“เส้น-ซุป-สำรับ-เซอร์วิส” ลบภาพจำข้าวซอยไทยเข้าถึงยาก สู่ความแตกต่างทะยานเวทีโลก

“เส้น-ซุป-สำรับ-เซอร์วิส” ลบภาพจำข้าวซอยไทยเข้าถึงยาก สู่ความแตกต่างทะยานเวทีโลก

หากจะพูดถึงร้านข้าวซอยสไตล์ญี่ปุ่น ต้องนึกถึง Khao-Sō-i ข้าวโซอิ ร้านข้าวซอยเจ้าดังในเชียงใหม่ ที่ต้องบอกว่าใครหลายๆ คนต้องยอมต่อคิวซื้อเลยทีเดียว

คุณวิน ศรีนวกุล Founder & Director ข้าวโซอิ (Khao-Sō-i) กล่าวบนเวที Restech Talk เจาะลึก จับเทรนด์ร้านอาหารปี 2024 ในหัวข้อ ถอดสูตรร้านดัง ทำยังไงให้ลูกค้ายอมต่อคิวรอ? เผยถึง 4 เทคนิคการสร้างความสมบูรณ์แบบในแบบฉบับของ Khao-Sō-i

คุณวิน ศรีนวกุล Founder & Director ข้าวโซอิ (Khao-Sō-i)
คุณวิน ศรีนวกุล Founder & Director ข้าวโซอิ (Khao-Sō-i)

เรื่องราวของคุณวิน ศรีนวกุล Founder & Director ข้าวโซอิ (Khao-Sō-i) มีความน่าสนใจไม่น้อย สามารถอ่านประวัติของเขาได้ที่นี่ คลิก 

เมื่อรู้แล้วว่า ประวัติของคุณวิน เป็นอย่างไร จะเห็นได้ว่า เขาเคยเป็นซูชิเชฟมาก่อน และด้วยที่ภรรยาอยากจะเปิดร้านข้าวซอย จึงช่วยกันคิด และหาวิธีการกันมาเรื่อยๆ 

เมื่อได้หาวิธีการต่างๆ ตกลงกันแล้ว จากนั้นเขาจึงลองปรับเปลี่ยนมุมมอง โดยตั้งคำถามใหม่ว่า ร้านอาหารอะไรในเชียงใหม่ที่คนต่อคิว สรุปร้านที่คนต่อคิวจะเป็นในส่วนของ ร้านข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่น ร้านราเมน ร้านซูชิ จึงเกิดเป็นไอเดียเล็กๆ ว่า สไตล์ญี่ปุ่นยังคงมาแรง แล้วด้วยที่มีพื้นฐานของการเป็นซูชิเชฟอยู่แล้ว จึงได้นำทั้ง 2 สิ่งนี้มาประสานกัน จึงเกิดเป็นข้าวซอยเชียงใหม่ แต่บรรยากาศและรสชาติสไตล์ญี่ปุ่น จึงเป็นที่มาของ ข้าวโซอิ

Khao-Sō-i
ภาพจาก Khao-Sō-i

หากมองถึงความแตกต่างระหว่างร้านข้าวซอยของคุณวินและร้านอื่นๆ เขาบอกว่า กลุ่มลูกค้าชัดมาก เพราะได้ไปยืนดูว่าร้านที่คนต่อคิวในเชียงใหม่คือร้านอะไร และใครเป็นคนที่ไปต่อคิว และก็ได้คำตอบมาว่าคือ กลุ่มวัยรุ่น ด้วยมีความต้องการให้ร้านของเขามีคนมาต่อคิว เลยมองดูว่ารสชาติของกลุ่มวัยรุ่นเป็นประมาณไหน เลยนำมาปรับใช้ในร้าน และทำให้ร้านอาหารมีความเป็นตัวเองเข้าไปมากขึ้น

เมื่อมีการปรับเปลี่ยนมุมมองแล้ว จึงเกิดเป็น 4 เทคนิคที่จะทำให้เพิ่มมูลค่าของข้าวซอย และลูกค้ายอมจ่าย

1. สร้างการจดจำแบรนด์

เป็นการสร้างการจดจำตั้งแต่ราคาอาหารญี่ปุ่นไปจนถึงการตั้งชื่อร้าน และให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียด เพื่อให้คนที่มากินนึกถึงความเป็นญี่ปุ่นได้ดี

2. พิถีพิถันในการสร้างบรรยากาศภายในร้านให้ลูกค้ารู้สึกดี

สิ่งนี้ถือเป็นจุดสำคัญ เพราะเมื่อลูกค้ารู้สึกดี ก็จะรู้สึกคุ้มค่าที่จะจ่าย แม้แต่ถ้วยที่ใช้ในร้าน ก็ต้องมอบความรู้สึกโฮมเมด และความใส่ใจกับลูกค้ามากที่สุด

3. ร้านมีจุดยืนในการส่งข้าวซอยไปสู่ระดับโลก 

ทำให้ได้รับแรงสนับสนุนจากคนในสังคมที่อยากส่งเสริมเมนูข้าวซอยเหมือนกัน

เส้น-ซุป-สำรับ-เซอร์วิส ลบภาพจำข้าวซอยเข้าถึงยาก สู่ความแตกต่าง

4. สร้างความแตกต่างที่ตัวสินค้า 

ไม่ว่าจะเป็นการ แก้ Pain Point ของข้าวซอยที่มีภาพจำว่ากินยาก ทางร้านเลยมีการปรับเปลี่ยนพัฒนาจนเป็น 4 ความแตกต่างจากร้านอื่น ดังนี้

1. เส้น 

เดิมทีข้าวซอยมีเส้นที่แบนๆ เวลากินแล้วมักจะสะบัดเลอะเสื้อ ทางร้านเลยมีการปรับเปลี่ยน เป็นเส้นสดทำเอง ไม่ได้มีความลื่น แต่จะเป็นหยิกๆ ทำให้กินง่ายขึ้น

2. ซุป

ทางร้านได้มองเห็นว่า วัยรุ่นยุคใหม่ชอบความเข้มข้น จึงพัฒนานำซุปให้มีความเป็นซอสมากกว่าซุป เพิ่มความเข้มข้นและตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่

3. สำรับ

จะเป็นการเสิร์ฟเป็นเซต เพราะทุกอย่างที่ทำมีการตั้งเป้าหมายไว้แต่เดิมแล้วว่า อยากให้ข้าวซอยไทยไปเวทีโลก จึงพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย ปรับภาพลักษณ์ของข้าวซอยให้ดูโมเดิร์นและมีความเป็นญี่ปุ่น

4. เซอร์วิส

เซอร์วิสของทางร้าน มีความเป็น Full Service มีพนักงานที่ให้บริการทุกขั้นตอน เพราะฉะนั้น ราคาที่สูงขึ้นก็มาจากการบริการที่ดีขึ้น 

ดังนั้น ทั้ง 4 ความแตกต่างที่ข้าวโซอิมี ทำให้ลูกค้ายอมรับและพร้อมที่จะจ่ายถึงแม้จะมีราคาที่แพงกว่าข้าวซอยทั่วๆ ไป  

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างความฝันของตนเองให้สำเร็จได้ อย่างที่คุณวิน ศรีนวกุล Founder & Director ข้าวโซอิ (Khao-Sō-i) ฝากไว้ถึงผู้ประกอบการทุกคนว่า

“ผมไม่ได้เก่งเรื่องธุรกิจตั้งแต่เด็ก แต่มีความตั้งใจ และความขยัน จนวันนี้ผมรู้แล้วว่า Key Success ที่สร้างมามันเป็นเรื่องของ ทักษะ และทักษะเป็นเรื่องสำคัญมาก”