กระแสมาแรง! “อนุรักษนิยม-รักษ์สิ่งแวดล้อม” ไม่เชื่อลองมอง “ไอคอนสยาม”

กระแสมาแรง! “อนุรักษนิยม-รักษ์สิ่งแวดล้อม” ไม่เชื่อลองมอง        “ไอคอนสยาม”

พอสัมภาษณ์ผู้คนมาเยอะๆ โดยเฉพาะนักธุรกิจทั้งชาวไทย และต่างประเทศ มักจะพบคำตอบคล้ายๆ กันว่า การที่ธุรกิจของแต่ละคนประสบความสำเร็จ เพราะเขาเห็นภาพความสำเร็จในอนาคตก่อน

แรกเมื่อฟังผมไม่เข้าใจ….เป็นไปได้หรือ?

แต่เมื่อฟังบ่อยครั้งมากขึ้น ความสำเร็จที่เขามองเห็นมาจากต้นทุนทางประสบการณ์ของเขาก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งเรื่องนี้นอกจากจะเกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญ การลองผิดลองถูกตลอดเวลาผ่านมา ยังเกี่ยวข้องกับการโฟกัสธุรกิจอย่างชัดเจนด้วย

สำคัญไปกว่านั้นคือ “มือตีน” ที่จะมาช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งภาษาทางการตลาดเรียกว่า “พาร์ตเนอร์” หรือ “หุ้นส่วนทางธุรกิจ” ที่แต่ละคนต่างมีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา จนนำมาหลอมรวมผสมผสานกัน

ลองมองย้อนไปถึงธุรกิจหลักๆ ในประเทศของเรา หรือในต่างประเทศก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันก็ตาม

เมื่อพวกเขามีแนวคิดในการทำธุรกิจแล้ว อีกหลายๆ สิ่งที่ตามมาคือคอนเซ็ปต์ในการดำเนินธุรกิจ แผนธุรกิจทั้งระยะสั้น และระยะยาว

แผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ โดยมีการกำหนดแผนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หรืออาจเรียกโรดแมปในการดำเนินธุรกิจก็ได้ ซึ่งเขาไม่เพียงจะเขียนแผนนี้ไว้เพื่อมองเห็นเส้นทางในการดำเนินธุรกิจของตัวเอง

เขายังกำหนดเป้าหมายอันเป็นตัวเลขกลมๆ ให้เห็นด้วยอีกว่าถ้าลงทุนเท่านี้ อีกกี่ปีจะถึงจุดคุ้มทุน อีกกี่ปีจะกำไร และอีกกี่ปีจะขยายธุรกิจไปในเฟสต่างๆ จากนั้นเขาจะเดินตามแผนที่วางไว้ทุกประการ

แม้ระหว่างเส้นทางอาจมีบิดเบี้ยวบ้าง แต่กระนั้น เขายังมีอีกแผนหนึ่งที่เรียกว่าการบริหารความเสี่ยงซ่อนอยู่ในแผนหลักด้วย ฉะนั้น ต่อให้โลกธุรกิจประสบพบเจอกับสิ่งที่ไม่คาดคิด เขาก็สามารถดำเนินตามแผนต่อไปได้

พูดภาษาง่ายๆ คือมีเกมรุก และเกมรับ ทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ตลอดเวลา เพราะโลกธุรกิจทุกวันนี้มีการปรับตัวเร็ว ใครหมุนไม่ทันอาจตกขอบของยุคสมัยได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือการทำธุรกิจสมัยก่อนแทบไม่มีใครคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

เพราะสิ่งแวดล้อมไม่เพียงเกี่ยวข้องกับโลก คน สัตว์ สิ่งของ หากยังเกี่ยวข้องกับธรรมชาติที่อยู่รอบๆ ตัวมนุษย์ด้วย ดังนั้น หากธุรกิจใดที่เข้ามาทำลายสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ไม่เพียงจะถูกต่อต้าน

สินค้าเหล่านั้นยังไม่มีคนซื้อด้วย อีกเรื่องหนึ่งคือชุมชน สมัยก่อนสินค้าชุมชนอาจถูกดูแคลนจากผู้เสพสินค้าในภาพใหญ่

แต่เดี๋ยวนี้คุณลองไปดูผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าชุมชน ล้วนต่างได้รับการยอมรับมากขึ้น ยิ่งสินค้าชุมชนเหล่านั้นปลอดสารพิษ เป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ก็จะมีผู้คนให้การสนับสนุนมาก จนบางทีถึงกับผูกขาดจองสินค้าข้ามปีกันเลยทีเดียว

ถามว่าบริษัทธุรกิจใหญ่ๆ เขามองเห็นไหม? คำตอบคือเขามองเห็น เพียงแต่จะทำอย่างไรที่จะยกระดับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และชุมชนให้คุณภาพออกมาดี

มีสตอรี่เทลลิ่ง (Storytelling) ที่น่าสนใจ และมีแพ็กเกจจิ้งที่ดึงดูดผู้พบเห็น ผมว่าโลกธุรกิจทุกวันนี้กำลังเบนเข็มไปหาสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ทั้งๆ ที่เขาไม่มีต้นทุนอะไรเลย มีแต่สถานที่ ประตูสู่โอกาส และการสนับสนุนสินค้าเหล่านี้ให้มาวางขายในที่ของพวกเขา

ในมุมตรงข้ามสินค้าเหล่านี้อยู่ที่ไหน?

คำตอบคืออยู่ในชุมชนบ้านเรือนของพวกเราเอง แต่จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อม และชุมชนมาสร้างสตอรี่เทลลิ่งให้เหมือนอย่างที่นักธุรกิจชั้นนำสร้างให้พวกเรา

ตรงนี้ต้องคิดให้หนักๆ ครับ เพราะบางทีเราชอบมองออกไปข้างนอกมากเกินไป จนลืมไปว่าในครัวของเรามีของดีซ่อนอยู่มากมาย เพียงแต่เรามองไม่เห็นค่าก็เท่านั้นเอง

ผมจึงอยากบอกว่า ตลอดปี 2561 ผ่านมา เราเห็นโลกของธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก และการดำเนินธุรกิจต่อไปในวันข้างหน้าต่างกำลังมุ่งย้อนกลับไปที่กระแสอนุรักษนิยม รักษ์สิ่งแวดล้อม และชุมชน

ไม่เชื่อ คุณลองมอง “ไอคอนสยาม” อีกครั้งก็ได้ว่าทำไมเขาถึงหันมาจับคอนเซ็ปต์วิถีไทยบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี

 เพราะสถานที่ตรงนี้ต่างมีประวัติศาสตร์ชุมชนซ่อนอยู่นั่นเอง?