ไขข้อสงสัย เรียกอะไรกันแน่ ‘แกงราดข้าว’ หรือ ‘ข้าวราดแกง’

ไขข้อสงสัย เรียกอะไรกันแน่ ‘แกงราดข้าว’ หรือ ‘ข้าวราดแกง’

 

“ไป ‘ร้านข้าวแกง’ ฝากเอาอะไรไหม”

“ต้องพูดว่า ‘ข้าวราดแกง’ สิ”

“ที่ทั้งสองคนพูดมาจริงๆ ต้องเป็น ‘แกงราดข้าว’ นะ”

“แค่นี้ก็เถียงกันเนอะ คนเรา”

“กรี๊ดสิครับ กรี๊ดนะ กรี๊ดเลย” ไม่ไกลเกินเอื้อมกับการเอาประโยคข้างต้นมาเป็นมีมในข้อถกเถียงระหว่าง ”ข้าวราดแกง” กับ “แกงราดข้าว” ไหนจะบอกว่า “ข้าวแกง” เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

หลายคนเข้าใจผิดเกินไปกับรูปประโยคของคำ ต่างสับสนว่าตกลงเราจะต้องเรียกอะไรกันแน่ วันนี้เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จะมาเฉลยข้อสงสัยนั้นไปด้วยกัน

 

นิยามของข้าวแกง

ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2554 ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า

แกง น. กับข้าวประเภทที่เป็นนํ้า มีชื่อต่างๆ ตามวิธีปรุงและเครื่องปรุง เช่น แกงจืด แกงเผ็ด แกงส้ม. (ดูที่คำนั้นๆ). ก. ทำกับข้าวประเภทที่เป็นแกง.

ราด ก. เทของเหลวๆ เช่นนํ้าให้กระจายแผ่ไปหรือให้เรี่ยรายไปทั่ว เช่น ราดนํ้า ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ข้าวราดแกง, โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น เยี่ยวราด ขี้ราด.

ข้าวแกง น. อาหารที่ขายมีข้าวกับแกงเป็นต้น, เรียกร้านอาหารประเภทนี้ ว่า ร้านข้าวแกง.

จากคำอธิบายของราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2554 นั้น ดูเหมือนคำตอบที่ชัดเจนจะมีอยู่ 2 ข้อหลักๆ นั่นคือ ข้าวแกง และ ข้าวราดแกง แล้วแกงราดข้าวมาจากไหน

 

ข้าวแกงกับวัฒนธรรมการกิน

ข้าวแกง ปรากฏหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า “ร้านชำหุงข้าวแกงขายคนราชการ” โดยจะตั้งอยู่บริเวณวัง คนที่กินส่วนใหญ่จะเป็นเหล่าข้าราชการ 

ไม่เพียงแค่นั้น ส.พลายน้อย ได้กล่าวถึง ข้าวแกง ในหนังสือกระยานิยาย ว่าสมัยรัชกาลที่ 5 มีการขายข้าวแกงอย่างแพร่หลาย และไม่ได้ตักแกงมาราดใส่ข้าว หากแต่เป็นการใส่จานชามบนโต๊ะไม้

โดยสำรับโต๊ะไม้ราคา 1 สลึงมีแกง 1 ถ้วย ผัด 1 จาน น้ำพริก 1 ถ้วย ผัก 1 จาน ปลาย่าง 1 จาน หากจ่ายเพิ่มอีก 1 สลึง ได้แกงเผ็ด แกงจืดเพิ่ม 

อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมการกินข้าวแกงนี้คงอยู่ในช่วงหนึ่งของความทรงจำผู้เขียนว่าตอนเด็กๆ เวลาไปร้านข้าวแกงส่วนใหญ่จะตักเสิร์ฟด้วย ข้าว 1 จาน พร้อมกับแกง 1 ถ้วยเล็ก 

ต่อเมื่อโตขึ้น ความรีบเร่งของเวลาเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิต จากเดิมข้าวจานแกงถ้วย ก็กลายเป็นข้าวแกง 1 จานแทน พร้อมกับการมาของคำว่า ราด เพื่อประหยัดเวลาในการตักเสิร์ฟ รวมถึงความเร็วในการกิน

 

แกงราดข้าวกับรูปโยคทางภาษา

ถึงกระนั้นคำว่า ข้าวราดแกง ยังคงเป็นคำที่ใช้ได้ดีเท่าๆ กับ ข้าวแกง โดยไม่มีข้อกังขาใดๆ แต่ก็ยังมีคนส่วนใหญ่ เรียก แกงราดข้าว มากกว่า ข้าวราดแกง และ ข้าวแกง

สิ่งที่ทำให้ผู้คนยังติดเรียกแกงราดข้าวคงเป็นเพราะเห็น แกง ก่อน ข้าว อีกทั้งคำก็ตรงตัวในสิ่งที่เห็นจริงๆ

แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธสิ่งนั้นได้เลยว่ามันถูกอย่างที่เขาเห็น แต่ถ้าให้อธิบายอีกหนคงต้องกลับไปที่ประเด็นก่อนหน้า แล้วอธิบายให้ยาวขึ้น 

ไม่เพียงแค่ แกงราดข้าว จะถูกเรียกตามสิ่งที่เห็น ในแง่ของโครงสร้างภาษาก็บิดพลิ้วและไปอย่างน่าอัศจรรย์

เดิมเราต่างก็รู้ดีว่าโครงสร้างทางภาษาไทยคือ ประธาน + กริยา + กรรม ซึ่งในส่วนของคำว่า ข้าวราดแกง จะประกอบไปด้วย “ข้าว (คำนาม) + ราดแกง (กริยาวลี)” 

หากกลับมามองที่ แกง ซึ่งเป็นคำนาม ก็สามารถเป็นส่วนขยายของกริยาวลีของคำว่า ราด ได้ แต่อื่นใดเราต้องกลับไปมองที่คำหลักระหว่าง แกงราดข้าว และข้าวราดแกง ว่าแท้จริงแล้วคือคำไหน

ไม่ยาก นั่นคือ ข้าว

สุดท้าย หากถามว่าจะเรียก แกงราดข้าว ได้หรือไม่คงต้องพูดตรงๆ ว่า ได้ เรียกได้ไม่มีผิด เพียงแต่คนฟังอาจจะกรี๊ดออกมาโดยที่เราไม่ได้ตั้งตัว 

 

รู้หรือไม่

แกง มีความหมายสแลงว่า แกล้ง

ซึ่งจุดเริ่มต้นนี้มาจากเหล่าพี่กะเทย