ร้านอาหาร (อยาก) รักษ์โลก แค่ความคิดเจ้าของคนเดียว ไม่มีทางเป็นไปได้

ร้านอาหาร (อยาก) รักษ์โลก แค่ความคิดเจ้าของคนเดียว ไม่มีทางเป็นไปได้

ร้านอาหารที่อยากจะรักษ์โลกเป็นร้านอาหารสีเขียว ลำพังแค่ความคิดของเจ้าของคนเดียวไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ต้องอาศัย “ทุกคน” ที่เกี่ยวข้อง ถึงจะทำร้านอาหารสีเขียวได้ตลอดรอดฝั่ง ซึ่งการใส่ใจ “ทุกคน” ด้วยโลกสีเขียวนี้ยังเป็นการสร้างการประกอบธุรกิจร้านอาหารให้ราบรื่นไปด้วยในตัว

จากงานวิจัยเรื่อง “แนวปฏิบัติการประกอบธุรกิจร้านอาหารสีเขียวในประเทศไทย” ยกให้เรื่อง “คน” นี้เป็นแนวปฏิบัติที่สำคัญอันดับ 2 รองจากเรื่องสิ่งแวดล้อม จะละเลยไม่ได้ เรียกรวมๆ ว่า “แนวปฏิบัติด้านสังคม” มีอะไรบ้าง มาดูกันครับ

อันดับที่ 1 ร้านอาหารต้องปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเอาใจใส่ เพราะถ้าไม่มีพวกเขา ร้านอาหารก็ดำเนินงานไม่ได้ครับ ต้องดูแลเขาอย่างเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบ เช่น การให้ผลตอบแทน การกำหนดระเบียบ การฝึกอบรม การให้คุณ การลงโทษ การให้โบนัส การปฏิบัติต่างๆ ในร้านอาหารสีเขียว ให้พนักงานเอาใจใส่ลูกค้าด้วยทัศนคติที่ดี บริการดี คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจเรื่องร้านอาหารสีเขียวได้

อันดับที่ 2 ร้านอาหารสีเขียว ต้องให้ความสำคัญกับชุมชน เพื่อนบ้าน การช่วยเหลือชุมชน เช่น ซื้อขนมจากป้าข้างบ้านมาบริการลูกค้า ให้ความรู้ ฝึกอาชีพให้กับชุมชน บริจาคอาหาร (ที่ยังดีๆ) จะหาพนักงานก็หาคนในชุมชนก่อน เดี๋ยวนี้หลายร้านจ้างผู้ด้อยความสามารถ ผู้สูงอายุ มาทำงานได้ในหลายตำแหน่ง ได้บุญด้วย

อันดับที่ 3 ร้านอาหารต้องมีความชัดเจนเรื่องนโยบายสีเขียว มีแนวปฏิบัติเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ด้วยวิธีการต่างๆ ชัดเจน ทำอะไรบ้าง ทุกคนจะได้เข้าใจ ทำได้ถูก รวมไปถึงเรื่องการประกอบธุรกิจให้เกิดรายได้พอเพียง เน้นการดำเนินการธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดโดยที่ธุรกิจยังดำเนินไปได้ มีกำไรเพียงพอ ไม่เอาเปรียบสังคม ลูกค้า เช่น อย่าขายอาหารแพงเกินเหตุ หรือใช้วัตถุดิบไม่ดี ใส่สารเคมีเยอะแยะ

อันดับที่ 4 ร้านอาหารต้องสร้าง “วัฒนธรรมสีเขียว” ขึ้นมา คือทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องหายใจเข้า หายใจออกเป็น “อากาศสีเขียว” มีใครบ้าง

หนึ่งคือ ชุมชน ชักชวนให้มีส่วนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม เช่น การช่วยกันเก็บขยะ การปลูกต้นไม้ การทำความสะอาดในชุมชน การร่วมงานบุญ การร่วมงานแข่งขันกีฬา งานสงกรานต์

สอง ลูกค้า ให้รับทราบถึงแนวปฏิบัติสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ป้ายประกาศ ในเมนูใบปลิว การสื่อสารของพนักงาน การใช้สื่อออนไลน์ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ลูกค้าในเรื่องการปฏิบัติของร้านอาหารสีเขียวว่ามีการปฏิบัติในแต่ละเรื่องอย่างไรบ้าง ยังต้องมีการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อลูกค้า แสดงราคาอาหารชัดเจน นำเสนออาหารที่มีคุณภาพเหมาะสมกับราคา รับฟัง ความคิดเห็นของลูกค้า และนำมาปรับปรุงแก้ไข เช่น การแสดงราคาอาหารชัดเจน การบริการอาหารที่มีคุณภาพ ปริมาณ เหมาะสมกับราคา การรับฟังความคิดเห็น การติชมของลูกค้าและนำมาปรับปรุงแก้ไข

สาม พนักงาน ร้านอาหารต้องสื่อสารให้พนักงานเข้าใจและปฏิบัติตามนโยบายของทางร้านในเรื่องแนวปฏิบัติต่างๆ เช่น การลดขยะเศษอาหาร การบริการลูกค้า การแปรรูปขยะ เพื่อให้เกิดพฤติกรรมสิ่งแวดล้อมของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติได้ถูกต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันตามแนวทางที่ร้านกำหนด

สี่ ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งคู่ค้า คนขายของ ประกาศให้เขารับรู้ความเป็นร้านอาหารสีเขียว แนวทางปฏิบัติ กำหนดว่าผักเกษตรอินทรีย์จากผู้ผลิตต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ขาย ผู้จัดจำหน่ายต้องคัดเลือกผักเกษตรอินทรีย์ที่ตรงกับความต้องการของร้านอาหาร ไม่นำผักที่มียาฆ่าแมลงปนเปื้อนมาปลอมปน กำหนดระยะทางขนส่งจากร้านขายให้มาที่ร้านอาหารใกล้ที่สุดเพื่อประหยัดพลังงาน การไม่บรรจุผักในห่อพลาสติก การหมุนเวียนภาชนะในการส่งวัตถุดิบ

ห้า ผู้ถือหุ้น ผู้ร่วมลงทุน หุ้นส่วน ต้องมีการปฏิบัติที่เป็นธรรม เช่น การชี้แจงบัญชี รับ จ่าย กำไร แก่ผู้ถือหุ้น การไม่ติดสินบน หรืออาจจะเรียกได้ว่า ธรรมาภิบาลของร้านอาหารสีเขียว

โดยรวมแนวปฏิบัติของร้านอาหารสีเขียวต่อทุกภาคส่วนในสังคมคือ ไม่เอาเปรียบ เป็นธรรม ชี้แจงให้เข้าใจแนวทางปฏิบัติ เชิญชวนให้ปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับหัวใจของการประกอบธุรกิจอาหารให้ราบรื่นนั่นเอง

ท่านที่สนใจศึกษางานวิจัยฉบับเต็มเข้าดูได้ที่ https://libdoc.dpu.ac.th/thesis%20preview/Yotpicha.Kac-Preview.pdf ครับ