยุ่งยากมากมายอะไรนักในการเตรียมตัว เตรียมของขาย เลยทำบ้าง
จากวันนั้นที่ตัดสินใจขายกล้วยปิ้ง เมื่อปี 2539 มาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ร่วม 20 ปีแล้ว และได้กลายเป็นอาชีพมาตลอด เปิดหน้าร้านเริ่มขายตั้งแต่แรกก็ยึดทำเลหน้ามหาวิทยาลัยสยามเป็นที่ตั้งต้น และก็ขายอยู่ที่นี่เรื่อยมา แรกเริ่มเดิมที คุณขวัญจิต เล่าว่า “ช่วงแรกที่ขาย คือขายดีมาก เพราะสมัยก่อนนั้นนักศึกษาเยอะ คนก็เยอะ ทางเดิมริมฟุตบาธนี่ไม่พอจะมีที่ให้เหลือเดินเลย ต้องไปเดินกันบนถนนก็มี ขายตั้งแต่หกโมงเช้าไปถึงทุ่มกว่ากันเลยทีเดียว วันหนึ่งๆ ได้กำไรจากการขายกล้วยปิ้งประมาณ 1,000 บาท ก็ปิ้งกันวันละ 800-900 ไม้
สมัยนั้นขายไม้ละ 2 บาท ตั้งแต่กล้วยยังนับลูกขาย 100 ลูก ราคา 45 บาทอยู่เลย แล้วกล้วยปิ้งก็ไม่ได้มีคนขายเยอะแบบนี้ จนราคาวัตถุดิบเริ่มขึ้นราคา แม่ค้าก็ขยับราคากล้วยปิ้งขึ้นเป็นไม้ละ 3 บาท มาเป็น 4 บาท จากนั้นไม่นานก็ขยับราคาขึ้นไปที่ 5 บาท ซึ่งราคาไม้ละ 5 บาทก็อยู่มานานจนถึงทุกวันนี้ และจะยังไม่ขึ้นราคา แม้ว่าราคากล้วยต่อหวีจะสูงมากถึง 60 บาท ในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม”
โดยคุณขวัญจิต เล่าเพิ่มเติมต่อว่า ที่ไม่ขึ้นราคากล้วยปิ้ง ก็เพราะอยากให้คนทานซื้อง่าย เราเองก็อยากขายคล่อง แม้ว่ากำไรจะได้ไม่เยอะอย่างแต่ก่อนแล้วก็ตาม อีกอย่างเป็นร้านเล็ก ไม่ได้มีคนช่วยปิ้งแบบเมื่อก่อน เราปิ้งคนเดียวหมดทุกไม้ จะมาขึ้นราคา หรือหวังเอาแต่ขายอย่างเดียวก็ไม่ใช่ เพราะค่อนข้างใส่ใจและละเอียดกับการปิ้งกล้วยมาก อยากให้คนทาน ได้ทานของดีๆ โดยนึกถึงใจเขา ใจเรา สมมติว่าเราเป็นคนซื้อ เราก็อยากได้ของดี ของอร่อย คุณภาพของกล้วยปิ้งของที่ร้านจึงสำคัญมากๆ
แม้ว่าร้านกล้วยปิ้งไม้ละ 5 บาท ของคุณขวัญจิต จะเป็นร้านเล็กๆ แต่การเลือกกล้วย ไม่ง่ายเหมือนสำนวน ง่ายอย่างกับปอกกล้วยเลย เพราะที่ร้านใช้กล้วยคัดไซซ์ ลูกใหญ่ รับตรงจากชาวสวน จ.เพชรบุรี โดยตรง ซึ่งเป็นขาประจำซื้อขายกัน โดยคุณขวัญจิตให้เหตุผลว่า ที่เลือกรับกล้วยจากชาวสวนที่เพชรบุรี เพราะทำการค้าขายกันมานาน รู้ใจกันดีว่า เธอต้องการกล้วยแบบไหนมาปิ้งขาย ระยะเวลาการแก่ของกล้วย เพราะเธอรับซื้อมาแบบกล้วยดิบ มาบ่มให้สุกเอาเอง เพื่อง่ายต่อการดูแลและควบคุมเวลาสุกที่พอเหมาะในการจะเลือกกล้วยเอามาปิ้ง และที่สำคัญกล้วยที่จังหวัดเพชรบุรีขึ้นชื่อเรื่องปลูกได้อร่อย และการที่ได้กล้วยลูกใหญ่ หวีใหญ่ ผลสวย มันดีต่อตัวเราเองในการปิ้งขายด้วย เพราะเวลาเอามาหั่นมันได้เนื้อ ส่วนเรื่องราคาไม่เคยเกี่ยง จะแพงมาบ้าง น้อยบาง ก็เป็นกลไกการตลาดว่ามันเป็นยังไง ก็ต้องเป็นไปตามนั้น
สำหรับเทคนิคการดูกล้วยว่าจะเอาแบบไหน สายพันธุ์อะไรมาปิ้ง แล้วอร่อยนั้น คุณขวัญจิตบอกว่า ถ้ากล้วยที่ปิ้งออกมาแล้วอร่อยชัวร์คือ กล้วยที่ไส้ในมีสีเหลือง ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนก็มักจะอร่อย และที่สำคัญคนขายจะต้องเข้าใจ และรู้จักด้วยว่ากล้วยมีกี่ชนิด มีสายพันธุ์อะไรบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้จัดเตรียมกล้วยได้ถูกจังหวะเวลาให้เหมาะสมที่จะเอามาปิ้งขาย และกล้วยที่ต้องระวัง ก็คือกล้วยเหลี่ยม หรือกล้วยที่ยังไม่แก่ดี มันจะให้รสชาติที่ไม่อร่อย เวลาปิ้งขอบมันจะดำ สีไม่สวย ปิ้งไม่ดี ก็เสียของ ไม่อร่อย
คุณขวัญจิต บอกว่า ที่ร้านยังใช้เตาถ่านแบบดั้งเดิม ปิ้งกล้วยอยู่ เพราะรู้สึกว่าเตาถ่านให้ความหอม มีความร้อนระอุทั้งวัน และเตาถ่านจะให้ความหอมที่เป็นเอกลักษณ์มากกว่าการใช้เตาปิ้งแบบใช้แก็ส แม้ว่าเตาถ่านจะควบคุมความร้อนได้ยากไปหน่อย แต่ก็ยังเลือกใช้เพราะมันจะทำให้กล้วยปิ้งของเราอร่อย”
จนได้กลายเป็นจุดเด่นของร้านเล็กๆ ของ คุณขวัญจิต และเธอยังบอกอีกว่า “เป็นคนทำอะไรค่อนข้างละเอียด ไม่ชอบให้ลูกค้ามาเร่งตอนปิ้งกล้วย เพราะเดี๋ยวมันจะทำให้กล้วยปิ้งไม่อร่อย เราอยากทำให้ดี ให้อร่อย ดีกว่าการที่ซื้อไปแล้วมันไม่อร่อย เวลาที่ได้กินไปแล้ว จะได้รู้สึกดี และประทับใจ อยากกลับมากินอีก เคยมีหลายครั้งที่ลูกค้ามาซื้อ แต่ไม่ได้ซื้อไปกินเอง มีคนฝากซื้อ แล้วเขามาเร่งเรา บอกว่า รีบ ขอเลย ซึ่งแบบนี้เราจะบอกเขาตรงๆ ว่าเราไม่ทำให้ เพราะคนกิน เขาจะได้กินของไม่อร่อย แล้วมันจะกลายเป็นสิ่งไม่ดี ร้านเราก็จะขายไม่ได้”
เธอยังบอกอีกว่า “เคยมีคนอยากให้ไปเปิดร้านขายกล้วยปิ้งในห้าง โดยไปเป็นลูกจ้างเขา แต่สูตรก็เป็นของตัวเอง และให้ไปเป็นลูกจ้างเขา ซึ่งก็ไม่ไป เพราะทุกวันนี้เราเป็นนายตนเอง สูตรน้ำจิ้มกล้วยปิ้งก็เป็นของเราเอง สบายใจมากแล้ว ทำไมต้องไปเป็นลูกน้องเขาอีก ก็เลยไม่ไป ก็มีหลายครั้งที่มีคนมาติดต่อ แต่ก็ไม่ได้อยากไป ก็ยังขายที่เดิม ปัจจุบันขายได้วันละประมาณ 200 ไม้ กำไร ก็ประมาณ 300 บาทต่อวันเพราะเราปิ้งคนเดียว ไม่ได้ขายกะเอาร่ำรวยขนาดนั้น ขายเพื่อหาเลี้ยงชีพ มีเงินใช้ เงินเก็บนิดหน่อย ก็มีความสุขแล้ว”
สำหรับเทคนิคพิเศษของน้ำจิ้มที่ร้านของคุณขวัญจิต ก็ไม่มีอะไรมาก เธอว่าอย่างนั้น เพราะเธอบอกว่าก็ทำน้ำจิ้มปกติเหมือนร้านกล้วยปิ้งทั่วไป มีสูตรทั่วไปที่สามารถหาได้ง่าย แต่เธอแค่เพิ่มความหอมโดยการใส่ใบเตยลงไปก็เท่านั้น
สำหรับใครที่อยากลองชิมก็สามารถแวะเวียนไปกันได้ที่ ร้านกล้วยปิ้ง ตรงข้ามมหาวิทยาลัยสยาม หรือโทร (087) 5505998