คนธรรมดาเริ่มต้นเป็น “อินฟลูเอนเซอร์” อยากปังแบบ “คัลแลน พี่จอง” ต้องเริ่มจากความเรียล 

คนธรรมดาเริ่มต้นเป็น “อินฟลูเอนเซอร์” อยากปังแบบ “คัลแลน พี่จอง” ต้องเริ่มจากความเรียล 

ใครจะนึกว่าวันหนึ่งคนธรรมดาสามัญ ก็พร้อมจะกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อสังคม ส่งผลต่อความคิดและการกระทำของคนอื่นมากมาย การตลาดยุคปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ทรงอิทธิพลที่เรียกว่า “Influencer หรือ อินฟลูเอนเซอร์” คือ กลไกสำคัญในการสื่อสารการตลาด

การตลาดปัจจุบัน หนีไม่พ้นการใช้ Influencer มาช่วยสื่อสารการตลาด มาสร้างพลังขับเคลื่อนในเชิงการขาย หรือส่งเสริมการขาย ซึ่งถ้าจะว่าไป วิธีการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก่อนเราก็มี Celebrity หรือคนดังทั้งหลายมาเป็นพรีเซนเตอร์ซึ่งวิธีการเช่นนั้นต่อเนื่องยาวนาน จนคนธรรมดาไม่มีแววว่าจะได้ทำหน้าที่เช่นนั้น

โลกเปลี่ยนไปมาก จนคนธรรมดาสามัญ พร้อมจะกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลกับคนอื่นได้ไม่ยาก ด้วยการเป็น Influencer ดังนั้น กูรูทางการตลาด ให้นิยามความแตกต่างของ Celebrity ที่เราชอบเรียกสั้นๆ ว่า “เซเลบ” กับ Influencer ที่มักถูกเรียกสั้นๆ ว่า “อินฟลูฯ” ต่างกันที่ เซเลบ เป็นคนดัง คนรวย คนมีชื่อเสียง แต่อินฟลูฯ คือใครก็ได้ ที่ทรงอิทธิพลกับคนอื่นๆ ในเชิงความคิด ความเชื่อ หรือสร้างการโน้มน้าว

เพราะการเอื้ออำนวยของเทคโนโลยี ที่ทุกคนมีเครื่องมือเผยแพร่เนื้อหา (Content) ด้วยตัวเอง จึงทำให้การสร้างเนื้อหาต่างๆ ทำได้ง่ายกว่าปอกกล้วย

รายการทีวีที่เคยทรงอิทธิพล เพราะสื่อได้ทั้งภาพและเสียงในเวลาเดียวกัน ทรงอิทธิพลด้วยพิธีกรดัง หรือมีเซเลบดังมาออกรายการ ตอนนี้คงไม่ต่างอะไรกับช่อง YouTube หรือ TikTok ที่ใครสักคนสามารถเปิดขึ้นมา สร้างเนื้อหา แล้วแพร่กระจายเนื้อหาสาระนั้น

การแบ่งเกรดแบ่งกลุ่มของบรรดาอินฟลูฯ ทั้งหลาย มักจะใช้ปริมาณคนติดตามมาเป็นฐานการแบ่ง เช่น ระดับ Mass คนติดตามกันเป็นแสน เป็นล้านคน ส่วนใหญ่อินฟลูฯ ระดับนี้เป็นเซเลบด้วยในตัว

ระดับ Micro คนติดตามหลักหมื่นยันหลักแสน ระดับ Nano มีคนติดตามหลักพันยันหลักหมื่น ถ้าคนตามยังหลักสิบ หลักร้อย อย่าเพิ่งรีบนับว่าเป็นอินฟลูฯ ที่ทรงอิทธิพลเลยครับ รอสะสมคนติดตามก่อน

ความเปลี่ยนแปลงจากยุคเซเลบมาสู่อินฟลูฯ นี้ บางทีทำให้หลายคนรู้สึกว่า “โลกอยู่ยากขึ้น”

เพราะบางอินฟลูฯ ดูแล้วเนื้อหา หรือที่ชอบเรียกกันว่า “คอนเทนต์” ดูแล้วเหมือนไม่มีสาระอะไรเลย แต่ทว่า ผู้คนกับขานรับ ทั้งการเข้าดูเข้าชมมากมาย หรือกลายเป็นผู้ติดตามอย่างเหนียวแน่น

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากลักษณะของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่มีอาการ FOMO (Fear of Missing Out) หรือเรียกว่า อาการกลัวตกข่าว กลัวตกกระแส ดังนั้น ใครพูดถึงคอนเทนต์ไหน เลยต้องรีบเข้าไปดู ส่งผลให้เพิ่มยอดชม ยอดติดตามให้อินฟลูฯ รายนั้น

แต่อีกส่วนหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่า คนรุ่นใหม่ชอบอะไรที่เรียลๆ (Real) คือ การไม่ปั้นแต่ง ไม่ต้องจัดมากเกินเหตุ จนดูแล้วขาดความจริงใจ ซึ่งภาพของรายการทีวีสมัยเก่า ต้องจัดทั้งฉาก จัดแสงสีเสียง การแต่งเนื้อแต่งตัวของผู้ดำเนินรายการ แขกรับเชิญ บางทีมากเสียจน “เลี่ยน”

อินฟลูฯ เกาหลี 2 หนุ่ม ที่พูดภาษาไทยในระดับพอเดาได้ พี่จองกับคัลแลน หันมาเป็นอินฟลูฯ ท่องเที่ยว เดินทางไป ถ่ายทำไปง่ายๆ เจออะไรก็ไม่ต้องจัดฉาก กินใจคนดูมากกว่าอินฟลูฯ ชาติเดียวกันที่พูดภาษาไทยได้รู้เรื่องมากกว่า

เกิดอะไรขึ้น?

เรื่องนี้น่าขบคิดยิ่งนัก ถึงขั้นหน่วยงานราชการของเรา ยังต้องพึ่งพาอาศัย ให้ช่วยเป็นผู้สื่อสาร สร้างความอยากเที่ยวอุทยานให้กับคนไทย แต่ต้องใช้ “คนเกาหลี”

พี่จองกับคัลแลน มีความเรียล และสนุกแบบเป็นธรรมชาติ คนดูเลยเชื่อสนิทใจ

เมื่อวิเคราะห์บรรดาอินฟลูฯ ทั้งหลาย พบว่า สิ่งที่โดนใจผู้บริโภคยุคใหม่ อยู่ที่ เป็นใครก็ได้ แต่ขอให้บอกกล่าวเล่าขานเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ง่าย เข้าใจ ชัดเจน หรือมาแนวรู้ลึกรู้จริงก็ยิ่งดียิ่งน่าเชื่อ

ไม่ต้องปรุงแต่งมากมาย คนยุคใหม่ ชอบความเรียล มาแบบดิบ ไม่ต้องจัดฉาก ไม่ต้องจัดแสง หรือจัดคิวให้วุ่นวาย พูดคุยกันตรงไปตรงมา แบบมนุษย์คุยกัน มีผิดมีถูก มีเทกใหม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ สำคัญแค่ว่าคอนเทนต์เป็นที่น่าสนใจหรือเปล่า

ความน่าสนใจของคอนเทนต์ เป็นสาระสำคัญ เรื่องง่ายๆ แต่ยังไม่เคยรู้ ยังไม่เคยเห็น น่าสนใจกว่าความพยายามปั้นแต่งนำเสนอเรื่องที่คุ้นชินอยู่แล้ว

ไม่ต้องอารัมภบทมากมาย เพราะคนยุคใหม่ใจร้อนขึ้น ทนรอได้น้อยลง การนำเสนอแบบรวดเร็ว ตรงประเด็น เป็นที่ต้องการมากกว่า

ถ้าวันหนึ่งเราต้องการอินฟลูฯ มาช่วยสื่อสารเกี่ยวกับธุรกิจของเราบ้างล่ะ ทำอย่างไรดี

คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ว่าความเป็นตัวตนของอินฟลูฯ คนนั้น เข้ากันได้กับธุรกิจ หรือสินค้าของเราหรือไม่

อย่าลืมว่า การที่เราเห็นเขาเป็นอินฟลูฯ ที่มีคนนิยมชมชอบมากมาย เพราะ “ความเป็นตัวตน” ของเขานั่นเอง ดังนั้น อย่าพยายามไปเปลี่ยน หรือขอร้องให้เขาเปลี่ยน เพราะถ้าอินฟลูฯ คนใดยอมเปลี่ยน แปลว่าเขาเองก็ไร้จุดยืนเช่นกัน

อย่างต่อมา ต้องพิจารณาผลกระทบจากภาพลักษณ์ของอินฟลูฯ ด้วย ประเมินจากระดับความน่าเชื่อถือ จากจำนวนผู้ติดตาม ผลจากคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์ที่ปรากฏในโลกออนไลน์

อีกประการควรประเมินด้วยว่า อินฟลูฯ คนนั้นอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” หรือ “ขาลง” เพราะถ้าขาขึ้นกระแสจะยังอยู่ต่อไป ยุคนี้ความนิยม มาเร็ว ไปเร็ว

ดีกว่าไหม ถ้าจะเป็นอินฟลูฯ เสียเอง

เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาเช่นกัน สินค้าบางอย่าง มีความเฉพาะด้านเฉพาะกลุ่ม ถ้าเราอยู่ในฐานะเจ้าของแบรนด์รู้จักสินค้าดี มีความรู้ มีข้อมูลอยู่แล้ว การหยิบเอาความรู้เหล่านั้นมาบอกกล่าวเล่าแจ้ง ทำตัวเป็นอินฟลูฯ เสียเอง เข้าถึงข้อมูล รู้ลึก รู้จริง พร้อมมีกลุ่มติดตามแบบเฉพาะกลุ่ม แล้วผู้ติดตาม มีโอกาสกลายเป็นลูกค้าด้วย

ถ้าจะเริ่มต้นเป็นอินฟลูฯ เอง ก็อย่าลืมว่า “นำเสนอให้ง่าย เรียล น่าสนใจ ไม่อ้อมค้อม”

มีคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับคอนเทนต์ที่จะนำเสนอให้ชัดเจน อย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา กระโดดไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ และที่สำคัญ ต้องมีความสม่ำเสมอในการนำเสนอ อาจไม่ถึงกับต้องทำทุกวัน แต่ไม่เว้นว่างห่างจนลืม คนยุคนี้ลืมเร็วซะด้วย

ลองเริ่มต้นดูครับ…บางทีท่านอาจกลายเป็น “ผู้ทรงอิทธิพล” คนใหม่ จนต้องหันมาเอาดีทางเป็น Influencer ก็ได้ ใครจะไปรู้…