พ่อค้าปลาหมึกสายคอสเพลย์ เปลี่ยนคาแร็กเตอร์ทุกวัน กระตุ้นยอดขาย ขวัญใจลูกค้ารอบดึก

พ่อค้าปลาหมึกสายคอสเพลย์ เปลี่ยนคาแร็กเตอร์ทุกวัน กระตุ้นยอดขาย ขวัญใจลูกค้ารอบดึก

“ถ้านึกถึงปลาหมึกบดอะ หน้าผมต้องลอยเข้าไปเลย” เจ้าของร้านปลาหมึกบดที่มีคาแร็กเตอร์สุดกวนได้กล่าวเอาไว้

จากพนักงานดับเพลิงในบริษัทเอกชน ที่เป็นถึงระดับหัวหน้า มีความอิ่มตัว และผันตัวมาเป็นพ่อค้าขายปลาหมึกบดที่มีความเป็นตัวเองสูง และมีความคิดว่าปลาหมึกบดจะนำพาเขาไปได้ไกลมากกว่านี้ คุณเบียร์-ภาคิน อภิวรพุทธา เจ้าของร้าน ปลาหมึกบดรถลุงหนวด ได้เปิดเผยเรื่องราว กว่าจะมาเป็นเจ้าของร้าน “ปลาหมึกบดรถลุงหนวด” ได้นั้น ต้องเจอกับอะไรมาบ้าง

ปลาหมึกบดรถลุงหนวด
คุณเบียร์-ภาคิน อภิวรพุทธา เจ้าของร้าน ปลาหมึกบดรถลุงหนวด

เริ่มต้นจากเป็นเด็กต่างจังหวัด เรียนจบแค่ ม.3 เพราะว่าไม่มีเงินเรียนต่อ จนทำให้เขาต้องเดินออกมาจากที่บ้าน หางานทำเพื่อหวังแค่ว่าจะมีรายได้ในการใช้ชีวิตไปแต่ละวัน 

ระหว่างนั้นก็ได้ทำอะไรที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กนั่งคุยกับคนขับรถ หรือภาษาที่ใช้เรียกกัน คือ แอดรถ เปลี่ยนมาขายแผ่นซีดีบ้าง โดยรู้สึกว่า การขายมันตอบโจทย์เขา เพราะจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ จะทำผมแบบไหนก็ได้ ก็เลยทำให้เขารู้สึกรัก และชอบในอาชีพค้าขาย

“รู้ตัวเองว่าตัวเองเนี่ย ชอบ รักในการขาย ผมเชื่อว่าผมขายอะไรก็ได้ หยิบอะไรขึ้นมาขายก็ได้ แต่ผมเองก็ไม่เคยไลฟ์สดขายของนะ จริง ผมว่าผมอะ ผมชอบการขาย” คุณเบียร์ กล่าว 

แต่ก็ไม่นาน เขาได้เดินทางเข้ามาหางานในกรุงเทพฯ โดยดูจากป้ายที่เขาติดประกาศกันตามป้ายรถเมล์บ้าง ตามเสาไฟบ้าง และในที่สุดก็มาทำงานเป็นไฟร์แมน หรือพนักงานดับเพลิงในบริษัทเอกชน ทำงานจนถึง 10 ปี เกิดความรู้สึกอิ่มตัว และได้กลับมาย้อนคิดไปว่า จริงๆ แล้ว เขานั้นชอบการค้าขาย

อิ่มตัวจากงานประจำ หันมาขายของเลี้ยงชีพ

ครั้งแรกที่ขายหลังจากออกจากงานประจำมา คือ ปลาหมึกสดย่าง แต่ขายอยู่ได้เพียง 22 วัน เจ๊ง เพราะหน้าฝน ลูกค้าไม่ออกจากบ้าน ทำให้ขายไม่ได้เลย และก็ล้มเลิกไป 

จนวันหนึ่ง ด้วยที่เขาเป็นนักดื่มตัวยงอยู่แล้ว ก็จะไปตามร้านเหล้าต่างๆ ก็ไปเห็นพ่อค้าที่ขายปลาหมึกบด จึงไปคุยกับเขา มีหลายเจ้าเลยทีเดียว พอได้ลองคุยก็รู้สึกว่าสนุกสนาน เพราะได้หยอกกัน 

แต่ต้นกำเนิดของร้านปลาหมึกบดรถลุงหนวดเลยจริงๆ คุณเบียร์ เล่าว่า

“เราอะสั่งมาจานหนึ่ง ก็จานหนึ่งมาปึ๊บ เราไปเข้าห้องน้ำ กลับมาหมด ไม่ได้กินดิ คนสั่งไม่ได้กิน เพื่อนกินหมดไง ก็เลยอ้าว ก็เดินออกไปใหม่ ไปซื้ออีกรอบหนึ่ง แล้วตอนมานั่งกิน เอากลับมาที่โต๊ะนั่งกิน มันก็มีคนออกไปซื้อตาม ในร้านเดียวกันนี่แหละ 

มันไม่ใช่แค่เรานี่หว่าที่ชอบ มันก็มีคนอื่นกิน อยู่ดีๆ แบบ ตะโกนลั่นกลางโต๊ะเลย กูเอาอันนี้เนี่ย เนี่ย อันเนี้ย กูเอา คนอื่นก็ไม่รู้อะไรของมึงวะ ว่าเออเนี่ยกูจะขายอันนี้แหละ”

เมื่อมีจุดเริ่มต้นของเส้นทางนี้แล้ว เรื่องราวก็ต้องดำเนินต่อไป เขาได้เดินไปคุยกับคุณลุงเจ้าของร้านปลาหมึกบด แล้วถามว่า ถ้าเขาจะขายบ้างได้หรือไม่ ทางด้านคุณลุงก็ไม่ได้มีท่าทีว่าจะห้ามแต่อย่างใด คุณลุงตอบกลับเขามา ทำให้เขาสบายใจมาก คือ อยากขายก็ขายเลย เพราะว่ามันหากินยาก คนไม่ค่อยขายกัน

3 เดือนของการเริ่มต้น

หลังจากที่ได้ตัดสินใจ เขาไม่ได้คิดแค่ว่าจะทำเล่นๆ แต่เขาศึกษาหาข้อมูลในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่การเลือกปลาหมึก การออกแบบรถ ซึ่งทำให้เห็นว่า นี่คือความตั้งใจของลูกผู้ชายคนนี้ที่มีความหวังว่า สักวันจะเห็นแสงสว่างจากปลายอุโมงค์

“ผมใช้เวลาอยู่ 3 เดือนนะ ไปตามหาอะไหล่รถ ไปถามหาปลาหมึก แต่เราคิดว่าวันแรกที่เราขายเนี่ย กูจะเป็นยังไงวะ ภาพที่มันออกมา นึกออกไหม ปั่นจักรยาน ก็เลยอยากเป็นแบบ เป็นไทยๆ มีความเป็นโบราณวินเทจ” เขากล่าว

เมื่อทำจักรยานเสร็จ เขาก็ไปเยาวราชในทันที เพื่อที่จะไปตามหาร้านปลาหมึกที่ได้ดูเอาไว้ 

“ไปเยาวราช เจอร้านแรก ก็ สวัสดีครับ คือไม่ได้ไปเป็นลูกค้าเขานะ ไปถาม เนี่ยมันต่างกันยังไง มันมีหลายราคา 600 กว่า 750-800 โอ้โหเยอะ เราก็มอง มันก็คือปลาหมึกเหมือนที่เราเห็นอะ ที่เรากิน แต่ไม่เข้าใจเรื่องราคา” เขา กล่าว

เมื่อไปเจอร้านปลาหมึกตามที่ดูเอาไว้ นอกจากจะได้ของแล้ว ยังได้กำลังใจดีๆ จากอาม่า เจ้าของร้านอีกด้วย 

“ตอนนี้ผมมีจักรยานแล้วอาม่า ผมไปซื้อมาแล้ว อาม่าบอก ดี ดี ดี ไม่มีนะวัยรุ่นใครมาขายแบบนี้ นั่นแหละอาม่า ผมเลยอยากขาย” คุณเบียร์ เล่า

เมื่อทุกอย่างลงตัว ก็มาถึงวันที่จะออกไปขายแล้ว แต่ว่าจะขายปลาหมึกบดโดยที่แต่งตัวทั่วๆ ไป มันก็ไม่ได้ช่วยดึงดูดลูกค้า เขารู้สึกว่า มันก็จะเหมือนกับพ่อค้าแม่ค้าทั่วๆ ไป ในกางเกงกีฬา เสื้อยืด ก็มานั่งขาย แต่จะมีวิธีการอย่างไร ที่จะทำให้ลูกค้าจดจำ

“วันแรกก็เป็นนี่เลย พี่คล้าว อีกวันก็ไม่ได้คิดเรื่องว่าจะใส่ชุดอะไรนะ ลองแต่งตัวเท่ๆ เป็นสไตล์เรา ก็ใส่ขาสั้น คือให้มันขัดกันอะ ให้มันกวนอะ ให้มันไม่ต้องตั้งใจอะ 

สมมติว่ผมต้องตั้งใจใส่ชุดอะไรไปขายของเนี่ย มันกลายเป็นว่าเราไปเรียกร้องความสนใจหรือเปล่า เราไปขายตัวเองไหม จริงๆ เราไปขายปลาหมึก” คุณเบียร์ เล่า

เรื่องการแต่งตัว กลายเป็นคาแร็กเตอร์ที่ลูกค้าจดจำ และทำให้เกิดการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ใช่แค่การแต่งกาย แต่ความอัธยาศัยดี ความกวน ความเฮฮา เป็นตัวที่ช่วยให้ลูกค้าอยากที่จะเข้ามาซื้อ เข้ามาคุย

ขายวันแรกแบบทุลักทุเล แต่ขายหมด

แต่หารู้ไม่ วันแรกที่ขาย ขายแบบทุลักทุเล แต่ขายหมด จะบอกว่าในระหว่าง 3 เดือนที่ผ่านมา เขาได้ศึกษาก็จริง แต่ลืมไปว่าการบดปลาหมึก การย่างปลาหวาน บางครั้ง สิ่งเหล่านี้ก็ต้องอาศัยเวลาอยู่ไม่น้อย 

“เจ้าแรก บดนี่คือซวยแล้ว ลูกค้ารายแรกอย่างซวย ยุ่ย ยับ ไม่เป็นชิ้นเป็นอันเลยครับ ไม่เป็นแผ่นอย่างนี้เลยฮะ ก็ขอโทษเขา

หู! ปลาหวานนี่ย่างจะเป็นพลาสติกละลายแล้วอะ ต้องดึงออกจากตะแกรงอะ ย่างไม่เป็นไง ประมาณเจ้าที่สาม ที่เขาซื้อเนี่ย ถึงจะอ๋อรู้แล้ว รู้แล้ว อะ เป็นเลย” เขาเล่า

พออะไรๆ เริ่มลงตัว ทำให้ร้านปลาหมึกเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น รายได้ถือว่าดีมาก ได้แน่ๆ วันละ 1,000 บาท ถือว่าดีกว่างานประจำเลยทีเดียว แต่ว่าต้องมีความขยันและอดทนและมีใจรักจริงๆ 

ปลาหมึกบดพลิกชีวิต

การตัดสินใจของเขาในครั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นการเลือกทางเดินที่ดี และตอบโจทย์กับตัวเขามาก จนรู้สึกว่า อาชีพนี้เป็นตัวของตัวเอง และเป็นการทำงานที่มีความสุขจริงๆ

“รู้สึกมันเป็นการทำงานที่มันโคตรมีความสุข ไม่เหมือนที่เราทำมาเลย หนึ่ง มันเป็นเรา ไอ้คำว่าเจ้านายตัวเองอะ มันก็ใช่อยู่แล้วแหละ ถ้าคนค้าขายอะ ก็ตื่นกี่โมงก็ได้ เลิกกี่โมงก็ได้ แต่งชุดอะไรไปทำงานก็ได้ ไม่ต้องไปกลัวว่า HR จะมาว่าอะไร เป็นเลย เป็นเราเนี่ย” เขากล่าว  

นอกจากจะมีความสุขในการทำงานแล้ว คุณเบียร์ บอกกับเราอีกว่า 

“ปลาหมึกให้อะไรผมหลายๆ อย่างมาก ผมคิดว่าปลาหมึกเนี่ย นำผมไปได้ไกลมาก ผมเคยบอกแม่ผมอะ แม่ไม่เข้าใจหรอก เขาเข้าใจว่าอย่างนี้ ปลาหมึกอันนี้ แต่มันไม่เหมือนงานที่เราทำ ที่เราทำออฟฟิศ เราเป็นนักดับเพลิงนู่นนี่นั่น 

ก็เลยบอกจะขายนี่แหละ เออมันต้องขายดีแหละแม่ เดี๋ยวคอยดูปลาหมึกผมจะดังนะแม่ คอยดูนะ เดี๋ยวผมจะเอาปลาหมึกผมไปออกทีวีให้ดู แล้ววันหนึ่งก็ทำได้”

จะบอกว่า จากที่ได้ฟังคุณเบียร์มา ทำให้เราคิดตามว่า การที่จะทำอะไรให้มันประสบความสำเร็จ ต้องศึกษา ลงมือทำอย่างจริงจัง ทำจนมันสำเร็จตามที่คิดไว้ และงานที่เราทำจะต้องเป็นงานที่มีความสุขด้วย

สนใจปลาหมึกบดรถลุงหนวด ติดต่อได้ที่ 

เพจ ปลาหมึกบด รถลุงหนวด

โทร. 082-570-0487 (คุณเบียร์)

 

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2567