ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
เผยแพร่ |
ขึ้นชื่อว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ที่ผ่านการแข่งขันจนเป็นที่ยอมรับว่า เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แล้ว คงไม่ต้องหาอะไรมารับรองกันอีก เพราะชื่อสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ได้การันตีตนเองอย่างสวยงามเป็นที่เรียบร้อย
เมื่อปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) มีการแข่งกันสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แฟนซีคาร์พ ผลที่ได้คือ คุณมนู มุสิทธิมณี หรือที่รู้จักกันในวงการผู้นิยมเลี้ยงปลาคาร์พว่า นินู จึงเรียกกันติดปาก หลังการแข่งขันแฟนพันธุ์แท้แฟนซีคาร์พว่า “นินู แฟนพันธุ์แท้แฟนซีคาร์พ” เจ้าของฟาร์ม “m&m koi farm” ย่านหมู่ที่ 3 ตำบลคลองอุดมชลจร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
แท้ที่จริง คุณมนู มีอาชีพรับราชการ มีเวลาว่างเพียงเช้า เย็น และวันหยุดราชการ ในการดูแลปลาคาร์พ แต่สามารถเลี้ยงปลาคาร์พได้โตเร็ว สวย สีสด รูปทรงมีขนาดเหมาะสมกับวัย จนวงการนักเลี้ยงปลาคาร์พยอมรับในฝีมือ
ช่วงบ่ายของวันหยุดราชการ จึงเป็นโอกาสดีที่จะนัดพบปะกับคุณมนู
แดดร่ม ลมตก มีฝนเล็กน้อย เสียงน้ำตกจำลองด้านใดด้านหนึ่งของบ่อปลาคาร์พดังกว่าเสียงฝน ยิ่งเปิดพร้อมกันหลายบ่อด้วยแล้ว ระหว่างพูดคุยจึงต้องออกเสียงให้ดังกว่าปกติ
พื้นที่ภายในฟาร์มมีขนาดไม่มากนัก ตามที่คุณมนูบอกไว้ว่า ต้องการกระชับขนาดฟาร์ม เพื่อการดูแลปลาอย่างทั่วถึง ไม่เกิดปัญหาระหว่างเลี้ยงภายในฟาร์ม
คุณมนู เล่าย้อนไปเกือบ 20 ปี สมัยที่เขายังเพิ่งเริ่มเข้ารับราชการใหม่ๆ ว่าประทับใจปลาคาร์พตั้งแต่แรกเห็นในสวนสัตว์เอกชนแห่งหนึ่ง ตั้งใจซื้อมาเลี้ยง แต่เมื่อเห็นราคาซื้อขายในยุคนั้น ประกอบกับเงินเดือนข้าราชการที่ไม่มากนัก จำต้องตัดใจซื้อปลาลูกนอก (ปลาที่เกิดในไทย) มาเลี้ยง เลี้ยงไปเลี้ยงมา ความสวยก็ยังไม่ปรากฏ จึงเริ่มศึกษาจริงจังจากหนังสือเท่าที่หาได้ และสอบถามจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ ก็ทราบว่า หากต้องการเลี้ยงปลาคาร์พให้สวย โตเร็ว ก็ต้องเลี้ยงปลานอก ถึงตอนนั้นก็ยังไม่เข้าใจคำว่า ปลานอก จึงตั้งใจศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งขณะนั้นมีเว็บไซต์แฟนซีคาร์พดอทคอม จึงใช้เป็นช่องทางในการเข้าไปเก็บงำความรู้
“ได้ผลครับ เว็บไซต์ทำให้ผมรู้ว่า ปลานอก ก็คือปลานำเข้าจากญี่ปุ่น ปลาพวกนี้จะสีสันสวยกว่าปลาที่เกิดในไทย อัตราการเจริญเติบโตก็ดีกว่ากันมาก รูปทรงดีกว่า แต่ราคาตอนนั้นสูงมาก ผมกัดฟันซื้อปลานอก 1 ตัว ราคา 500 บาท ราคานี้ก็ไม่ใช่ปลาคาร์พเกรดดีๆ นัก เป็นปลาคาร์พนอกก็จริง แต่เป็นปลานำเข้าที่เกรดต่ำ”
ซึ่งปลานำเข้าเกรดต่ำตัวนี้ ก็เป็นตัวจุดประกายให้คุณมนู มุ่งมั่นที่จะมีปลาคาร์พดีๆ และศึกษาเรื่องของปลาคาร์พอย่างถ่องแท้ จนทำให้มีวันนี้
ตลอดเส้นทางการเลี้ยงปลาคาร์พ คุณมนูก้าวเข้าสู่วงการประกวดหลายครั้งหลายครา จนสามารถถ่ายทอดข้อมูลให้เราฟังว่า การประกวดปลาคาร์พจะให้เครดิตกับปลาคาร์พ 4 สายพันธุ์หลัก ได้แก่
- โคฮากุ (Kohaku) เป็นปลาที่มีลายขาวและแดง เป็นสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด ลักษณะที่ดีสีแดงจะต้องคมชัดสม่ำเสมอ และสีขาวไม่ควรมีตำหนิใดๆ
- ไทโช ซันเก้ (Taisho Sanke) ประกอบด้วย 3 สี คือ ขาว แดง และดำ สีดำบนตัวปลานั้นควรดำสนิทและดวงใหญ่ ไม่ควรมีสีดำบนส่วนหัว รวมทั้งไม่มีสีแดงบนครีบและหาง
- โชวา ซันโชกุ (Showa Sanshoku) เป็นแฟนซีคาร์พสามสี เช่นเดียวกับไทโช ซันเก้ ที่แตกต่างกันคือ สีขาวและแดงจะรวมตัวอยู่บนพื้นสีดำขนาดใหญ่ และมีสีดำบริเวณเชื่อมต่อครีบและลำตัว ในลักษณะของตัววาย (Y)
- ชีโร่ โอจึริ (Shiro Utsuri) เป็นแฟนซีคาร์พสีขาว ที่มีสีดำเป็นลายอยู่ที่ตัว ที่หางและครีบอกต้องมีแถบสีดำ ส่วนหัวจะต้องมีลายสีดำพาดผ่านจนถึงปาก
ในการเลี้ยงปลาคาร์พของคุณมนู แม้จะเริ่มจากการเลี้ยงเล่นเพราะรัก แต่เมื่อศึกษาอย่างถี่ถ้วน ประกอบกับการเลี้ยงทั้งปลาลูกนอก เพื่อเปรียบเทียบกับปลานำเข้า มานาน 6 ปี จึงเห็นว่าปลาคาร์พนำเข้า มีพัฒนาการของปลาดีกว่าปลาลูกนอก เช่น ปลาลูกนอกโตเต็มที่ ความยาวไม่เกิน 60-70 เซนติเมตร ขณะที่ปลานำเข้าจากญี่ปุ่น โตเต็มที่ ความยาวมากถึง 80 เซนติเมตร ทำให้คุณมนูเบนเข็มมาเลี้ยงปลาคาร์พนำเข้าเพียงอย่างเดียว และเมื่อประสบการณ์สั่งสมมามากพอสมควร จากเลี้ยงจึงพัฒนาเป็นฟาร์มสำหรับขาย
“ฟาร์มเรา เป็นปลานำเข้าจากญี่ปุ่น เพราะช่องทางการขายพบว่า ผู้เลี้ยงนิยมเลี้ยงปลานำเข้าจากญี่ปุ่นมากกว่า เราจึงไม่ผสมเอง เพราะจะทำให้ลูกปลาคาร์พที่เกิดมาเป็นปลาลูกนอก เกรดและราคาจะต่างกันมาก แม้ว่าปลาจะสวยเหมือนกันทุกอย่าง แต่ราคาจะต่างกันอย่างน้อย 10 เท่าตัว”
คุณมนู ให้ข้อมูลว่า ต้นกำเนิดปลาคาร์พอยู่ที่ประเทศจีน แต่ญี่ปุ่นนำมาพัฒนาสายพันธุ์จากยีนด้อย ทำให้ปลาคาร์พเป็นปลาที่อ่อนแอ และปัญหาที่เกิดกับปลาคาร์พที่เลี้ยงในเมืองไทยคือ ป่วยง่ายและตายในที่สุด
คุณมนู แนะหลักการเลี้ยงปลาคาร์พไม่ให้ตาย โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ การไม่ซื้อปลาคาร์พพร่ำเพรื่อ ควรซื้อปลาเป็นรอบ และทิ้งห่างระยะพอสมควร เนื่องจากการซื้อปลาในแต่ละครั้ง จำเป็นต้องมีการกักโรคก่อนปล่อยลงบ่อรวมกับปลาคาร์พเดิม หากซื้อปลามาบ่อยมากเท่าไร โอกาสที่ปลาจะติดเชื้อและป่วยก็มีมากเท่านั้น นอกจากนี้ การเลี้ยงปลาคาร์พไม่ควรให้อาหารมากเกินไป แม้ว่าจะต้องการให้ปลาเจริญเติบโตเร็วก็ตาม และควรดูแลเรื่องความสะอาดของบ่อเลี้ยง รวมถึงระบบกรองทั้งหมดอย่างสม่ำเสมอ
ข้อควรระวัง ที่ไม่ควรให้อาหารปลาคาร์พมากเกินไป เนื่องจากปลาคาร์พเป็นปลาที่ไม่มีกระเพาะอาหาร เมื่อกินเข้าไปไม่นานก็จะถ่ายเป็นของเสียออกมา แต่เพราะผู้เลี้ยงที่ไม่เข้าใจ ต้องการให้ปลาโตเร็ว จึงให้กินอาหารมาก แต่ผลที่ได้คือ จะเกิดไขมันเกาะที่ตับ ถุงลม ซึ่งส่งผลให้ปลาคาร์พป่วย หากไม่พิการก็ตายในที่สุด
การให้อาหารที่ถูกต้อง ควรแบ่งมื้ออาหารให้ปลาคาร์พ วันละหลายมื้อ มื้อละจำนวนไม่มาก เช่น m&m koi farm ใช้เครื่องให้อาหารปลา แบ่งการให้อาหารเป็น 7 รอบ ต่อวัน แต่ละรอบห่างกัน 1-2 ชั่วโมง ปริมาณอาหารแต่ละรอบน้อย การให้อาหารเช่นนี้ จะช่วยให้ปลาคาร์พมีระยะเวลาในการดูดซึมอาหารที่ให้ไปใช้ประโยชน์ได้
สำหรับอาหารสด แม้จะเป็นตัวช่วยที่ตอบโจทย์ได้ดี เพราะให้โปรตีนสูง ทำให้ปลาเจริญเติบโตเร็ว แต่ไม่ได้รับความนิยม เพราะจะทำให้น้ำเสียเร็ว
โดยทั่วไปอาหารสดสำหรับปลาคาร์พคือ หอยแมลงภู่และหนอนไหม สามารถให้กินสดได้ แต่ควรอบหรือต้มให้สุกก่อน เพื่อช่วยลดภาวะน้ำเสียจากอาหารสดลง
นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงควรสังเกตปลาคาร์พของตนด้วยว่า มีพฤติกรรมการกินอาหารจมหรืออาหารลอย เมื่อสังเกตพบแล้วก็ควรให้อาหารตามพฤติกรรมการกินของปลา มิฉะนั้น ปลาจะไม่กินอาหาร ไม่เจริญเติบโตตามต้องการ

พื้นที่เลี้ยงสำหรับปลาคาร์พก็เป็นสิ่งจำเป็น คุณมนู แนะนำว่า พื้นที่ที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการเลี้ยงปลาคาร์พ คือ ปริมาณน้ำ 1 ตัน ต่อปลาคาร์พ 1 ตัว หรือพื้นที่มากเท่าไรยิ่งดี เพราะปลาคาร์พเป็นปลาชอบการเคลื่อนไหว ว่ายทวนน้ำ ไม่ชอบน้ำนิ่ง

“ถ้ามือใหม่ เริ่มเลี้ยง อาจจะเลี้ยงในบ่อขนาดเล็กก่อน อาจเป็นบ่อผ้าใบขนาด 1×1.5 เมตร สูง 80 เซนติเมตร แต่ไม่ควรเลี้ยงในตู้ปลา เพราะปลาคาร์พเป็นปลาท็อปวิว กว่าร้อยละ 90 ลายจะอยู่ด้านหลัง หากมองด้านข้างจะไม่เห็นลวดลาย และตู้ปลาก็มีพื้นที่จำกัด ปลาอาจโตช้าและเจริญเติบโตไม่เต็มที่ โดยเฉพาะการเลี้ยงปลานำเข้าจากญี่ปุ่น ซึ่งเจริญเติบโตเร็ว และบางสายพันธุ์อาจโตได้มากกว่า 1 เมตร”
การทำความสะอาดโดยการถ่ายน้ำและล้างที่กรองเป็นเรื่องสำคัญ คุณมนู บอกว่า หากบ่อเลี้ยงสกปรกจะทำให้ปลาป่วยง่าย เมื่อป่วยโอกาสตายก็สูง ดังนั้น เมื่อทำความสะอาดวัสดุกรองแล้ว ก็ควรเติมน้ำในบ่อเลี้ยง 20-30 เปอร์เซ็นต์ และน้ำที่ใช้ควรพักไว้ก่อนนำมาใช้อย่างน้อย 2-3 วัน
คุณมนู จำปลาที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นได้ทุกตัว ดังนั้น ทุกวันต้องเดินสังเกตปลา หากพบว่าปลามีอาการผิดปกติ ต้องแยกปลาตัวดังกล่าวออกมาแล้วให้ยาตามอาการ
“ปกติเวลาปลาคาร์พนอน จะนอนนิ่งกลางน้ำในเวลากลางคืน แต่กลางวันจะว่ายช้าๆ เรื่อยๆ ยกเว้นมื้ออาหารจะกระฉับกระเฉงขึ้น แต่ถ้าพบว่าปลาคาร์พนอนติดพื้นและหุบครีบว่ายในเวลากลางวัน สีขาวที่ลำตัวออกแดง ครีบแดง หางแดง แสดงว่าปลาตัวนั้นป่วย ให้แยกปลาออกมารักษาตามอาการ ซึ่งอาการป่วยของปลาส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ยกเว้นฤดูหนาวที่อุณหภูมิค่อนข้างต่ำ อาจติดเชื้อไวรัสได้ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสป่วยจากเชื้อปรสิตที่ติดมากับสัตว์เลื้อยคลาน เช่น กบ คางคก เขียด และปลาคาร์พที่ซื้อเข้าใหม่”
ปัจจุบัน m&m koi farm มีปลามากกว่า 100 ตัว เป็นประจำ ซึ่งคุณมนู เป็นคนเลือกปลาทุกตัวด้วยตนเอง จึงจำได้แม่นยำว่าปลาคาร์พตัวไหนมาจากฟาร์มใดในประเทศญี่ปุ่น ปลาคาร์พบางตัวมีมูลค่าสูง ก็จะมีใบรับรองจากฟาร์มมาให้ด้วย ซึ่งใบรับรองนี้จะระบุวันเดือนปีเกิด เพศ สายพันธุ์ และรูปถ่ายปลา เป็นการการันตีความแท้ของสายพันธุ์และแหล่งที่มาของปลาได้
คุณมนู บอกด้วยว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งใจเลี้ยงปลาคาร์พให้สวย เพื่อเดินเข้าสู่สนามประกวดปลาคาร์พ ซึ่งการผ่านการประกวดและคว้ารางวัลจากการประกวด จะเป็นเครื่องการันตีได้ว่าเรามีทักษะด้านปลาคาร์พมากแค่ไหน และจากการประกวดตลอด 7 ปีในระหว่างเลี้ยงปลาคาร์พ ก็ภาคภูมิใจในรางวัลที่ได้ เพราะสามารถคว้ารางวัลสูงสุดจากการประกวดมาแล้ว ซึ่งปัจจุบัน ยังส่งปลาคาร์พเข้าประกวดบ้าง แต่ไม่บ่อยเหมือนในอดีต เพราะรูปแบบการเลี้ยงเปลี่ยนไป หากมีเงินซื้อปลาสวยก็สามารถส่งปลาเข้าประกวดและคว้ารางวัลไปครองได้เช่นกัน
ราคาปลาคาร์พของ m&m koi farm เริ่มต้นจากหลักพันกลางๆ ถึงหลักแสนบาท และการให้ราคาปลาทุกตัว ขึ้นอยู่กับคุณมนูเพียงคนเดียว
“ในฟาร์มตอนนี้ มีเฉพาะปลานำเข้าจากญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว แต่ละปีผมนำเข้าและขายปลามากสุดประมาณ 500 ตัว ผมจำกัดไม่ให้มากไปกว่านี้ เพราะต้องการกระชับขนาดฟาร์ม ให้มีการดูแลที่เข้าถึงมากกว่า ซึ่งหากปลาคาร์พมีคุณภาพ ผมสามารถขายปลาในราคาสูงต่อตัวได้ เช่น ปัจจุบัน ผมขายปลาสัปดาห์ละประมาณ 4 ตัว ราคาเริ่มต้นตัวละ 10,000 บาท ผมก็สามารถทำงานประจำและดูแลฟาร์มไปพร้อมๆ กันได้”
สำหรับมือใหม่หัดเลี้ยง หรืออยากลิ้มชิมการเลี้ยงปลาคาร์พนำเข้า ต้องการเรียนรู้เทคนิคการเลี้ยง คุณมนูยินดีให้คำแนะนำ หรือต้องการเข้ามาชมปลาคาร์พ ซื้อปลาคาร์พถึงฟาร์ม ขอให้นัดแนะผ่านทางโทรศัพท์หรือเฟซบุ๊กมาก่อน เพราะคุณมนูทำงานประจำ มีเวลารับแขกเฉพาะวันหยุดราชการ ดังนั้น การนัดหมายล่วงหน้าจึงเป็นความเหมาะสมที่สุด
m&m koi farm ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 3 ตำบลคลองอุดมชลจร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือติดตามได้ทางเพจ m&m koi shop หรือ ninu fanpantae อีกช่องทางคือการโทรศัพท์นัดหมายที่ คุณมนู มุสิทธิมณี (087) 142-5999