รัญจวนจิต รัญจวนใจ Local Cuisine อดีตพ่อค้าขายเสื้อผ้า สู่เชฟชื่อดังดันอาหารพื้นถิ่นเมืองเพชร สู่สายตาโลก

รัญจวนจิต รัญจวนใจ Local Cuisine อดีตพ่อค้าขายเสื้อผ้า สู่เชฟชื่อดังดันอาหารพื้นถิ่นเมืองเพชร สู่สายตาโลก
รัญจวนจิต รัญจวนใจ Local Cuisine อดีตพ่อค้าขายเสื้อผ้า สู่เชฟชื่อดังดันอาหารพื้นถิ่นเมืองเพชร สู่สายตาโลก

รัญจวนจิต รัญจวนใจ Local Cuisine อดีตพ่อค้าขายเสื้อผ้า สู่เชฟชื่อดังดันอาหารพื้นถิ่นเมืองเพชร สู่สายตาโลก

การออกเดินทางไปใช้ชีวิต คือประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ มันคงไม่ต่างอะไรกับการตามหาตัวตนที่เป็นเรา

เชฟโย-กริชณรงค์ จันทร์ปลูก เจ้าของร้าน รัญจวนใจ Local Cuisine ผู้ที่ออกไปใช้ชีวิต ออกตามหาวัตถุดิบความฝันมาประกอบจนเป็นตัวตน จากอดีตพ่อค้าเสื้อผ้าวินเทจ ผันตัวเป็นเชฟที่ใช้วัตถุดิบพื้นถิ่น เมืองเพชรบุรี บ้านเกิด เป็นเอกลักษณ์

นำมารังสรรค์ความอร่อยบนจานอาหาร ผ่านเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กอปรกับวัตถุดิบล้ำค่าตั้งแต่ภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ และทะเล ให้เป็นรสชาติคนเมืองเพชรในมุมมองใหม่

เรื่องราวของชายผู้กลับบ้านเกิด ที่บอกเล่าเรื่องราวของร้านเล็กๆ ในเมืองเพชร เมืองอันรุ่มรวยด้วยวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความหลากหลายของวัตถุดิบพื้นถิ่นจะเป็นอย่างไร อะไรคือหัวใจที่รัญจวนใจยังคงรัญจวนจิตผู้คน และรสชาติอันจริงแท้ของคนเมืองเพชรบุรี

เชฟโย-กริชณรงค์ จันทร์ปลูก
เชฟโย-กริชณรงค์ จันทร์ปลูก

ก่อนจะเริ่มมาทำอาหารทำอะไรมาก่อน

“ผมเป็นเด็กวัยรุ่นธรรมดาอยู่บ้านนอก ชอบแต่งตัวจัดๆ หน่อย ใจจริงอยากเป็นคนทำเสื้อผ้า อยากเป็นดีไซเนอร์ ไปสอบศิลปากรก็ไม่ติด ที่บ้านเลยบอกว่าถ้ามันยากมากเรียน 2 ปี แล้วมาทำงานดีกว่า กลับมาช่วยธุรกิจน้ำดื่มของที่บ้าน ทำไปได้สักพักมันไม่ใช่ตัวเรา ก็บอกพี่ว่าอยากออกไปลองทำอย่างอื่นบ้าง

จากนั้นก็ขึ้นมากรุงเทพฯ เปิดร้านเสื้อผ้าวินเทจแถวจตุจักร ยูเนี่ยนมอลล์ ร้านชื่อ รัญจวนใจ เสื้อผ้าที่ทำก็ทำตามหนังสือนิตยสารสมัยก่อนซึ่งมันจะมีแพตเทิร์นพับอยู่ในนิตยสาร ผมก็เอาแพตเทิร์นไปซื้อผ้าที่พาหุรัดให้เขาตัด

เศรษฐกิจตอนนั้นมันดีมาก ผมจะขายอะไรขายได้หมด เริ่มมีชื่อเสียง เริ่มออกนิตยสาร แบรนด์ก็เริ่มติดตลาด แต่มันก็มาแป๊กตอนที่เขาประท้วง 2556 ผมขายที่ห้างแล้วมันต้องจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ ตัดสินใจอยู่พักใหญ่ว่าจะอยู่ต่อหรือกลับบ้าน

ผมก็เลือกที่จะกลับบ้านมาทำเต็นท์รถกับพี่ชาย”

หมูจันทร์แปดกลีบ ซอสศรีราชา หมั่นโถว
หมูจันทร์แปดกลีบ ซอสศรีราชา หมั่นโถว

แล้วการทำอาหารเริ่มต้นตอนไหน

“ระหว่างทางที่ผมไปอยู่กรุงเทพฯ ผมก็ทำอาหารมาตลอดเพราะอาหารมันไม่ถูกปาก เหมือนผมเป็นคนชิมอาหารเยอะมาก เพราะว่าผมปั่นจักรยานไปทำงาน เดินทางง่ายดูเหมือนไม่ไกล เลิกงานผมก็ชวนเพื่อนปั่นไปกินข้าว เรียกได้ว่าชิมทุกร้าน 

พอรสชาติมันไม่ถูกปากผมก็แกะสูตรตามร้านนู้นร้านนี้ หรือสูตรตามรายการทีวีเพราะสมัยก่อนยังไม่มี YouTube ทีนี้พออยากกินอะไรก็จะแกะสูตรออกว่าร้านนี้ เมนูนี้ ใส่อะไรๆ ผมก็ทำตาม

หลังย้ายมาบ้านก็มาอยู่ร้านเหล้าเล็กๆ เขาไม่มีอาหารก็นึกอยากขายเบอร์เกอร์ หาวัตถุดิบจากที่นั่นที่นี่ราคาสูง ก็คิดว่าต้องทำเอง จากนั้นก็เริ่มอ่านตำราหนังสือฝรั่งสมัยก่อน ทำนั่นทำนี่ก็อยู่ในวงอาหาร แล้วทำได้หน่อยก็เริ่มหมดใจ มีพี่มาชวนว่าไปเป็น Head Chef ที่หนองคายไหม เดี๋ยวส่งไปเรียนกับเชฟหนุ่ม

ผมตอบไม่คิดเลย ไป ปิดร้านทิ้งร้านไปเลย”

ไปศึกษาหาความรู้กับมืออาชีพแล้วจับจุดเด่นของตัวเองได้ยังไง

“ผมเรียนกับเชฟหนุ่ม เขาเป็นคนอีสาน เขาพยายามตลอดที่จะทำอาหารอีสานของตัวเองให้คนรู้จักทั่วโลก เขามักจะบอกเรื่องวัตถุดิบว่าทำไมคนอีสานถึงกินอันนี้ ทำไมคนภาคกลางถึงไม่กินอันนี้ เพราะว่าสิ่งแวดล้อมที่อยู่แต่ละพื้นที่

ด้วยตัวจังหวัดเพชรบุรีเป็นเมืองที่มี 3 วัง ทั้งวังของรัชกาลที่ 4 5 และ 6 มีประวัติเรื่องอาหารเยอะ อย่างเรื่องน้ำของเมืองเพชรก็เป็นน้ำที่ส่งเข้าวัง ปลาทูนึ่งตอนแรกก็เป็นของเมืองเพชรบุรีในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่องเหล่านี้ผมก็ศึกษาเองเรียนรู้ไปเรื่อยๆ”

เมนูจากรัญจวนใจ
เมนูจากรัญจวนใจ

ตอนที่กลับมาเปิดร้านเป็นยังไงบ้าง

“ช่วงแรกยังไม่ได้ทำอาหารโบราณจ๋า พอทำมาเรื่อยๆ ก็เริ่มอ่านหนังสือเยอะขึ้น ผมก็เลยอยากทำอาหารโบราณที่มันเกือบหายไปหมดแล้ว ผมก็ทำเงียบๆ ไม่ได้โปรโมตอะไรเลย (หัวเราะ)

ส่วนที่มาของร้านรัญจวนใจ ผมอยากทำอาหารในแบบของตัวเอง ใช้บ้านตัวเองเป็นร้านอาหาร อย่างที่บอกว่าไม่ได้โปรโมตอะไรเลย มีแต่เพื่อนมาชิม พอเพื่อนมากินเขาก็รีวิว คนก็เริ่มเห็น คนอื่นๆ ก็เริ่มมา

ซึ่งที่ร้านก็มีแค่ 5 โต๊ะ ไม่มีการเปิดจองมาหน้าร้านได้เลย เพราะเหมือนมีคนที่เขาตั้งใจจะมากินจริงๆ กับคนที่เห็นร้านเราเป็นคาเฟ่ช่วงเปิดใหม่ๆ ก็จะมาถ่ายรูป ซื้อแต่น้ำ เลยบอกแฟนว่าเราทำอาหารนะ เราไม่ได้อยากให้คนเยอะอะไรขนาดนั้น เปิดจองดีไหม ก็เลยทำแบบนั้นมาตลอด”

มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่า
มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่า

รสชาติของคนเมืองเพชรเป็นแบบไหน

“เปิดร้านแรกๆ ผมจะเน้นไปที่วัตถุดิบต่างประเทศ แบบที่เชฟคนอื่นใช้กัน มันยากไปหมดกับตัวผม เพราะผมทำกับข้าวคนเดียว สำหรับตอนนี้ คอนเซ็ปต์ที่ร้านรัญจวนใจ คืออาหารโบราณที่กลับมาทำใหม่ และต้องเป็นอาหารท้องถิ่น ซึ่งผมจะเน้นที่วัตถุดิบท้องถิ่น เพราะบ้านเรามีเยอะ มีทั้งภูเขา มีแม่น้ำ มีป่าไม้ มีทะเล สมมติฤดูนี้มีปลาทูเยอะผมก็ขายปลาทู

ส่วนรสชาติของเพชรบุรีจะเป็นรสชาติที่กลมกล่อม ครบรส บางคนบอกว่า ‘คนเพชรกินหวาน’ จริงๆ แล้วมันคือรสจัด หวานเค็มเผ็ดอยู่ในแกงแกงเดียวที่ไม่ใช่รสใดรสหนึ่งโดด ซึ่งเป็นรสชาติที่กลมกล่อม มันเลยเป็นอัตลักษณ์ของเมืองเพชร

สำหรับผมเวลาทำอาหารจะคงรสชาติดั้งเดิม ผมไม่เคยคิดจะเปลี่ยนรสชาติอาหารผมเลย สมมติว่ามีคนมาบอกว่า อันนี้รสชาติมันหวานไป ผมอยากให้คนได้กินรสชาติเพชรบุรีให้มากที่สุด เพราะว่าผม Local”

เชฟโย-กริชณรงค์ จันทร์ปลูก
เชฟโย-กริชณรงค์ จันทร์ปลูก

และเตรียมพบกับ “เชฟโย” ได้ในกิจกรรม “เส้นทางเศรษฐี ตะลอนทัวร์” วิถี • ท้องถิ่น • สร้างสรรค์ กรุงเทพฯ-ราชบุรี-เพชรบุรี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 พร้อมพาทุกคนตะลอนทัวร์ ทำกิจกรรม CSR ณ มูลนิธิบ้านมานาโพธาราม เพื่อสตรีและเด็ก จากนั้นแวะทานอาหารกลางวันที่ป้าหยันร้านอาหารไทย กับเมนูสุดพิเศษ กุ้งซอสมะขาม แกงคั่วปูใบชะครามเส้นหมี่ ไก่บ้านต้มขมิ้น เป็นต้น 

พร้อมมุ่งหน้าสู่ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เรียนรู้วิถีชุมชนท้องถิ่น และพักผ่อน ณ โรงแรมชั้นนำในอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พร้อมเข้าร่วมกิจกรรมสุดพิเศษ Chef’s Table ในหัวข้อ “รุ่มรวยวิถีถิ่น กินดับร้อน” กับ เชฟโย-กริชณรงค์ จันทร์ปลูก เจ้าของร้านรัญจวนใจ

สามารถติดตามรายละเอียดร่วมงานได้ในเพจ Sentangsedtee – เส้นทางเศรษฐี เร็วๆ นี้ โทร. 0-2580-0021 ต่อ 2335