คนนครปฐม นำพันธุ์ไม้ผลหลายชนิด ปลูกที่ระโนด สงขลา ผลผลิตดีเกินคาด

ความเหมาะสมทางทรัพยากรธรรมชาติของไทยได้เอื้อประโยชน์ต่อการนำพืชผัก ไม้ผล หลายชนิดไปปลูกได้ดียังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ มิหนำซ้ำบางพื้นที่อาจได้ผลผลิตดีทั้งคุณภาพและปริมาณกว่าเจ้าของพื้นที่เดิมเสียด้วยซ้ำ

อย่างราย คุณรุ้งตะวัน ช้างสาร หรือ คุณแป๋ว เป็นคนนครปฐมโดยกำเนิด เป็นลูกชาวสวนเต็มตัว ครั้นแต่งงานได้ย้ายไปร่วมชีวิตกับสามีที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา พร้อมกับนำความรู้ ความสามารถจากอาชีพชาวสวนที่บ้านเกิดไปบุกเบิกปลูกไม้ผลชนิดถอดแบบจนประสบความสำเร็จ สร้างรายได้และชื่อเสียงให้แก่จังหวัดได้อย่างดี

คุณรุ้งตะวัน ช้างสาร เจ้าของสวน รุ้งตะวันที่ระโนด สงขลา

ถอดแบบการปลูกไม้ผล ที่นครปฐม ไปใช้ที่สงขลา ได้ผลดี

คุณแป๋ว เล่าว่า ด้วยความที่เป็นลูกชาวสวนผลไม้ เมื่อเห็นว่าสภาพดินในพื้นที่มีความคล้ายกับทางนครปฐม จึงนำแนวทางปลูกผลไม้และพืชชนิดอื่นที่เคยปลูกอยู่ที่บ้านเกิดมาใช้กับพื้นที่ของสามี จำนวน 6 ไร่

เริ่มต้นด้วยการปรับผืนนาเดิมให้เป็นร่องสวนตามแบบอย่างของจังหวัดนครปฐม แล้วนำพันธุ์ฝรั่งแป้นสีทองจำนวน 250 กิ่ง มาปลูก กระทั่งพบว่าคุณภาพดิน ตลอดจนสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมไม่สร้างปัญหาแต่ประการใด อีกทั้งยังตอบสนองต่อการปลูกฝรั่งจนได้ผลดี และมีจุดเด่นตรงที่ให้ผลผลิตได้ต่อเนื่อง

จากนั้นจึงนำพันธุ์ชมพู่ทูลเกล้ากับเพชรน้ำผึ้งมาปลูกต่อ เพราะในพื้นที่แถบนี้ไม่เคยมี จนเมื่อปลูกชมพู่ประสบความสำเร็จทำให้ได้รับความนิยมอย่างมาก จึงทำให้ไม้ผลทั้ง 3 ชนิด ที่ปลูกผสมผสานในพื้นที่ 6 ไร่ ได้ผลดีตามคาด

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปลูกชมพู่ทูลเกล้ากับเพชรน้ำผึ้งต้องประสบปัญหาโรค/แมลง ทำให้ผลผลิตขาดคุณภาพ ขณะที่ชมพู่พันธุ์น้องใหม่อย่าง ทับทิมจันท์ กำลังได้รับความนิยมเนื่องจากมีคุณลักษณะเด่นหลายอย่าง จึงทำให้คุณแป๋วเปลี่ยนมาปลูกทับทิมจันท์แทนในเวลาต่อมาแล้วประสบผลสำเร็จอย่างดีจนถึงทุกวันนี้

ขณะเดียวกัน เมื่อมาดูแนวโน้มของตลาดที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้คุณแป๋วตัดสินใจเพิ่มพื้นที่อีก จำนวน 32 ไร่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้ทันกับความต้องการ พร้อมไปกับการวางผังการปลูกพืชอายุสั้น อย่าง พริก แคนตาลูป มะเขือเทศเชอร์รี่ ร่วมด้วย

ล่าสุด เมื่อปี 2559 ได้ลองนำพันธุ์พุทราจัมโบ้แอปเปิ้ลจากนครปฐมมาปลูกเพิ่มอีก จำนวน 20 ต้น ปรากฏว่าได้ผลออกมาดีสมบูรณ์ทุกอย่าง จากนั้นจึงเพิ่มจำนวนอีกกว่า 200 ต้น ในเวลาต่อมา แล้วคาดว่าคงมีผลผลิตในปี 2561

เน้นปลูกแบบอินทรีย์ ผลผลิตสมบูรณ์

คุณแป๋ว ยกตัวอย่างการปลูกชมพู่ทับทิมจันท์ว่า ปลูกมาได้ 13 ปี ต้องหมั่นตัดแต่งกิ่งเพื่อทำสาวอยู่ทุก 3 ปี ได้ผลผลิตเป็นรุ่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากไม่ได้พึ่งพาสารเคมี จึงอาศัยผลผลิตเฉพาะในช่วงฤดูกาล คือประมาณเดือนพฤศจิกายน-เมษายน แล้วพักต้น 3 เดือน เพื่อให้ต้นสามารถกลับมาให้ผลผลิตได้อีก

“ผลผลิตชมพู่แต่ละรุ่น เฉลี่ย 100 กิโลกรัม ต่อต้น อันนี้เป็นต้นที่มีอายุมาก แล้วเวลามีผลผลิตแต่ละรุ่นจะไม่เก็บไว้มาก เพราะจะทำให้ต้นโทรมเร็ว ส่วนต้นที่อายุน้อยก็จะได้ประมาณ 50 กิโลกรัม ต่อต้น โดยมีขนาด 8-9 ผล ต่อกิโลกรัม”

ชมพู่ทับทิมจันท์จำนวน 9 ผล ต่อกิโลกรัม

เจ้าของสวนชี้ว่า การพึ่งพาผลผลิตตามฤดูกาลต้องทุ่มเทกำลังกายและใจอย่างเต็มที่ ควรหมั่นดูแลกำจัดวัชพืชออกให้หมด เพื่อให้บริเวณสวนมีความสะอาด โล่ง เตียน เป็นการป้องกันโรคและศัตรูพืชด้วย สำหรับการใส่ปุ๋ยจะเน้นที่ปุ๋ยขี้เป็ดเท่านั้น เพราะมีแคลเซียมสูงช่วยสร้างลำต้นให้แข็งแรง ช่วยทำให้ต้นสามารถตั้งทรงได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ โดยเทใส่รอบโคนต้น ส่วนปุ๋ยสูตรจะใส่ไม่บ่อยนัก เป็นสูตรเสมอ 15-15-15

คุณแป๋ว บอกว่า การสร้างคุณภาพของชมพู่ตามแบบอย่างจังหวัดนครปฐมคือ ต้องกำหนดระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 7 คูณ 7 หรือ 8 คูณ 8 ก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่แต่ละแห่ง เพราะชมพู่เป็นไม้พุ่มใหญ่ ขณะเดียวกันต้องตัดแต่งทรงพุ่มเมื่อเห็นว่าทึบมาก พร้อมกับการห่อผลเพื่อป้องกันแมลงวันทอง ขณะเดียวกัน ยังต้องหาทางป้องกันค้างคาวและกาดำที่เป็นศัตรูสำคัญในช่วงห่อผลด้วย

แคนตาลูปรุ่นสุดท้าย

ความใส่ใจต่อการปลูกเช่นนี้ จึงทำให้คุณแป๋วมั่นใจว่ารสชาติชมพู่ทับทิมจันท์ที่ปลูกในตำบลพังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มีความหวานจัด เปลือกหนาและกรอบ เนื้อแห้งกำลังดี จึงเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า ต่างจากที่ปลูกแถวนครปฐมที่เนื้อมีน้ำมาก ฉะนั้นถือว่าคุณแป๋วเป็นคนแรกของชาวบ้านในพื้นที่ที่นำชมพู่ทับทิมจันท์มาปลูกจนได้รับความนิยม

จากคุณภาพและความสมบูรณ์ของชมพู่ทับทิมจันท์ รวมถึงไม้ผลชนิดอื่น จึงทำให้ภาคราชการเล็งเห็นความสำคัญด้วยการสนับสนุนงบประมาณมาช่วยต่อยอดเพื่อถ่ายทอดให้ความรู้แก่ชาวบ้านคนอื่นๆ พร้อมสนับสนุนเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ

มะเขือเทศเชอร์รี่ที่มีความสมบูรณ์ สีสดสวย และปลอดภัย

สำหรับตลาดขายผลไม้ของคุณแป๋วจะอยู่ในจังหวัดสงขลา หรือตลาดสองเล กับอีกแห่งคือที่ชมรมรักสุขภาพสยามนครินทร์ที่หาดใหญ่ โดยกำหนดราคาผลไม้แต่ละชนิด ได้แก่ ชมพู่ ขายกิโลกรัมละ 50 บาท ตลอดทั้งปี ฝรั่งแป้นสีทอง ขายกิโลกรัมละ 30 บาท ตลอดทั้งปี พุทราจัมโบ้ ขายกิโลกรัมละ 50 บาท

เหตุผลที่ทำให้อำเภอระโนดปลูกไม้ผลได้ดีมีคุณภาพกว่าทางนครปฐมนั้น คุณแป๋ว ชี้ว่าอาจเป็นเพราะมีปัจจัยทางธรรมชาติที่เอื้อประโยชน์ต่อพืช ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ คุณภาพดินที่มีโพแทสเซียมสูง ความสมบูรณ์ของน้ำมากกว่า เพียงแต่มีข้อเสียตรงที่มีวัชพืชมากกว่า แต่ถึงกระนั้นคุณแป๋วก็ไม่ได้ใช้สารเคมีเลย แต่ได้ใช้แรงงานคนในการหมั่นกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ

 

ยึดเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่เป็นหลัก

ความสำเร็จอันเป็นผลมาจากความใส่ใจและทุ่มเทให้แก่การปลูกไม้ผลหลายชนิดของคุณแป๋วไม่ได้เกิดขึ้นเพียงทักษะจากความเป็นลูกชาวสวน แต่ความที่เป็นคนยึดมั่นศรัทธาในหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง และการปลูกพืชแนวทางทฤษฎีใหม่มาตลอด จึงทำให้สามารถสร้างกรอบในแต่ละขั้นตอนได้อย่างชัดเจนจนประสบความสำเร็จ พร้อมไปกับการตั้งชื่อสวนผลไม้ผสมผสานแห่งนี้ว่า “รุ้งตะวัน”

นอกจากปลูกไม้ผลที่มีคุณภาพแล้ว ทางสวนรุ้งตะวันยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การปลูกไม้ผล, เกษตรทฤษฎีใหม่ที่เรียนรู้เรื่องการปลูกพืชอายุสั้น, โครงการครึ่งไร่คลายจน โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ว่าการมีอาชีพเกษตรกรรมไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากก็ประสบความสำเร็จได้ดีเช่นกัน อีกทั้งยังมีแผนที่จะจัดทำสวนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อเปิดโอกาสให้คนภายนอกที่สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชม เรียนรู้ รวมถึงยังช่วยกันอุดหนุนผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอระโนดด้วย

ฝรั่งที่ต้องห่อผลป้องกันแมลง

“หากเกษตรกรหันมาปลูกพืชแนวทางทฤษฎีใหม่ด้วยการใช้พื้นที่จำกัดที่เป็นพืชอายุสั้นจะช่วยให้มีรายได้ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรง เนื่องจากควรจะเริ่มต้นปลูกพืชด้วยการเรียนรู้ ทำความรู้จักพืชให้ถ่องแท้เสียก่อน เมื่อเข้าใจธรรมชาติของพืชอย่างดีแล้ว จึงค่อยขยับไปสู่ไม้ผล หรือไม้ชนิดอื่นที่มีความยากมากกว่า เป็นลำดับต่อไป” เจ้าของสวนรุ้งตะวัน กล่าว

มะเขือเทศเชอร์รี่สุกพร้อมเก็บขาย

 เกษตรระโนด ออกปาก สร้างชื่อเสียงให้อำเภอ

ขณะเดียวกัน ทางสำนักงานเกษตรอำเภอระโนด นำทีมโดย คุณสมจิต แดงเอียด เกษตรอำเภอ พร้อมทีมงานนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ได้แก่ คุณสมศรี เชยชม คุณวาสนา เฉิดฉิ้ม และ คุณวิไลลักษณ์ สุขขะ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมเยียนสวนรุ้งตะวันของคุณแป๋วในครั้งนี้ พร้อมกับกล่าวว่า อาชีพเกษตรกรรมหลักของชาวบ้านที่ระโนดคือการทำนา เป็นการปลูกข้าวพันธุ์ กข สามารถทำได้ปีละ 2 ครั้ง เพราะมีระบบชลประทานที่สมบูรณ์ ขณะเดียวกัน แนวทางและวิธีการปลูกข้าวของชาวบ้านที่ระโนดมีเทคโนโลยีและการจัดการผสมผสานกับภูมิปัญญา จึงทำให้ผลผลิตข้าวมีคุณภาพดีเทียบเท่ากับทางภาคกลาง เฉลี่ย 800-900 กิโลกรัม ต่อไร่

กับทีมงานเกษตรระโนด ที่เข้าเยี่ยมเยียน

ส่วนไม้ผลแต่เดิมไม่ค่อยมีอะไรโดดเด่น เพิ่งมามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักได้ไม่นานกับชมพู่ทับทิมจันท์ และฝรั่งแป้นสีทอง จากความสามารถของสวนรุ้งตะวันแห่งนี้ นอกจากนั้น ชาวบ้านในอำเภออื่นยังนำมะพร้าว กล้วยหอมทอง มาปลูกด้วย สำหรับผักสวนครัวก็มีความโดดเด่น อย่าง พริกเขียวมัน ที่ทำรายได้อย่างดีให้แก่ชาวบ้าน เพราะสามารถขายแบบผลสดและส่งแปรรูป จึงทำให้ชาวบ้านบางรายปรับที่นาเพื่อยกร่องปลูกพริกและพืชสวนครัวชนิดอื่นกัน

ปลูกชมพู่แบบร่อง เหมือนที่นครปฐม

“หรือแม้แต่มะเขือเทศและผักสมุนไพรพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมจากตลาดสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน มีชาวบ้านประเภทหัวไวใจสู้ ได้นำพันธุ์ส้มโอทับทิมสยาม มาทดลองปลูกกว่า 500 ต้น คาดว่าน่าจะประสบความสำเร็จ แล้วน่าจะเป็นไม้ผลชนิดใหม่อีกตัว” เกษตรอำเภอระโนด กล่าว

คุณรุ้งตะวัน ช้างสาร นับเป็นตัวอย่างของบทสรุปแห่งความสำเร็จว่า ผลไม้ทางภาคกลางสามารถนำมาปลูกทางภาคใต้อย่างสบาย ขอเพียงแต่ให้เข้าใจธรรมชาติและความเป็นไปของพืชแต่ละชนิดอย่างถ่องแท้

สนใจสั่งซื้อผลไม้จากสวนรุ้งตะวัน หรือต้องการเข้าเยี่ยมชม ติดต่อ คุณแป๋ว หรือ คุณรุ้งตะวัน ช้างสาร โทรศัพท์ (061) 190-1887

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์