เรื่องน่าเศร้าที่ผู้สร้างสรรค์งานควรระวัง ถูกละเมิดผลงาน เพื่อการค้ากว่า 3 ปี ส่งขายจีน ทั้งผ้าห่ม เสื้อยืด เคสโทรศัพท์

เรื่องน่าเศร้าที่ผู้สร้างสรรค์งานควรระวัง ถูกละเมิดผลงาน เพื่อการค้ากว่า 3 ปี ส่งขายจีน ทั้งผ้าห่ม เสื้อยืด เคสโทรศัพท์

ลองคิดดูว่าถ้าเรามีไอเดียอะไรสักอย่างเพื่อส่งต่อให้สังคมโดยไม่หวังผลประโยชน์ และได้สร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอดผลงานนั้นให้กับผู้คน มันเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง แต่กลับกันกับเรื่องนี้ที่กลายเป็นการนำผลงานของเราไปสร้างรายได้แทน

จากกระแสละเมิดลิขสิทธิ์ใน TikTok กับเจ้าของบัญชี elledalad ประเด็นถูกนำภาพวาดที่แจกฟรีไปทำสินค้าขายในจีนและไทย ทั้ง ผ้าห่ม เสื้อ เคสโทรศัพท์ ฯลฯ ทำให้เจ้าตัวต้องออกมาแบ่งปันเรื่องราวดังกล่าว และมีผู้ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าสิ่งเหล่านี้คือเริ่มผิด

การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่สังคมไทยยังไม่ตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้มากนัก และตัวกฎหมายเองก็ไม่ได้เกื้อหนุนให้ผู้ถูกละเมิดได้รับความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ยังมีงานศิลปะ สินค้าจำนวนมากที่ถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต 

วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จะมาเล่าถึงเรื่องลิขสิทธิ์ที่คนเริ่มต้นสร้างงานต้องพึงระวัง

ลิขสิทธิ์คืออะไร

ลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มโดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถ และความวิริยอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น โดยงานที่สร้างสรรค์ต้องเป็นงานตามประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน

ประเภทของงานที่มีลิขสิทธิ์

กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองแก่งานสร้างสรรค์ 9 ประเภทตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่

1. งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ คำปราศรัย โปรแกรมคอมพิวเตอร์

2. งานนาฏกรรม เช่น งานที่เกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว รวมถึงการแสดงโดยวิธีใบ้ด้วย

3. งานศิลปกรรม เช่น งานจิตรกรรม งานประติมากรรม ภาพพิมพ์ งานสถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพประกอบ หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติเกี่ยวกับภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์ งานศิลปะประยุกต์ ซึ่งรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย

4. งานดนตรีกรรม เช่น คำร้อง ทำนอง การเรียบเรียงเสียงประสานรวมถึงโน้ตเพลงที่แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว

5. งานสิ่งบันทึกเสียง เช่น เทปเพลง แผ่นคอมแพ็กดิสก์ (ซีดี) ที่บันทึกข้อมูลเสียง ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์ หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น

6. งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วิดีโอเทป วีซีดี ดีวีดี แผ่นเลเซอร์ดิสก์ที่บันทึกข้อมูลประกอบด้วยลำดับของภาพหรือภาพและเสียงอันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก

7. งานภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์ รวมทั้งเสียงประกอบของภาพยนตร์นั้นด้วย (ถ้ามี)

8. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น การกระจายเสียงวิทยุ การแพร่เสียง หรือภาพทางโทรทัศน์

9. งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

อ่านเพิ่มเติมที่ https://tuipi.tu.ac.th/tuip04.php

จากข้อมูลดังกล่าว ไม่ว่าการรังสรรค์งานประเภทไหนก็ควรได้รับการเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างไร้ข้อกังขา แต่อื่นใด เมื่อผลงานไปไกลถึงต่างประเทศอย่างเคสตัวอย่างใน TikTok อาจทำให้การดำเนินการไม่สมบูรณ์

ทั้งนี้ หากต้องการเผยแพร่อะไรในที่สาธารณะ ควรระมัดระวัง ตรวจสอบให้คำอธิบาย และป้องกันการนำผลงานไปใช้ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาต