สาววิจิตร์ศิลป์ มช. “คุ้ยขยะ”มาใส่ดีไซน์ สร้างผลิตภัณฑ์รีไซเคิลโดนใจ “สายกรีน”

กรีน ดีไซน์ คือ การออกแบบชิ้นงานมุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่สามารถสร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างน่าสนใจ ส่วนใหญ่มีการนำเอาสิ่งของเหลือใช้ อย่าง เศษกระดาษ เศษเหล็ก เศษพลาสติก มาเพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบพร้อมใส่ความคิดสร้างสรรค์ กระทั่งทำให้เกิดผลิตภัณฑ์มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว

RE + PAIR (รี + แพร์) คือ ชื่อแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีแนวคิดนำเศษวัสดุเหลือใช้   อย่าง ที่จับฝาขวดน้ำดื่ม  โซ่จักรยานยนต์ กล่องนม ถุงหิ้วพลาสติก  ตะกร้อลวกก๋วยเตี๋ยว อะไหล่รถเบ็นซ์  ฯลฯ มาดัดแปลงเป็นส่วนประกอบสำคัญของนาฬิกาข้อมือ โคมไฟตั้งโต๊ะ สายคล้องมือถือ หรือแม้กระทั่งลำโพงไอ-พอด

เจ้าของผลิตภัณฑ์ แนวกรีน ดีไซน์ ภายใต้แบรนด์ Re+Pair  ที่จะแนะนำให้รู้จักในครั้งนี้ มีเจ้าของความคิด เป็นสาวน้อยร่างเล็ก บุคลิกร่าเริงสดใส วัยเพียงยี่สิบเศษ  กรุณาสละเวลามาให้ข้อมูลน่าสนใจในหลายแง่มุม

คุณแพร์-ฉัตรพร นิลธรรมชาติ แนะนำตัวว่า พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นฟรีแลนซ์ รับงานเกี่ยวกับกราฟฟิกดีไซน์ ตามที่ร่ำเรียนมา และมีอาชีพเสริมเป็นเจ้าของสินค้าภายใต้แบรนด์  Re+Pair

สำหรับจุดเริ่มของอาชีพเสริมสุดเท่ห์ของเธอนั้น เริ่มต้นจากก่อนที่จะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ทางคณะกำหนดให้นักศึกษาทุกคนต้องทำงานส่งหนึ่งชิ้น หรือที่มักเรียกติดปากกันทั่วไปว่า “ต้องทำ Thesis ส่งก่อนจบ”  ซึ่งตัวคุณแพรเอง ตัดสินใจเลือกที่จะทำงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับนาฬิกาข้อมือ ด้วยความเป็นคนชื่นชอบเฟอร์นิเจอร์ประดับกายประเภทนี้เป็นทุนเดิม แต่ยังไม่ทราบว่าจะทำยังไงให้แปลกกว่าคนอื่น

พอสรุปกับตัวเองได้ว่าจะทำชิ้นงานเกี่ยวกับการรีไซเคิล ตอนแรกคิดถึงพลาสติกรีไซเคิล แต่มันต้องหล่อบล็อก  คิดว่ายุ่งยาก  เลยหันมาคิดทำจากของรอบตัว อย่างพวกขยะที่คนทั่วไปไม่เห็นค่าหรือของธรรมดา แต่ถ้าเอามาทำให้อยู่บนข้อมือได้ มันน่าจะเวิร์ก”คุณแพร์ ย้อนความทรงจำ ก่อนเล่าต่อด้วยน้ำเสียงหม่นลงว่า

“อาจารย์บอกว่าหัวข้อสนุก แต่ยังกังวลว่าจะทำได้จริงหรือเปล่า ซึ่งแพร์ยืนยันจะทำ พอนำไปส่ง อาจารย์ไม่ให้ผ่านและบอกให้ไปดร็อป จนต้องจบปริญญาตรีตอนสี่ปีครึ่ง”

คุณแพร์ เล่าต่อด้วยว่า สาเหตุที่ผลงานแรกยังไม่เข้าตาอาจารย์นั้น เธอยอมรับว่าคิดน้อยเกินไป ยังไม่มีการใส่แนวคิดด้านการออกแบบลงไปเลย แค่นำยางในรถจักรยานยนต์มาตัดแล้วนำมาใส่เป็นสายนาฬิกาข้อมือเท่านั้นเอง

“ช่วงที่ต้องกลับมาทำชิ้นงานใหม่ เครียดมาก เพราะอาจารย์ไม่ชอบ แต่ยังดื้อจะทำต่อ  จึงต้องมองหาวัสดุอื่นๆเพิ่ม  ต้องลงไปคุ้ยขยะมากขึ้น ดูว่าเขาทิ้งอะไรกัน แต่แค่นั้นยังไม่พอ ต้องคิดต่อว่า ถ้าเลือกใช้วัสดุนั้นแล้ว ในอนาคตจะเป็นของหายากหรือหาง่าย ในกรณีถ้าถ้าผลิตนาฬิกาข้อมือที่มีเศษขยะนั้นเป็นส่วนประกอบ แล้วจะหาขยะชนิดนั้นได้มากพอมั๊ย สรุปคือต้องไม่เลือกใช้ขยะที่หายาก ซึ่งคนไม่ค่อยทิ้งกัน”คุณแพร์ อธิบายเหตุผลเมื่อครั้งนั้น

กระทั่งวันหนึ่งไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยว  เห็นน้ำดื่มแบบขวดแก้ว ที่มีฝาอลูมิเนียมปิดไว้ พอเปิดขวดแล้ว ฝานั้นกลายเป็นขยะทันที ทั้งที่ยังใหม่อยู่ จึงหยิบขึ้นมาพิจารณา เพราะคิดว่าน่าสนใจ กระทั่งนำกลับบ้าน ไปทดลองทำอยู่หลายแบบ นำมาตัดมาต่อกัน จนได้สายนาฬิการูปทรงแปลกตาสวยงามดี

และด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่ต้องทำให้ได้ สุดท้ายคุณแพร์ สามารถผลิตนาฬิกาข้อมือเรือนเท่ห์ ที่มีสายรัดทำจากห่วงพลาสติกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฝาปิดขวดน้ำดื่มแบบแก้ว แต่เพื่อความสวยงามเพิ่มขึ้น เธอจึงนำฟิวส์ปลั๊กไฟที่ใช้งานไม่ได้แล้วมาเสริม   และถ้าจะทำให้ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ก็ต้องนำยางยืดมารองไว้ เพื่อไม่ให้เศษพลาสติกและฟิวส์ไปสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังบริเวณข้อมือของผู้สวมใส่

“งานที่ส่งครั้งใหม่นี้ อาจารย์พอใจ และให้จบการศึกษาได้ แต่ให้ทำเพิ่มอีกสองเรือน เลยเลือกใช้โซ่จักรยานยนต์และเหล็กฟุตมาทำสายเรือนที่สอง ส่วนเรือนที่สาม นำกล่องนมมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆแล้วต่อกันเป็นสายนาฬิกา”คุณแพร์ เล่าก่อนยิ้มกว้าง

แม้ช่วงแรกของการทำ Thesis ของเธอครั้งนี้ จะเริ่มต้นได้ไม่ดีนัก แต่สุดท้ายผ่านพ้นไปได้ด้วยดี    ตัวคุณแพร์เอง ก็มีความมั่นใจในผลงานมากขึ้น จึงลองส่งนาฬิกาทั้งสามเรือน เข้ารับการคัดเลือกจากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ(TCDC) จนเข้ารอบ 150 รายที่ได้ร่วมแสดงผลงานในงาน “ปล่อยแสง” ครั้งที่ 6 และล่าสุดยังเข้ารอบเป็น 1 ใน 24 ผลงานที่ได้รับการต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปวางขายภายในร้านค้าของ TCDC

เมื่อค้นพบตัวเองแล้วอยากทำงานด้านรีไซเคิล คุณแพร์ จึงใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อเพื่อขอสมัครเข้าทำงานกับทางศูนย์สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ดูแลรับผิดชอบอยู่ แต่เนื่องจากทางศูนย์ดังกล่าวยังไม่มีนโยบายรับคนเข้าทำงาน เธอจึงได้รับคำแนะนำจากทางเจ้าหน้าที่ของศูนย์ท่านหนึ่งให้นำนาฬิกาที่ทำออกมา ไปฝากวางขายที่ร้าน อีโค่  ช็อป บาย ท็อป พิพัฒน์

“ตอนนั้นนำนาฬิกาทั้งสามแบบไปให้ทางร้านเลือกไปวาง เขาเลือกเรือนที่ที่สายทำจากกล่องนม โดยสั่งให้ทำเพิ่มขึ้นมาอีกสามเรือน โดยตั้งราคาขายอยู่ที่ 1,200 บาท”คุณแพร์ เล่า

นึกสงสัยปนตื่นเต้นไปด้วย จึงรีบถามสวนไปทันทีว่าแล้วขายได้บ้างมั๊ย คุณแพร์ ถึงกับหัวเราะร่วนก่อนบอก ว่า มีแต่คนชมคนชอบ แต่ไม่มีใครซื้อ  จึงต้องกลับมาคิดแก้ไขใหม่ ว่าเขาไม่ซื้อเพราะอะไร

ถึงจะไม่ประสบความสำเร็จในด้านยอดขายกับผลงานชิ้นแรกที่นำไปวางตลาด แต่คุณแพร์ ก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ ยามใดที่เธอมีเวลาว่าง เป็นต้องลองไปคุ้ยเขี่ยขยะ เพื่อหาแรงบันดาลใจมาสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ซึ่งล่าสุดได้ข้อสังเกตว่า ถุงหิ้วพลาสติกที่ได้มาจากห้างฯต่างๆนั้น น่าจะนำมาทำอะไรซักอย่างมากกว่าใส่ของกลับมาบ้านแล้วก็ทิ้ง

“ถุงหิ้วที่ได้มาจากตามห้างฯ อายุใช้งานมันสั้นเกินไป แค่ใส่ของกลับมาบ้านแล้วยังใหม่อยู่เลย ไม่สกปรกเท่าไหร่ เลยลองเอามาตัดเป็นเส้น แม้จะเป็นเส้นบางๆแต่แน่นดึงแล้วไม่ขาด เลยคิดว่าน่าจะทำเป็นสายอะไรได้ จึงลองทำเป็นสายคล้องโทรศัพท์มือถือ ทั้งแบบคล้องข้อมือและห้อยคอ ไปวางขายที่อีโค่ ช็อปฯ อีก คราวนี้ผลตอบรับดีกว่า อาจเป็นเพราะราคาขายตั้งไว้ที่ร้อยกว่าบาท จึงขายได้ง่ายกว่านาฬิกาข้อมือ” คุณแพร์ บอกอย่างนั้น

ถามไถ่ถึงที่มาของชื่อแบรนด์ เจ้าของเรื่องราวครั้งนี้ ยิ้มสดใส ก่อนอธิบาย คำว่า RE (รี) มากจากคำว่า Recycle (รีไซเคิล) หรือ Reused (รียูสด์) คือการกลับมาใช้ใหม่ แล้วมาบวกกับคำว่าPair (แพร์) ซึ่เป็นชื่อเล่นของเธอ บ่งบอกความเป็นตัวเธอและความคิดของเธอนั่นเอง

เมื่อถามว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ งานที่ทำด้วยใจรักต้องเจอกับแรงเสียดทานมามากน้อยแค่ไหน คุณแพร์ ยิ้มน้อยๆก่อนระบายความในใจให้ฟังว่า ช่วงที่อาจารย์ให้ไปดร็อปเพราะผลงานไม่ผ่านนั้น ยอมรับว่าเครียดมาก พยายามถามตัวเองตลอดว่าเรามาถูกทางมั๊ย พอเรียบจบอยากทำงานเกี่ยวกับขยะก็ไม่มีที่ไหนจ้าง ครั้นคิดผลิตภัณฑ์ออกมาวางขาย รายได้ไม่มีต่อเนื่อง บางทีผู้ใหญ่ไม่เข้าใจว่าเราทำอะไรอยู่ แต่ตัวเธอถือว่ายังโชคดีที่ครอบครัวให้การสนับสนุน

“ตอนนี้เพิ่งเริ่มต้น ผลิตภัณฑ์ที่ขายได้จริงมีแค่ตัวเดียวยังพอมีเงินเข้ามาบ้าง เชื่อว่าอาชีพนี้ เลี้ยงตัวได้ ถ้าทำจริงจัง และหากในอนาคต เรามีสินค้าขายได้จริงหลายตัว น่าจะมีรายได้มากขึ้น  กำไรที่ได้ต่อชิ้นถือว่าคุ้มกับค่าความคิด เพราะต้นทุนวัสดุนั้นไม่มากมายอะไรเลย”คุณแพร์ ว่าให้ฟัง

ก่อนจากกันไป สาวน้อยวัยสดใสมากไอเดียท่านนี้ มีแง่คิดฝากไว้สำหรับท่านใดที่กำลังเจอปัญหาอุปสรรรคต่อต้านงานที่ตัวเองรักว่า หากชอบงานนั้นจริงๆ อย่าไปกลัวที่จะทำต่อ ถ้าตั้งใจจริงซักวันต้องมีคนเห็น การที่จะทำอะแปลกกว่าคนอื่นนั้นมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่อย่าเอาข้อไม่ดีมาทำให้ท้อ ต้องสู้จนเจอทางออก พอถึงวันนี้ เมิ่มีคนเห็น คนชอบงานของเรา เราก็จะภูมิใจ ซึ่งความภูมิใจนี้ไม่จำเป็นต้องวัดกันที่ตัวเงินเสมอไป

จากล้มๆ ลุกๆ ได้แต่กล่องไม่ค่อยได้เงินในช่วงแรก ปัจจุบัน แบรนด์ ‘RE+PAIR’ เริ่มปักหลักเป็นธุรกิจอย่างจริง มีช่องทางตลาดผ่านทางร้าน Loft , TCDC Shop , ECO Shop และผ่านออนไลน์ที่ www.repairbypair.com และเฟซบุ๊ก : repairproduct นอกจากนั้น ยังออกงานแฟร์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึง รับผลิตตามออเดอร์ และเร็วๆ นี้กำลังเปิดหน้าร้านเป็นของตัวเอง