บัณฑิตแม่โจ้ ปลูกมะม่วง-ฝรั่ง ขายผลสดและแปรรูป สร้างงานทำเงิน ที่นครสวรรค์

บัณฑิตแม่โจ้ ปลูกมะม่วง-ฝรั่ง ขายผลสดและแปรรูป สร้างงานทำเงิน ที่นครสวรรค์

ถึงแม้ได้ชื่อว่าอยู่ในพื้นที่เมืองสี่แคว แต่ไพศาลีดูร้อนแล้ง สภาพทั่วไปที่เห็น…เกษตรกรทำพืชไร่ ขึ้นชื่อมากๆ คือ ปลูกอ้อย ส่งโรงงานน้ำตาล ปลูกมันสำปะหลัง

ครอบครัวของ คุณสุธาสินี วันดี ทำพืชไร่มานาน จนกระทั่งเธอเรียนจบทางด้านพืชผัก จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงเริ่มมีปรับแผนการทำเกษตร สิ่งที่เธอทำอยู่ ถึงแม้เริ่มต้นไม่นานนัก แต่หลายสิ่งหลายอย่างเริ่มสดใส นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของพ่อแม่

คุณสุธาสินี วันดี หรือ คุณนก อยู่บ้านเลขที่ 5/4 หมู่ที่ 18 ตำบลสำโรงชัย อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ 60220 คุณนก เรียนจบจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รุ่น 77

เรียนจบ ลงมือทำเกษตร ยอมรับว่ายาก แต่มีลู่ทาง

คุณนก เล่าว่า เดิมทางบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไป

งานเกษตรที่ทำกันคือ นาข้าว อ้อย มันสำปะหลัง มะขามเทศ สิ่งที่ประสบเหมือนกับเกษตรกรที่อื่นคือ ราคาตกต่ำ

แต่เดิมเป็นคนที่ไม่ชอบเรียนหนังสือ เมื่อจบ ม.ปลาย มีความคิดว่าจะเรียนอะไรดีที่เหมาะสมกับตัวเราเองมากที่สุด ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ ตอนแรกก็คิดว่าเรียนไปเถอะ เรียนให้จบๆ ไป อยากให้ครอบครัวภูมิใจบ้าง คนต่างจังหวัดหากบุตรหลานมีการศึกษาสูงๆ นั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดี ช่วงนั้นมีโควต้ามหาวิทยาลัยแม่โจ้มา เป็นโควต้าเรียนดี หนึ่งในนั้นมีสาขาพืชศาสตร์ เลยตัดสินใจเรียนที่นี่ ด้วยความที่ไม่ชอบเรียนหนังสือ จึงทำให้วันหนึ่งมีความคิดขึ้นมาว่า หากวันหนึ่งต้องไปทำงานประจำ ชีวิตคงไม่ต่างจากการที่ต้องตื่นไปเรียนหนังสืออย่างแน่นอน หากต้องใช้ชีวิตแบบนั้นไปจนเกษียณ คงไม่ใช่เรื่องสนุกแน่ๆ” คุณนก เล่า

พื้นที่สำหรับทำการเกษตรของคุณนก มีความพร้อม พ่อแม่มีเครื่องจักรกล เครื่องทุ่นแรง เธอไฟแรงและมีความหวังว่า ต้องประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว

ความนึกคิดกับความจริงต่างกัน แรกๆ สิ่งที่ทำไม่เป็นอย่างที่เรียนมา แต่เธอก็ไม่ท้อ

“ในช่วงปีแรกๆ คือ มีความมั่นใจมากว่ามันต้องดี ต้องได้ นั่นนี่ แบบไม่คิดถึงความล้มเหลวเลยแต่อย่างใด เหมือนคนร้อนวิชา อยากทำอะไรก็ทำ ใส่ไม่ยั้ง สรุปคือ ล้มไม่เป็นท่า เพราะบริหารจัดการอะไรไม่เป็น ตอนนั้นคือถอดใจแล้วเหมือนกัน เพราะความล้มเหลวที่ไม่เป็นท่า ด้วยคำว่าเกษตรมันค้ำคอ ความกดดันและความเครียดทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ…หลังจากนั้นหยุดทุกอย่างไปสักพัก เลยออกไปเที่ยว ไปหาประสบการณ์ ไปคุยกับนักธุรกิจ ทำไมเขาถึงประสบความสำเร็จ คุยกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย ขออนุญาตเอ่ยนาม อาจารย์ฉันทนา วิชรัตน์ ที่เป็นทั้งนักวิชาการ เป็นครู เป็นคนที่คอยให้คำปรึกษา และคุยกับพี่ๆ ที่ สวทช. ท่านหนึ่ง หลังจากนั้นจึงเงียบไปพักหนึ่ง จึงรวมสติตัวเองใหม่ และเริ่มทำใหม่อีกครั้ง บวกกับครอบครัวที่พร้อมจะเดินไปกับเราเสมอ จึงทำให้ตอนนี้พอผลผลิตออกมา จากที่เคยคัดทิ้งขายไม่ได้ กลายมาเป็นการสร้างมูลค่า อย่าง มะม่วงลูกบิดเบี้ยวขายไม่ได้ นำมาแช่บ๊วยดู สรุปขายได้ ผู้ซื้อตอบรับดี งานจึงพัฒนาขึ้นตามลำดับ” คุณนก เล่า

ปลูกพืช ทำเมล็ดพันธุ์ น้องและหลานช่วยงาน

ช่วงที่เรียนจบใหม่ คุณนกได้ปลูกพืชผัก ผลิตเมล็ดพันธุ์ เจ้าตัวอธิบายว่า

อย่างแรก ผลิตเมล็ดพันธุ์ผสมเปิด สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ การจัดการปลูกที่ดี เพื่อป้องกันการผสมข้ามจากพันธุ์อื่นๆ การจัดการไม่ค่อยยุ่งยากนัก แบบนี้มักรู้จักกันในนาม โอพี (op)

อย่างที่สอง ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม F1 เป็นการผสมระหว่างต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย โดยเมื่อทำการผสมแล้ว ต้องคลุมด้วยกระดาษไข ป้องกันการผสมปนจากพันธุ์อื่นๆ แล้วทำการมัดไหมพรม หรือคล้องหนังยาง ระบุว่า ดอกนี้ได้รับการผสมแล้ว หากผสมไม่ติดดอกก็จะฝ่อและแห้งลง ถ้าดอกไหนผสมติด ก็จะเจริญเติบโตต่อไป

งานผลิตเมล็ดพันธุ์มีเป็นช่วงๆ ถึงแม้ไม่ได้ทำเป็นหลัก แต่ก็ทำให้มีประสบการณ์ในการทำงาน

เนื่องจาก คุณนก มีญาติอยู่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งติดชายแดนกัมพูชา ประเทศนี้เขาขึ้นชื่อและเป็นต้นกำเนิดของมะม่วงแก้วขมิ้น ทางครอบครัวเห็นว่าน่าสนใจ จึงทดลองปลูก

“มีความสนใจในรสชาติมะม่วงแก้วขมิ้น มะม่วงถือเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตดีแทบทุกพื้นที่ การดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก จึงเริ่มสั่งต้นพันธุ์เข้ามาปลูก แรกสุดปลูก 2 ไร่ เมื่อมีผลผลิต ทดลองนำไปจำหน่ายดู ปรากฏว่าตอบรับดี จึงขยายพื้นที่ออกไป 30 ไร่ สำหรับที่อำเภอไพศาลี น่าจะเป็นเจ้าแรกๆ ที่นำมาปลูก เริ่มปลูกครั้งแรก ปี 2557 ส่วนแปลงใหญ่ปลูกเมื่อเดือนเมษายน 2561…ต้นพันธุ์ที่นำมา ได้จากการเพาะเมล็ด ยังไม่พบการกลายพันธุ์…บางช่วงน้ำท่วมขัง ต้นก็อยู่ได้ไม่ตาย คงเป็นเพราะทน เป็นต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดนั่นเอง” บัณฑิตสาวจาก ม.แม่โจ้ เล่าที่มาของการปลูกมะม่วงแก้วขมิ้น

ปกติมะม่วงโดยทั่วไป จะออกดอกเดือนพฤศจิกายน มีผลผลิตช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ฤดูกาลเช่นนี้ผลผลิตจะถูก คุณนกและครอบครัวได้ผลิตนอกฤดู โดยการราดสาร

เจ้าของสวนมะม่วงบอกว่า เริ่มราดสารเดือนกรกฎาคม หลังราดสาร 3 สัปดาห์ ฉีดพ่นด้วยไธโอยูเรีย และโพแทสเซียมไนเตรต เพื่อทำการดึงดอก ฉีด 2 ครั้ง โดยฉีดห่างกัน 1 สัปดาห์

สารที่ราดคือ สาร “พาโคลบิวทราโซล” เนื่องจากต้นขนาดเล็ก จึงใช้ 200 กรัม ต่อต้น

ผลผลิตจากการราดสาร จะทยอยออกเดือนตุลาคม ช่วงนี้ผลยังไม่แก่ แต่ขายได้เป็นมะม่วงยำ จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน ผลผลิตแก่เต็มที่ ขายได้กิโลกรัมละ 30 บาท

ผลผลิตมะม่วงที่เก็บได้ 30-50 กิโลกรัม ต่อต้น เนื่องจากต้นยังเล็กอยู่ เมื่อต้นโตขึ้น ผลผลิตก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ

แปรรูปจำหน่าย สร้างมูลค่าเพิ่ม

“ผลผลิตมะม่วงแรกๆ ผลเล็ก จัดเป็นมะม่วงตกเกรด เขารับซื้อในราคาที่ต่ำมาก ส่วนหนึ่งถูกคัดทิ้งไปเลย หลังๆ จึงนำมาแปรรูป ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มะม่วงตกเกรด ขนาด 4-5 ผล ต่อกิโลกรัม ราคาซื้อขาย กิโลกรัมละ 4 บาท เมื่อแปรรูป ขายได้ลูกละ 10 บาท” คุณนก เล่า

บัณฑิตสาวจากแม่โจ้เล่าถึงวิธีการแปรรูปว่า นำมะม่วงมาปอกเปลือก แล้วแช่ด้วยน้ำปูนใส เพื่อให้มะม่วงมีความกรอบ ผลผลิตมะม่วงไม่ควรอ่อนหรือแก่เกินไป

ส่วนผสมต่างๆ ประกอบด้วย…บ๊วยดอง 2-3 ช้อนโต๊ะ, หัวน้ำตาล (ดีน้ำตาล) จำนวนเล็กน้อย อย่าใส่มากจะขม,น้ำตาลทรายครึ่งกิโลกรัม, เกลือป่นนิดหน่อย, สีผสมอาหารสีเขียวครึ่งช้อนชา…นำส่วนผสมต่างๆ ผสมในน้ำต้มสุก

นำมะม่วงที่ปอกเปลือกไว้ ใส่ลงไป กลิ้งไปมา นาน 10 นาที แล้วบรรจุใส่ถุง แช่ในตู้เย็น เพิ่มความอร่อย พร้อมที่จะนำออกจำหน่ายได้

“ผลผลิตมะม่วงนอกฤดู นำออกขายตามตลาด ขายดี ผลผลิตที่ได้เกณฑ์มาตรฐาน ก็ขายผลสด แต่หากตกเกรด ก็แปรรูปขาย พืชอื่นที่ปลูกมีฝรั่งพันธุ์กิมจูและแป้นสีทอง เป็นพืชที่ปลูกแล้วให้ผลผลิตเร็วหลังปลูก ผลผลิตขายกิโลกรัมละ 20-25 บาท หากผลผลิตตกเกรดก็นำมาแช่บ๊วย ทำคล้ายๆ กับมะม่วง” เจ้าของบอก

งานที่ทำเราได้พัฒนาตัวเอง บ้านของเราได้พัฒนาไปด้วย
พ่อแม่คุณนกยังคงผลิตพืชไร่ คือ อ้อยส่งโรงงาน

เมื่อลูกสาวสนใจปลูกไม้ยืนต้น พ่อแม่สนับสนุนเต็มที่ ผืนดินบางแปลง จึงมีโรงเรือนปลูกพืช มีสระน้ำ รอบๆ สระน้ำมีพืชพันธุ์ดีใหม่ๆ เช่น มะพร้าวกะทิ จากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ก็มีการนำมาทดลองปลูก

“พยายามปลูกพืชที่ขายเป็นรายได้รายวัน จากนั้นดูว่าขายได้เป็นรายเดือน และขายเป็นฤดูกาล…เรียนแล้วมาทำเกษตร…ตอนนี้ภูมิใจมากค่ะ เลือกไม่ผิดจริงๆ ค่ะที่เรียนเกษตรมา ถึงไม่มีตำแหน่งการงานสวยหรู แต่ทุกวันนี้ได้อยู่กับครอบครัวทุกวัน ไม่ต้องคอยคิดถึงกับข้าวฝีมือแม่…งานที่ทำเราได้พัฒนาตัวเอง บ้านของเราได้พัฒนาไปด้วย”

สอบถามเพิ่มเติมได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ 086-934-6451