After Yum ง่ายๆ โง่ๆ จากร้านเล็กคิวยาวนับร้อย สู่ธุรกิจนี้ไม่ได้โง่อย่างที่คิด จนวันที่ยำเป็นลมหายใจ

After Yum ง่ายๆ โง่ๆ จากร้านเล็กคิวยาวนับร้อย สู่ธุรกิจนี้ไม่ได้โง่อย่างที่คิด จนวันที่ยำเป็นลมหายใจ

“…สำหรับลูกค้าท่านใดที่จอดรถไว้ฝั่งตรงข้าม กรุณารบกวนงดสูบบุหรี่ทุกกรณีค่ะ เนื่องจากเป็นบริเวณหัวจ่ายน้ำมัน เราไม่อยากจากไปพร้อมๆ กัน

เพื่ออรรถรสในการรอยำและการรับประทาน โปรดหากิจกรรมมาทำระหว่างรอ ขอบคุณค่าาา”

สิ้นเสียงก็เป็นท่าโบกมือย่อตัว ขอตัวไปนำตำนานร้านยำเล็กๆ ในปั๊มน้ำมันที่ยังมีลมหายใจกลายเป็นเรสเตอรองต์ขนาดใหญ่ มีคนเข้าออกอยู่ไม่ขาดสาย รวมถึงปลุกกระแสร้านยำฟีเวอร์ไปทั่วประเทศ กับร้าน  After Yum

โดย คุณแต๋ง-กฤษฏิ์กุล ชุมแก้ว หนึ่งในผู้บริหารร้าน After Yum ได้เปิดใจถึงที่มาที่ไปบนการทำธุรกิจฉบับ ง่ายๆ โง่ๆ จนประสบความสำเร็จ พร้อมกับคำว่า เจ๊ง ที่เป็นทางเลือกสำคัญของชีวิต รวมถึงพาร์ตเนอร์ และหลักคิดการบริหารธุรกิจให้ไปต่อ

คุณแต๋ง-กฤษฏิ์กุล ชุมแก้ว หนึ่งในผู้บริหารร้าน After Yum
คุณแต๋ง-กฤษฏิ์กุล ชุมแก้ว หนึ่งในผู้บริหารร้าน After Yum

หลายคนรู้จัก อาฟเตอร์ยำ แต่จุดเริ่มต้นจริงๆ มาจากไหน

คำถามนี้โดนบ่อยนะ อาฟเตอร์ยำมาจากไหน อาฟเตอร์ยำเกิดขึ้นได้ยังไง หรือว่าคนรู้จักอาฟเตอร์ยำจากอะไร จริงๆ อาฟเตอร์ยำเกิดจากร้านยำเล็กๆ สองเพื่อนซี้แต๋งกับดิวแม่ลูก กินข้าวด้วยกันทุกวัน แล้ววันหนึ่งก็เกิดถูกใจในรสชาติ ยำปูดำ 1 จาน 

ตอนนั้นดิวบอก ‘โอ๊ยแม่ มันอร่อยจังเลย’ วันนั้นเราไม่ได้ชิม ทำตามความรู้สึกและไม่ได้จับขวดน้ำปลา ไม่ได้ตำไม่ได้อะไรเลย ใส่ลงๆ แล้วทำตอนนั้น 3 ตัวนะปูดำ แล้วนางก็ตาลุกวาว เราทำก็ไม่ได้ชิมนะ เราใช้ความรู้สึก สุดท้ายก็ ‘ฮัลโหล เปิดร้านกันไหม ง่ายๆ โง่ๆ’  แค่เนี้ย เปิดร้านแล้วก็หาที่ ลงทุนคนละ 15,000 บาท

ใครจะทำธุรกิจอย่าคิดไรเยอะ เรื่องจริง กรณีที่เลวร้ายที่สุดคิดว่าถ้ามันเจ๊ง เธอจะทำยังไงต่อ ณ วันนั้น แต๋งคิดอย่างนั้นจริงๆ

แต่คำว่าเปิดร้าน ง่ายๆ โง่ๆ มันต้องไม่โง่ใช่ไหม

ตอนนั้นแต๋งอยู่โรงแรม ทำอีเวนต์ทำออร์แกไนซ์ เลขา ทำทุกงานทุกอย่าง เข้าครัวไปชั่งตวงวัดว่าพริกเท่าไหร่มะนาวเท่าไหร่อะไรเท่าไหร่ ต้นทุนต่อ 1 จานเท่าไหร่ แล้วต้นทุนต่อ 1 จานไม่ใช่ 1 จานธรรมดานะ ต้องเอาราคาวัตถุดิบตลอดปีมาคำนวณ ผักแต่ละฤดูกาลนี้แพงถูกไม่เท่ากัน อาหารสดแพงถูกไม่เท่ากัน 

เราถึงมารู้ว่ามะนาวแพงตอนหน้าแล้ง เดือน 3 เดือน 4 เดือน 5 พอ Year Round เราก็คำนวณเลยว่าถูกที่สุดและแพงที่สุด 

ใครก็ตามที่จะทำธุรกิจร้านอาหารเนี่ยอย่าคำนวณราคาจากช่วงที่ทดลองนะ ทดลองภายในเขาเรียก Prototype ให้คำนวณราคาจากราคาทั้งปีว่าช่วงมกราเท่าไหร่ เมษาหน้าร้อน หน้าฝน ผักจะแพงตรุษจีน คุณต้องเข้าใจว่าเนเจอร์ของวัตถุดิบ Ingredient แต่ละตัวคืออะไร 

พอเราเช็กทั้งปีก็ อ้อ มะนาวแพงช่วงเดือน 3-4-5 เอ้า ปูแพงช่วงเดือน 11-12 หน้าฝน เอ้าพริกแพงผักแพงช่วงเทศกาลกินเจ เราก็เลยเอาทุกอย่างที่ถูกที่สุดและแพงที่สุดมาถัวเฉลี่ยหาค่ากลาง พอหาค่ากลางปุ๊บ 

เอ้า ตายล่ะ ราคายำเอาเรื่องนะเนี่ย!

ตกใจเรื่องราคา เพราะวัตถุดิบที่เราเอามา 1. เราคำนวณจากพริกที่เขาแกะมาแล้ว 2. เราคำนวณจากหอมที่เขาปอกมาแล้วค่าปอกกี่บาท ค่าแกะกุ้งกี่บาท ต้องคำนวณ เพราะว่ากะเทยไม่ตั้งใจจะทำกัน แบบว่า ตั้งใจจะทำ แค่วันเสาร์-อาทิตย์ ง่ายๆ โง่ๆ แค่นั้น ลงทุนตอนนั้นคนละ 15,000 บาท 2 คน 30,000 บาท ขายเสาร์-อาทิตย์แค่นั้นจริงๆ ทำกันแค่นั้น

อาฟเตอร์ยำเป็นร้านยำเล็กๆ มีคนต่อคิวเยอะมาก ถือว่าเติบโตไวไหม

ช่วงแรกไว เป็นอย่างนี้เลยนะ เวลาเครื่องบินเวลาจะ Take Off เขาก็จะค่อยไต่เลื่อนระดับเพดานบิน แต่อาฟเตอร์ยำเป็นจรวดขึ้นแนวตั้ง (หัวเราะ) ตกใจเหมือนกันนะตั้งรับไม่ทัน 

หลายคนมองว่าร้านอาหารไหนที่มีคนมาเข้าคิวเยอะ ถือว่าประสบความสำเร็จ

ใช่ อันนี้บอกเลยว่าใช่ แต่เป็นแค่ช่วงแรก นั่นคือช่วงแรกนะ 3 เดือนแรก 6 เดือนแรก แต่ไฮไลต์อยู่ไหนรู้ไหมคะ ไฮไลต์อยู่ที่บริหารจัดการคิว ให้คิวเนี่ยไปไวมากที่สุดเท่าไหร่ อันนั้นคือสาระสำคัญมากกว่า 

หลายคนมองว่าร้านนี้คิวเยอะ ลูกค้าเยอะ เงินเยอะ กำไรเยอะ ใช่ แต่ถ้าคิวเยอะคุณจัดการคิวได้ไว เงินมันจะจัดการไปได้ไวมาก แล้วลูกค้าไปได้ไว ยกตัวอย่าง หมอดูคนนี้เก่งแต่คิว 2 ปี แต่ถ้าบริหารการจัดการเวลาเรื่องของคิวเพื่อรับคิวจาก 10 ให้เป็น 30 คิว ทำยังไง นั่นคือวิธีบริหารจัดการ 

สมมติคนต่อคิวรออยู่ 30 คน แต่คิวด้านในเนี่ยเพิ่ม หมายถึงคิวที่จะไป Income ในเรื่องของรายได้ เมื่อบริหารจัดการในเรื่องของคิวได้ รวมถึงร้านอาหารการลุกนั่งเทิร์นโต๊ะคือการทำเงิน 

เพราะฉะนั้นแล้ว การบริหารจัดการคิวคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้ร้านนั้นๆ ประสบความสำเร็จ มันอาจจะมองว่าไม่ประสบความสำเร็จทางหน้าร้าน แต่อาจจะประสบความสำเร็จทางหลังร้านในเรื่องของเงิน 

เคยเห็นร้านที่เขาดีแต่ไปไม่รอดป่ะ มีหลายร้านมาก ร้านเพื่อนนะ เพียงแค่ว่าบริหารจัดการไม่รอด เข้าเนื้อ ขาดทุน มันเกิดขึ้นได้กับร้านอาหาร

คุณแต๋ง-กฤษฏิ์กูล ชุมแก้ว หนึ่งในผู้บริหารร้าน After Yum
คุณแต๋ง-กฤษฏิ์กูล ชุมแก้ว หนึ่งในผู้บริหารร้าน After Yum

คำว่า เจ๊ง มีบ้างไหม

เจ๊ง มี ผงทอด เพราะไม่มีเวลา เชื่อไหม แบรนดิ้ง คือสิ่งสำคัญ เพราะการทำการตลาดคือภายในของแบรนดิ้ง แล้วทำไมถึงเจ๊ง เพราะเราไม่ได้ทำการตลาดให้เขา ทำไมถึงไม่ได้ทำการตลาดให้ผงทอด มันเป็นวันที่ต้องไลฟ์สดขายผงทอด วันนั้นต้องเปิดสาขากรุงเทพฯ มันถึงเวลาต้องเลือก คนเราต้องใช้เวลาตัดสินใจ จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาคือ 0.25 นาที ในการเลี้ยวซ้ายหรือขวา ชีวิตเปลี่ยน เพราะฉะนั้น การตัดสินใจ (Decision Making) คือสิ่งสำคัญ 

ถ้าเรามาศึกษาจะทำให้เรารู้เลยว่า อะไรที่มันจะทำให้เราเจ๊ง อะไรที่จะทำให้เราไม่เจ๊ง 

คำว่าเจ๊งเนี่ย ให้มันเจ๊งในสมอง สมองคิดให้เยอะ กระบวนการในสมอง คิดให้เยอะ แต่ถ้าตัดสินใจลงมือทำแล้ว ประเมินสถานการณ์นะ 51 มีโอกาสชนะ 49 มีโอกาสแพ้ 1% ก็เอา โอกาสชนะ 49 อย่าเอา

สำหรับแต๋ง เกมเล็กๆ ในชีวิตแพ้ได้ แต่เกมใหญ่ๆ ห้ามแพ้

เลือกเเล้วก็ลงมือทำ ทำด้วยหัวใจ ทำด้วยความจริงใจ แล้วมันจะได้รางวัลแห่งความจริงใจมันจะตอบแทนเราอย่างสาสม ตอบแทนในสิ่งดี ถ้าในวันนี้มันไม่ใช่ วันหนึ่งมันต้องใช่

อยากจะบอกกับหลายๆ คนเลยว่า ถ้าเจอปัญหาในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา อย่าท้อ แต๋งก็หนัก ทุกคนหนักหมดเลย ให้ถามบอกตัวเอง ทำได้อีกไหม ทนได้อีกไหม ทนได้ ถามตัวเองว่าทำสุดหรือยัง ถามตัวเองซ้ำๆ  มึงทำสุดหรือยังแต๋ง ทำได้อีกๆ  บอกตัวเองเงี้ย อย่าไปกลัวว่าจะทำไม่ได้ กลัวก็แพ้ละ ลุย แต่สุดท้ายต้องประเมินก่อนนะ

แล้วการมีพาร์ตเนอร์สำคัญมากแค่ไหนในการทำธุรกิจ

ถ้าเราทำคนเดียวก็คือหัวเดียว ถ้ามีพาร์ตเนอร์ 1 คน ก็มี 1 หัว มี 3 คน ก็ 3 หัว แต่คำว่ามากคนมากความ ก็มีมามากเหมือนกัน 

การทำธุรกิจที่มีพาร์ตเนอร์ต้องแบ่งกันให้ชัด อย่างเธอทำนั่น ฉันทำนี่ แล้วก็ต้องมี Soft Skill รู้เขารู้เรา ว่าคนคนนี้เขาต้องการอะไรในชีวิต คนคนนี้ชอบความสนุกสนาน แต่มาพร้อมกับความขี้เบื่อ คนคนนี้ชอบความมั่นคงแต่จะชอบอยู่กับความยึดติด คนเนี้ยชอบเป็นคนให้ คนเนี้ยชอบเป็นคนรัก แต่มาพร้อมกับความขี้น้อยใจ 

เห็นไหม พอเราเรียนรู้เขาเรียนรู้เรา เราจะเข้าใจเขาและเข้าใจเรา ในทางกลับกัน เขาก็ต้องเรียนรู้เราเหมือนกันว่า Operation การบริหารจัดการคืออะไร ทำธุรกิจร่วมกับพาร์ตเนอร์ดีหมด มันจะช่วยกันเจริญเติบโต และช่วยแบ่งหน้าที่ในการทำงาน สำคัญสุดในการทำธุรกิจ 

แต่สำคัญสุดของคำว่าพาร์ตเนอร์คือคำว่า การโกง ห้ามเลยนะ ห้ามเกิดขึ้นเด็ดขาด ทะเลาะกันเรื่องไหนก็ได้ ทะเลาะกันเรื่องเงิน จบนะ 

ห้ามทะเลาะกันเรื่องโกง เรื่องผลประโยชน์ เคลียร์กันให้จบตั้งแต่ทีแรก ต่อให้มันหนักหนาแค่ไหนไม่โกงกัน มือไม่หลุดนะ แต่ถ้าไม่ทะเลาะกัน โกงกัน มือหลุดนะ สำคัญการทำงานกับพาร์ตเนอร์ 

แล้วเงินคือ First Priority ที่ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์คือ เงิน อย่าทำให้การโกงทำลายมิตรภาพ 

มันเคยเกิดขึ้นแล้วล่ะ ไม่มีใครไม่เคยโดนโกง อันนี้คือเรื่องจริง มันเป็นอะไรเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ยังไงๆ ต้องเจอ แต่ทีเนี้ย ถ้าในเรื่องของผลประโยชน์ เธอได้มาก ฉันได้น้อย ขึ้นอยู่กับการตกลงของแต่ละคน

สิ่งสำคัญในการบริหารธุรกิจ หรือแม้กระทั่งการดำรงชีวิต มันสอดคล้องกันในด้านไหนบ้าง

ชีวิตแต๋งไม่มีเป้าหมาย ชีวิตก็เหมือนทางน้ำไหล จะไหลไปทางไหนแล้วแต่โชคชะตาพาไป แต่คำว่าโชคชะตาพาไปต้องทำหน้าที่ ถ้าเขาพาไปซ้ายฉันก็ต้องทำซ้ายให้ดีที่สุด ถ้าเขาไปขวาฉันก็ต้องทำขวาให้ดีที่สุด 

และทุกๆ อาชีพมีค่า ถ้าคุณทำงานอะไรแล้วก็ตามแต่แล้วมองว่าความสำเร็จคือความสุข ไม่ใช่ ความสุขต่างหากคือความสำเร็จ ถ้าไปถึงปลายทางแล้วไม่มีความสุข สำเร็จไหม อาจจะไม่สำเร็จแต่ในขณะที่กำลังทำงานอยู่มีความสุข คุณสำเร็จแล้วนะ เห็นไหม หันมามองสิ่งเล็กๆ ที่เราได้รับ เปลี่ยนมุมกลับ ปรับมุมมอง 

เจออุปสรรคปัญหา เจอนั่นนี่ เปลี่ยนจากอุปสรรคให้เป็นโอกาส เปลี่ยนจุดอ่อนให้กลายมาเป็นจุดแข็ง ขอบคุณทุกปัญหาที่เข้ามามันจะทำให้เราแข็งแกร่ง มันจะทำให้เราเลเวลอัปขึ้น ทุกๆ ปัญหาที่เข้ามาเขาจะฝึกความมืออาชีพในตัว ทุกๆ ปัญหามีคุณค่า ทุกๆ ปัญหาเปลี่ยนเป็นทอง มองให้เขาให้มีมูลค่า แล้วจะเอนจอยกับปัญหา

อะไรที่เป็นความสุข เสพมันซะ อะไรก็ตามที่เราอยากจะปรับเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยน Mindset ทำบ่อยๆ ซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัย จากนิสัยๆ จนกลายเป็นสันดาน จากสันดานๆ กลายเป็นลมหายใจ เมื่อสันดานหรือนิสัยเข้าไปอยู่ในลมหายใจ ยังไงมันก็อยู่ไปตลอดชีวิต ไม่มีคำว่าเปลี่ยน 

บางอย่างลืมได้ แต่เมื่ออะไรบางอย่างที่เข้ามาเป็นลมหายใจหรือเข้ามาเป็นกมลสันดานของเรา ถ้าเราทำมันได้แล้วเนี่ย มันจะดี มองทุกอย่างให้เป็นบวก แต่ธุรกิจเนี่ยต้องมองทั้งบวกและลบ มองในกรณีถ้ามันเลวร้าย หาวิธีการรองรับ เตรียมพร้อม กับวิกฤตเจอปัญหา แต่ถ้าเรา Success ก็เป็นโบนัสไป แค่นั้นเอง