5 เทคนิค “วางระบบธุรกิจยังไง ให้ขายแฟรนไชส์ได้” จาก Ozawa Ramen

5 เทคนิค “วางระบบธุรกิจยังไง ให้ขายแฟรนไชส์ได้” จาก Ozawa Ramen

หลายคนเปิดธุรกิจขึ้นมาจนประสบความสำเร็จมากมาย แต่อยากที่จะต่อยอดและทำให้ธุรกิจมีความเติบโตมากขึ้น จึงคิดเปิดแฟรนไชส์ขึ้นมา แต่ไม่ใช่ว่าแค่ธุรกิจดีแล้วจะเปิดแฟรนไชส์ได้เลยทันที ทั้งนี้ ต้องมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทีม ระบบ การตลาด 

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 คุณวิเชียร อินทร์ไกรดี เจ้าของ Ozawa Ramen ได้ขึ้นกล่าวบนเวทีหัวข้อ “วางระบบธุรกิจยังไง ให้ขายแฟรนไชส์ได้” ในงาน Restech – Restaurant Technology & Franchise 2023 โดยกล่าวถึงการวางระบบร้านไว้ดังนี้

มาตรฐานของประเทศไทยมีการวางระบบแฟรนไชส์ที่มีความคล้ายกับตะวันตก แต่ทางด้านของคุณวิเชียร มีการนำระบบแฟรนไชส์แบบญี่ปุ่นมาใช้ จึงทำให้มีความแตกต่างจากที่อื่นๆ 

การที่จะทำแฟรนไชส์ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น มันจะต้องเหมือนการ Copy แล้ววางได้เลย ทุกสาขาจะต้องเหมือนกัน ซึ่งการวางระบบแฟรนไชส์แบบญี่ปุ่นจะมีความละเอียดมาก 

การจะทำแฟรนไชส์ต้องคำนึงถึงความต้องการ มองเห็นถึงปัญหาและวิธีการแก้ ซึ่งจะต้องวางทั้งในเรื่องของ Operation, ครัวกลาง, โลจิสติกส์, คู่มือ มาตรฐาน, Training รวมไปถึงการวิเคราะห์ตลาด 

Operation 

ร้านอาหารส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาเข้ามา และปัญหาหลักๆ เลยคือ คน ดังนั้น จึงต้องจัดการและวางระบบให้ดี โดยคิดว่าต้องทำอย่างไรให้ใช้คนน้อยที่สุด และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และที่สำคัญ อย่าให้มีเชฟเทวดาเป็นอันขาด เพราะแค่เชฟไม่มาทำงานร้านก็เปิดไม่ได้ 

จึงต้องมีการวางระบบ โดยวางไว้ว่ามีพนักงาน 4 คน สามารถทำงานได้เหมือนกัน แม้จะขาดไปทุกคนก็สามารถดำเนินงานต่อได้

ครัวกลาง

สิ่งที่เป็นปัญหาอีกหนึ่งอย่างก็คือ ครัวกลาง เพราะถ้ามีแฟรนไชส์ 10 สาขา ยังสามารถใช้คนทำงานได้ แต่ถ้าเกินจากนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทั้งสถานที่จัดเก็บ การผลิต หรือแม้แต่การจัดส่ง

โลจิสติกส์

ต้องวางให้ชัดเจน สเกลของแต่ละพื้นที่เป็นแบบไหน อย่างในกรุงเทพฯ จะต้องวางสเกลไว้อีกแบบหนึ่ง ทั่วประเทศ ต้องวางไว้อีกแบบหนึ่ง และต้องทบทวนเพื่อให้สอดคล้องกับ Business Plan ของเราด้วย 

มาตรฐาน

ต้องมีมาตรฐาน คู่มือ Training ระบบ QC ให้ถูกต้องตามกำหนด ในระบบของการทำแฟรนไชส์ของญี่ปุ่นมีการทำไว้อย่างละเอียด โดยการใช้ระบบ QSC คือ

Q – Quality คุณภาพ

S – Service การบริการ

C – Cleanliness ความสะอาด

สำหรับคู่มือควรที่จะอัปเดตและอยู่หน้าร้านตลอดเวลา เพราะส่วนใหญ่แล้วเจ้าของไม่ได้เข้าร้านตลอดเวลา 

การตลาด

นอกจากจะขายแฟรนไชส์แล้ว เราควรจะวิเคราะห์การตลาดให้กับเขาด้วย โดยการทำ Brand seat, Brand concept, Business plan, ภาพเอกลักษณ์ ฯลฯ โดยจะต้องวางและคุยให้หมดตั้งแต่วันแรกก่อนที่เขาจะตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ของเรา

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการลดต้นทุนการตลาดให้กับเขาด้วย โดยอาศัยยานแม่ ไปกับแบรนด์อื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม การที่จะทำแฟรนไชส์ควรวางระบบให้ดี ไม่ขายแล้วทิ้ง เพราะเมื่อเกิดปัญหาเข้ามาทั้งเรื่องกฎหมาย เรื่องสัญญา ควรไตร่ตรองและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง และจะทำให้ธุรกิจของเราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างสวยงาม

ขอบคุณข้อมูลบางส่วน Torpenguin